นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/60 จะอยู่ในระดับที่ดี โดยคาดว่ามีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ซึ่งไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน อยู่ที่ระดับ 10.2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากระดับ 8.3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 2/60 ส่วนใหญ่เป็นผลจากธุรกิจโรงกลั่นที่ดีโดยมีค่าการกลั่น (GRM) ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน อยู่ที่ระดับ 8.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากระดับ 6.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 2/60 ขณะที่ส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี หลังโรงงานพาราไซลีน (PX) ของอินเดียที่เพิ่งเปิดดำเนินงานในระยะที่ 2 ยังเดินเครื่องไม่ได้เต็มที่มากนัก
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบสิ้นไตรมาส 3/60 ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยของเดือน ก.ย.อยู่ที่ 53.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าราคาปิดสิ้นไตรมาส 2/60 ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยของเดือน มิ.ย.ที่ 46.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้คาดว่าไตรมาส 3/60 จะมีกำไรจากสต็อกน้ำมันกว่า 2 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/60 ที่มีขาดทุนจากสต็อกน้ำมันราว 2 พันล้านบาท ขณะที่การใช้กำลังการกลั่นใกล้เคียงกับในไตรมาส 2/60 ที่อยู่ระดับ 112% และการใช้กำลังการผลิตของโรงงานอะโรเมติกส์ อยู่ในระดับ 80% ใกล้เคียงกับไตรมาส 2/60
"ดูจาก operating rate แล้ว เครื่องยนต์วิ่งได้ไม่มีปัญหา พอมาดูสเปรดในไตรมาส 3 ตัว market GIM ของ Q3 ประมาณ 10.2 ส่วน market GRM ประมาณ 8.1 ผลการดำเนินงานดีทั้งคู่ โรงกลั่นอยู่ในเกณฑ์ที่ดีดูจาก GRM ส่วน GIM ก็ 10.2 เพิ่มขึ้นมาประมาณ 2 เหรียญ contribution เข้ามา ตัวเบนซีน ,พาราไซลีน ยังมีสเปรดในเกณฑ์ที่ดี สาเหตุจาก demand ยัง strong และ plant ที่คาดว่าจะขึ้นมา ก็ run ไม่ได้เต็มที่ อย่างเช่น รีไลแอนซ์ เฟส 2 ของอินเดียที่ผลิตพาราไซลีน 1.45 ล้านตัน ก็ขึ้นมาในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ก็จะเดินเครื่องจักรเต็มที่ ไตรมาส 3 ยังไม่ได้ผลตรงนี้เต็มที่ทำให้สเปรดยัง strong อยู่"นายอธิคม กล่าว
นายอธิคม กล่าวอีกว่า สำหรับไตรมาส 4/60 คาดว่าธุรกิจอะโรเมติกส์จะเริ่มเห็นแรงกดดันด้านราคาหลังโรงงานพาราไซลีนของรีไลแอนซ์ที่น่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้เต็มที่ เริ่มสังเกตได้จากสเปรดผลิตภัณฑ์พาราไซลีนในไตรมาส 3/60 อ่อนตัวลงมาเล็กน้อยที่ 270 เหรียญสหรัฐ/ตัน จาก 273 เหรียญสหรัฐ/ตันในไตรมาส 2/60 และสเปรดผลิตภัณฑ์เบนซีนอยู่ที่ราว 200 เหรียญสหรัฐ/ตัน จาก 225 เหรียญสหรัฐ/ตันในไตรมาส 2/60 ขณะที่ความต้องการใช้ยังเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่อยู่ราว 1 เท่า แต่อย่างไรก็ตาม การอัตราการเพิ่มขึ้นก็ยังน้อยกว่าปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น แม้โรงงาน PTA ในไต้หวันขนาด 1.5 ล้านตัน/ปีจะเปิดดำเนินการในเดือน พ.ย.60 ซึ่งจะช่วยหนุนให้มีการใช้พาราไซลีนเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิต PTA มากขึ้นก็ตาม
ด้านโรงกลั่นน้ำมันนั้นในไตรมาส 4 นับเป็นไตรมาสที่ดีของธุรกิจโรงกลั่น เพราะเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวและฤดูหนาว ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้น ประกอบกับ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ก็ยังคงรักษาระดับการลดการผลิตน้ำมัน ขณะที่ยังต้องจับตาการประชุมโอเปกในเดือน พ.ย.ที่จะพิจารณาเรื่องการคงอัตราการผลิตน้ำมันในระดับปัจจุบันหรือไม่หลังจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค.61 รวมถึงปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐ และการผลิตน้ำมันของไนจีเรีย และลิเบีย ที่มีโอกาสจะปรับเพิ่มขึ้นได้ ตลอดจนการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (shail oil) ก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อราคาน้ำมัน แต่เบื้องต้นมองว่าราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 4/60 น่าจะอยู๋ในระดับกว่า 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลได้
การเติบโตของความต้องการใช้และกำลังการผลิตใหม่ที่เข้าสู่ตลาดจะเริ่มมีส่วนต่างมากขึ้น หลังจากที่การเพิ่มขึ้นของกำลังการกลั่นขนาดใหญ่ในตะวันออกกลางและจีนได้ผ่านจุดสูงสุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้ว หลังจากนั้นการเพิ่มขึ้นของโรงกลั่นน้ำมันมีน้อยมาก ขณะที่ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นตั้งแต่ปีที่แล้วและคาดว่าจะยังคงต่อเนื่องไปอีก 2 ปีข้างหน้า
"การเจริญเติบโตของโรงกลั่นน้ำมัน capacity ใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง และจีน มีจุด peak เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นการเพิ่มขึ้นของโรงกลั่นน้ำมันน้อยมาก แต่ในทางกลับกันราคาน้ำมันที่ต่ำทำให้ demamd เพิ่มขึ้น จะเป็นลักษณะสภาพแบบนี้ ปีที่แล้วก็เป็น ปีนี้ก็เป็นหนักกว่าปีที่แล้ว จะอยู่ในเกณฑ์อีก 2 ปีข้างหน้าและเราก็ไม่คิดว่า EV จะเข้ามาใน 2 ปีข้างหน้าก็จะเป็นปีที่เรา enjoy อยู่ เราคิดว่า GRM จะยืนสูงไปได้อีก 2 ปี...GRM ที่เราเห็นในปี 59 อยู่ที่ 6.1 ถ้าถามไทยออยล์ เรามี cash cost อยู่ที่ 1.9 เหรียญ/บาร์เรล อะไรที่สูงกว่านี้ก็แปลว่าส่วนต่างเหล่านี้เป็นกำไร"นายอธิคม กล่าว
นายอธิคม กล่าวอีกว่า ราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวในระดับราว 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลนับเป็นระดับที่ดี เพราะทำให้ความต้องการใช้เติบโต ซึ่งในด้านของผู้ประกอบการโรงกลั่นก็จะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ทั้งในส่วนของต้นทุนน้ำมันดิบที่เข้าสู่โรงกลั่น รวมถึงต้นทุนการสำรองน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปตามกฎหมายที่ปัจจุบันบริษัทมีการสำรองเฉลี่ยราว 8-10 ล้านบาร์เรล ขณะที่มาร์จิ้นก็ดีขึ้นจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น โดยความต้องการใช้น้ำมันของไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้โตมากกว่า 3% โดยน้ำมันเครื่องบิน นับว่ามีอัตราเติบโตโดดเด่นถึง 4.4% รองลงมาเป็นน้ำมันเบนซิน เติบโต 3.7-3.8% และดีเซล เติบโตราว 2% จากราคาน้ำมันที่อยู่ระดับต่ำและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานจะทำระดับสูงสุดใหม่ จากปีที่แล้วที่มีกำไรจากการดำเนินงาน 1.38 หมื่นล้านบาท โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้สามารถทำได้แล้ว 9.4 พันล้านบาท ขณะที่กำไรจากสต็อกน้ำมันในปีนี้คาดว่าจะไม่มากเหมือนในปีก่อนที่สูงถึง 7.18 พันล้านบาท ซึ่งผลักดันให้กำไรสุทธิทั้งปี 59 อยู่ที่ระดับ 2.12 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบล่าสุดอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับปิดที่ 52.1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในสิ้นปี 59
"ปีหน้าก็จะเป็นปีที่ดีอีกปีของไทยออยล์ ถึงรีไลแอนซ์ขึ้นมาก็เชื่อว่าจะกระทบไม่มาก เพราะเขามีวิธีบริหารจัดการดี และยังรับรู้ผลการดำเนินงานต่อเนื่องจากโครงการที่เราเดินเครื่องได้เต็มปีในปีนี้ ทั้งโรงไฟฟ้า 2 โรง และ LAB ส่วนปี 61 เราไม่มีโครงการใหม่ ๆ จะเป็นเรื่องของสเปรดล้วน ๆ คิดว่าคง soft ลงบ้าง แต่ไม่ร่วงลงแรง demand ที่โตแบบนี้ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศฟื้นหมด อเมริกายุโรป อังกฤษ จีดีพีเป็นบวก ส่วนไทยปีหน้าก็น่าจะดี เพราะมีเลือกตั้ง ภาพรวมโอเค"นายอธิคม กล่าว