DTAC รับกำไรถูกกดดันจาก Regulatory Cost ใน Q4/60-Q3/61 และค่าเสื่อมฯ,เร่งขยาย Postpaid ดันรายได้โต

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 25, 2017 10:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวิต แสงอุดมเลิศ ผู้อำนวยการสายงานนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เปิดเผยว่า บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายสิทธิในการใช้งานอุปกรณ์ภายใต้สัญญาสัมปทาน (Regulatory Cost) จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะต้องทยอยบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในอีก 4 ไตรมาส คือไตรมาส 4/60, ไตรมาส 1/61, ไตรมาส 2/61 และ ไตรมาส 3/61 ก่อนที่สัญญาสัมปทานใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz จะหมดอายุในเดือน ก.ย.61 หรือประมาณไตรมาสละ 4 พันล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่บริษัทลงทุนโครงข่ายบนคลื่นความถี่ 2100 MHz ที่บริษัทได้ลงทุนในปีนี้ซึ่งโครงข่ายได้ครอบคลุม 94% โดยคาดว่าปีนี้จะใช้เงินลงทุน 1.7 หมื่นล้านบาท จากกรอบเงินลงทุนที่ 1.7-2.0 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันใช้เงินไปแล้ว 1.2 หมื่นล้านบาท

"ถ้า Regulatory Cost หมดแล้ว เชื่อว่ากำไรจะดีขึ้น ปีหน้าอาจจะดีขึ้น พอเปลี่ยนจากสัญญาสัมปทานที่จ่ายเป็นส่วนแบ่งรายได้ จะเปลี่ยนมาเป็นค่าเช่า Network จาก กสท.และก็มีค่าใช้จ่ายโครงข่าย (ใบอนุญาต)"นายชวิต กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

อย่างไรก็ดี Regulatory Cost ในปัจจุบันได้ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากแต่ก่อนมีสัดส่วน 31-32% ของรายได้ แต่ปรับลดลงมีสัดส่วน 13.6%ของรายได้ในปีนี้ โดยบริษัทเปลี่ยนมาจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 2100 MHz มากขึ้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราว 4-5% ของรายได้

สำหรับคลื่นความถี่ นายชวิต กล่าวว่า ปัจจุบัน DTAC ไม่ได้เสียเปรียบคู่แข่ง ตอนนี้ยังมีสัญญาใช้ได้ถึงเดือน ก.ย.61 แต่หลังจากนั้น ยังมีความไม่แน่นอนในการถือครองคลื่นความถี่ หลังหมดสัญญาสัมปทาน ทั้งนี้ ปัจจุบัน DTAC มีสัญญาสัมปทานกับ บมจ.กสท.โทรคมนาคม (CAT) ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 45 MHz โดยสิ้นสุดสัญญาเดือน ก.ย.61

ผู้อำนวยการสายงานนักลงทุนสัมพันธ์ DTAC กล่าวว่า ปัจจุบัน DTAC มีเงินสดในมือแล้วราว 2.5 หมื่นล้านบาทเพื่อเตรียมพร้อมเข้าประมูลคลื่นความถี่ในปีหน้า ซึ่งเบื้องต้น นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่าจะเปิดประมูลได้ราวเดือน มิ.ย.61

ขณะเดียวกัน บริษัทต้องเก็บเงินสดไว้รองรับสำหรับการใช้คลื่น 2300 MHz ของ บมจ.ทีโอที ที่ต้องจ่ายค่าเช่าคลื่นปีละ 4 พันล้านบาท จนถึงปี 68 นอกจากนี้ ยังรอ กสท. อนุมัติให้บริษัทลูกของ DTAC รับโอนสินทรัพย์หรือโครงข่ายที่ DTAC ได้สร้างและโอนให้ กสท.ตามสัญญานั้นนำมาเช่าใช้โครงข่ายเดิม ซึ่งบริษัทรอคำตอบมา 2 ปีแล้ว

ทั้งนี้ อัตราหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net debt / Equity) อยู่ที่ 3.5 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 3/60

*เร่งเพิ่มฐานลูกค้า Postpaid หวังดันรายได้โต

นายชวิต คาดว่า แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 4/60 น่าจะดีตามแนวโน้มเศรษฐกิจภาพรวมที่ดีขึ้น และปกติไตรมาสที่ 4 จะเป็นช่วงไฮซีซั่น มีการใช้งานมากขึ้น และถือเป็นไตรมาสทีดีที่สุด

ขณะที่คาดว่ารายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ในปี 60 คาดว่าใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีรายได้จาการให้บริการไม่รวม IC จำนวน 6.47 หมื่นล้านบาท โดยในงวด 9 เดือนแรกที่ผ่านมารายได้ค่าบริการไม่รวม IC เพิ่มขึ้นเพียง 0.2% และ EBITDA margin ปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 41%

"คาดว่าในไตรมาส 4/60 EBITDA (กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) มีมากน้อยเท่าไรก็ต้องเก็บไว้ ซึ่งขึ้นอยู่ว่าจะจ่ายทีโอทีอย่างไร โดย 9 เดือนที่ผ่านมา EBITDA เติบโต 7% เนื่องจากค่าใช้จ่ายลดลง โดยเป็นการลดลงของ Regulatory Cost และการลดลงของค่าใช้จ่ายการขายและการบริหาร เพราะมีมาตรการปรับลดลง จะเปลี่ยนวิธีการทำตลาด โฟกัสไปที่ทีวี, ออนไลน์ และลดการโฆษณาผ่านบิลบอร์ด สิ่งพิมพ์ โดยในช่วง 9 เดือนแรกมีค่าใข้จ่ายส่วนนี้มีจำนวน 3.6 พันล้านบาท จากปีก่อนในช่วงเดียวกันใช้ไป 5.4 พันล้านบาท"นายชวิต กล่าว

นายชวิต กล่าวว่า แนวโน้มลูกค้าระบบรายเดือน (Postpaid) ยังเติบโตดีอยู่ในไตรมาส 4/60 ขณะที่ลูกค้าระบบเติมเงิน (Prepaid) ยังมีแนวโน้มติดลบ โดยไตรมาส 3/60 ลูกค้า Prepaid ลดลง 5 แสนเลขหมาย เทียบกับไตรมาส 2/60 ลดลง 7 แสนเลขหมาย ในไตรมาส 4 คาดว่าลูกค้า Prepaid จะติดลบน้อยลง

ขณะที่ในส่วนบริการ LINE Mobile จะเข้ามาช่วยผลประกอบการ และเพิ่มระบบลูกค้า PostPaid ได้มากขึ้นในระยะกลางถึงระยะยาว ส่วนในปีนี้ยังถือว่ามีสัดส่วนน้อยมาก แต่มองว่า LINE Mobile นี้จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

นายชวิต ระบุว่า ลูกค้า Postpaid ยังเติบโตดี ซึ่งในงวด 9 เดือนแรกเติบโต 15-20% ทั้งจำนวนลูกค้าและรายได้ เพราะบริษัทโฟกัสเพิ่มฐานลูกค้า Postpaid ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน (ARPU) เฉลี่ย 538 บาท/เดือนในไตรมาส 3/60 เพิ่มขึ้น 2.7%จากไตรมาส 3/59 ขณะที่กิจกรรมส่งเสริมลูกค้า Prepaid บริษัทได้ยกเลิกการแจกเครื่องฟรี แต่เป็นการให้ส่วนลดแทน ซึ่งช่วยพยุงกำไรบริษัทไว้ ในไตรมาส 4 ปีนี้ก็จะยังให้ส่วนลดแต่เน้นให้กับลูกค้า Postpaid แต่สำหรับลูกค้า Prepaid จะหันมาจัดโปรโมชั่นมากกว่า

"ผลประกอบการทั้งปี 60 น่าจะไม่แตกต่างจากเป้าหมายที่วางไว้ ทำได้ตามแผน ขณะที่รอเซ็นสัญญากับทีโอที และรอประมูลคลื่น 1800 MHz ยังมีการตัดค่าเสื่อมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยประมาณไตรมาสละ 4 พันล้านบาทซึ่งจะลงทุนอีก 2-3 ปี หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท/ปี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นกดดัน bottom line แต่จะดีขึ้นถ้า revenue โตขึ้น และปรับลดค่าใช้จ่ายได้ดี"นายชวิตกล่าวสรุป

DTAC ในไตรมาส 3/60 มีจำนวนฐานลูกค้าอยู่ที่ 23.1 ล้านเลขหมาย เป็นลูกค้าแบบรายเดือน 5.5 ล้านเลขหมาย และลูกค้าแบบเติมเติมอยู่ที่ 17.6 ล้านเลขหมาย เทียบกับสิ้นปี 59 มีจำนวนฐานลูกค้าอยู่ที่ 24.5 ล้านเลขหมาย (ลดลง 1.4 ล้านเลขหมาย) โดยมีลูกค้าแบบรายเดือน 5 ล้านเลขหมาย (เพิ่มขึ้น 5 แสนเลขหมาย) และลูกค้าแบบเติมเงินอยู่ที่ 19.5 ล้านเลขหมาย (ลดลง 1.9 ล้านเลขหมาย)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ