ธนาคารกรุงเทพ (BBL) รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/60 จำนวน 8,161 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 16,825 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% เทียบกับไตรมาส 3/59 และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.30% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 11,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.0% สาเหตุหลักจากกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ โดยส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมจากบริการกองทุนรวมและบริการประกันผ่านธนาคาร และค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ
สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานมีจำนวน 11,939 ล้านบาท ลดลง 1.3% ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 41.9%
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 1,938,619 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับ ณ สิ้นปี 2559 สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพคิดเป็น 3.8% ของเงินให้สินเชื่อรวม อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิดและรักษาระดับเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารอยู่ที่ 135,840 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.0% ของเงินให้สินเชื่อ
ด้านเงินกองทุน ในเดือนกันยายน 2560 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศเรื่อง แนวทางการระบุและกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบ (Domestic Systemically Important Banks: D-SIBs) โดยกำหนดให้ธนาคารในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบต้องดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหาย (Higher loss absorbency) โดยให้ทยอยดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มอีก 0.5% ในแต่ละปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 จนอัตราส่วนเพิ่มเป็น 1.0% ในวันที่ 1 มกราคม 2563
สำหรับธนาคารหากนับกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 3/60 รวมเข้าเป็นเงินกองทุนแล้ว อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยจะอยู่ในระดับประมาณ 19.1% 17.3% และ 17.3% ตามลำดับ ทั้งนี้ เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่สามารถรองรับการดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มตาม D-SIBs เรียบร้อยแล้ว สำหรับส่วนของเจ้าของ ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 มีจำนวน 393,019 ล้านบาท คิดเป็น 12.8% ของสินทรัพย์รวม และมูลค่าตามบัญชีเท่ากับ 205.89 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 7.34 บาท จากสิ้นปี 59
"เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ธนาคารจึงยังคงยึดหลักการบริหารฐานะการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง พร้อมทั้งรักษาสภาพคล่องและเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่สามารถรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตและความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ธนาคารมีเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน" เอกสารระบุ