บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของ บมจ. ทิปโก้แอสฟัลท์ (TASCO) ที่ระดับ 'A-(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ 'F2(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต ประกอบด้วย ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการเงินของ TASCO จะยังคงแข็งแกร่ง จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สม่ำเสมอและอัตราส่วนหนี้สินที่น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำในอีกสามปีข้างหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป อัตราส่วนหนี้สิน ณ ปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำ โดยวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ที่ระดับ 0.6 เท่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ส่งผลให้ความสามารถในการรองรับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในอนาคตโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิต (Rating Headroom) ของบริษัทฯ อยู่ในระดับที่สูง ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (CFO) ของ TASCO จะอยู่ที่ประมาณ 1.5 – 2.5 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับรองรับค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเงินลงทุนตามที่บริษัทฯ วางแผนไว้
ตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่ง อันดับเครดิตของ TASCO ได้รับการสนับสนุนจากตำแหน่งผู้นำทางการตลาดในธุรกิจยางมะตอยของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ประมาณร้อยละ 40 นอกจากนี้ ในตลาดต่างประเทศ บริษัทฯ ยังมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม ด้วยส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 30 ในทั้งสองประเทศ การที่บริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายครอบคลุมสินค้าทั่วไปและสินค้าคุณภาพสูง มีขีดความสามารถสูงในการขนส่งและกระจายสินค้า โดยเป็นเจ้าของเรือบรรทุกสินค้าจำนวน 9 ลำ และรถบรรทุกอีกกว่า 300 คัน และมีความชำนาญการในด้านการก่อสร้างและซ่อมแซมถนน น่าจะส่งผลให้ TASCO สามารถรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจได้ต่อไปในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า
การกระจายความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์ TASCO มีโรงงานผลิตมากกว่า 40 แห่ง ตั้งอยู่ใน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงโรงกลั่นยางมะตอยในประเทศมาเลเซียด้วย ยอดขายของ TASCO ในช่วง 12 เดือนล่าสุดนับจากสิ้นเดือนมิถุนายน 2560 ประมาณร้อยละ 70 เป็นยอดขายสินค้าในตลาดต่างประเทศ โดยประเทศหลักประกอบด้วย อินโดนีเซีย จีน มาเลเซีย เวียดนาม และ ออสเตรเลีย นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังได้ขยายธุรกิจในแถบมาเลเซียตะวันออกและลาว ผ่านกิจการร่วมค้า ฟิทช์เชื่อว่าการกระจายตัวของรายได้ในหลากหลายประเทศจะช่วยให้กระแสเงินสดของบริษัทฯ มีความสม่ำเสมอมากขึ้น เช่น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 อุปสงค์ที่เติบโตในประเทศเวียดนามและอินเดียมีส่วนช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากอุปสงค์ที่ลดลงในหลายตลาด รวมถึงตลาดไทย ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของปริมาณการขายในปี 2559
อัตราส่วนกำไรที่ลดลง ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรขั้นต้นของ TASCO จะลดลงจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังคงคาดว่าบริษัทฯ จะมีอัตราส่วนกำไรที่ดี ที่ประมาณร้อยละ 12 - 14 ในปี 2560 - 2561 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 16 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 และร้อยละ 17 ในปี 2559 โดยมีพื้นฐานจากการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าราคาน้ำมันดิบไม่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นไปถึงระดับ 80 -100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับช่วงก่อนปี 2558
ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน TASCO ต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาวัตถุดิบ ซึ่งได้แก่น้ำมันดิบเป็นหลัก แม้ว่าราคาผลิตภัณฑ์ยางมะตอยจะมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นไม่มากนัก นอกจากนี้ระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งน้ำมันดิบจากอเมริกาใต้ไปยังโรงกลั่นในประเทศมาเลเซียยังทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างราคาสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ออกจากโรงกลั่นกับราคาน้ำมันดิบ ณ เวลาที่ซื้อ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯได้ใช้เครื่องมือทางการเงินในการประกันความเสี่ยงเพื่อบรรเทาความเสี่ยงดังกล่าว โดยการเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อรักษาอัตราส่วนกำไรให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ในระดับหนึ่ง
TASCO มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่าบริษัทอื่นที่ฟิทช์ทำการจัดอันดับในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) , อันดับเครดิต A(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นบวก) และ บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC), อันดับเครดิต A(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR margin) ที่ต่ำกว่า
นอกจากนี้ธุรกิจปูนซีเมนต์ยังช่วยให้ SCC และ SCCC มีรายได้และกำไรสม่ำเสมอกว่า และตลาดปูนซีเมนต์ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่กว้างขวางกว่าเมื่อเทียบกับธุรกิจยางมะตอยของ TASCO แม้ว่า SCC จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีความผันผวนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ แต่ SCC มีสถานะทางธุรกิจและการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจที่ดีกว่า TASCO ด้วยสถานะทางธุรกิจที่ดีกว่าส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทั้งสองรายมีอันดับเครดิตที่สูงกว่า TASCO
เมื่อเปรียบเทียบ TASCO กับผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ได้แก่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) อันดับเครดิต A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) TASCO มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า IRPC อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของ TASCO มีเสถียรภาพมากกว่าและสร้างอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า ประกอบกับอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า ซึ่งทำให้อันดับเครดิตของ TASCO อยู่สูงกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ IRPC ที่ BBB+(tha) อันดับเครดิตระยะยาวของ IRPC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับ เพื่อสะท้อนถึงความเชื่อมโยงกับบริษัทแม่ ได้แก่ บมจ. ปตท (PTT) (อันดับเครดิต AAA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)
สำหรับสมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางมะตอยค่อนข้างคงที่ในปี 2560 และเติบโตประมาณร้อยละ 10 ในปี 2561 (2559: เติบโตร้อยละ 2.7)
- รายได้เติบโตสูงกว่าร้อยละ 20% ในปี 2560 จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และเติบโตลดลงเหลือประมาณร้อยละ 5 ในปี2561 (2559: ลดลงร้อยละ 35)
- อัตราส่วนกำไรขั้นต้นลดลงอยู่ในระดับร้อยละ 12 - 14 ในปี 2560 – 2561
- อัตราการจ่ายเงินปันผลที่ร้อยละ 50 - 60 ของกำไรสุทธิ ในปี 2560-2561
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเงินลงทุนอยู่ที่ระดับประมาณ 1 - 1.5 พันล้านบาทต่อปี ในปี 2560 – 2561
ส่วนปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของขนาดธุรกิจและการกระจายตัวของแหล่งรายได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยที่อัตราส่วนหนี้สินฯ ซึ่งวัดโดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2.0 เท่า
สำหรับปัจจัยลบ ได้แก่ อัตราส่วนหนี้สินฯ ที่สูงกว่า 4.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการลงทุนที่สูงขึ้นโดยมีแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม, หรือส่วนต่างราคาขายและวัตถุดิบของอุตสาหกรรมที่ต่ำอย่างมีนัยสำคัญ
ด้านสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ดี TASCO มีหนี้สินจำนวน 2.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 โดยหนี้สินจำนวน 2.2 พันล้านบาทเป็นหนี้ที่จะครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นของธนาคาร เพื่อสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ สภาพคล่องของ TASCO ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากเงินสดในมือจำนวน 904 ล้านบาทและความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคาร ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 TASCO มีวงเงินสินเชื่อแบบ uncommitted ที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 4.31 หมื่นล้านบาท จากสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ