ทริสฯ ลดเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ STA เป็น “BBB+" จาก "A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 30, 2017 10:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้ง ลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) เป็น "BBB+" จากเดิมที่ "A-" ซึ่งสะท้อนถึงระดับภาระหนี้ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องและเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ที่ลดลง

ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังคงสะท้อนสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจยางธรรมชาติ ตลอดจนการมีฐานลูกค้าที่กระจายตัว และประสบการณ์อันยาวนานของคณะผู้บริหารในธุรกิจ ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติ รวมทั้งจากอัตราการทำกำไรในระดับต่ำของกลุ่มผู้ผลิตยางธรรมชาติในธุรกิจกลางน้ำ (Mid-stream Producer) และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

STA เป็นผู้นำในธุรกิจแปรรูปและจำหน่ายยางธรรมชาติในตลาดโลก ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานแปรรูปยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น และถุงมือยาง ทั้งสิ้น 37 แห่งในประเทศไทย 3 แห่งในประเทศอินโดนีเซียและอีก 1 แห่งในประเทศพม่า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 บริษัทมีกำลังการผลิตยางแปรรูปทั้งสิ้น 1,875,240 ตันต่อปี บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดยางธรรมชาติทั่วโลกเท่ากับ 10.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางประมาณ 85% ให้แก่ผู้ประกอบการโดยตรงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์ โดยมียอดส่งออกคิดเป็น 83% ของปริมาณขายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 ตลาดส่งออกหลักของบริษัทคือประเทศจีนซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 57% ของปริมาณส่งออกทั้งหมด

เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติในธุรกิจกลางน้ำ ดังนั้น อัตรากำไรของบริษัทจึงค่อนข้างต่ำและผันผวนตามราคายางธรรมชาติ โดยบริษัทมีการทำสัญญาตราสารอนุพันธ์เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคาและจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 0.55%-3.17% ในปี 2555-2559 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ระหว่าง 1,061-3,506 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน

ผลการดำเนินงานของบริษัทต่ำกว่าคาดในปี 2559 แม้ว่าปริมาณขายจะเพิ่มขึ้น 33% และราคาขายจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงปลายปี 2559 แต่อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา (รวมการกลับรายการของค่าเผื่อสำหรับผลขาดทุนของสินค้าคงเหลือและกำไรหรือขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ราคายาง) ลดลงอย่างมากเป็น 0.55% ในปี 2559 เมื่อเทียบกับ 1.15%-3.17% ในปี 2555-2558 อัตรากำไรของบริษัทปรับตัวติดลบในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 โดยลดลงเป็น -3.48% เมื่อเทียบกับ 3.25% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 เนื่องจากบริษัทมีการบันทึกขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ราคายางเท่ากับ 921 ล้านบาท ในปี 2559 และ 266 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560

นอกจากนั้น บริษัทยังมีการบันทึกค่าเผื่อสำหรับผลขาดทุนของสินค้าคงเหลือจำนวน 2,918 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 อัตรากำไรที่ปรับตัวต่ำลงประกอบกับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลทำให้ EBITDA ลดลงเป็น 1,061 ล้านบาทในปี 2559 จากระดับ 2,826 ล้านบาทในปี 2558 EBITDA (รวมค่าเผื่อสำหรับผลขาดทุนของสินค้าคงเหลือ) ของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 รายงานเป็นขาดทุน 1,528 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ EBITDA ที่บริษัททำได้ประมาณ 2,000-3,500 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2555-2558

บริษัทและ Semperit Technische Produkte Gesellschaft m.b.H. (STPG) ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนจากประเทศออสเตรียของบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทสไทย) จำกัด (STGT) ได้บรรลุข้อตกลงในการยุติข้อพิพาททางกฎหมายทั้งหมด โดยในเดือนมีนาคม 2560 ทั้งสองบริษัทตัดสินใจยกเลิกการร่วมทุนในบริษัทที่ลงทุนร่วมกัน บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นใน STGT เพิ่มอีก 50% จาก STPG โดยใช้เงินลงทุนเท่ากับ 6,319 ล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทก็ขายหุ้นในบริษัทร่วมทุนอื่นให้แก่ STPG บริษัทร่วมทุนที่ขาย ประกอบด้วย Sempermed USA, Inc., Sempermed Singapore Pte. Ltd, Semperflex Shanghai Ltd., Shanghai Sempermed Gloves Sales Co.Ltd., and Shanghai Semperit Rubber and Plastics Products Co.Ltd เมื่อสุทธิกับเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมทุนก่อนการขายบริษัทร่วมทุนและเงินจากการขายบริษัทร่วมทุนต่าง ๆ แล้ว รวมบริษัทจ่ายเงินจำนวน 4,400 ล้านบาท สำหรับการซื้อกิจการของ STGT ในครั้งนี้

นอกจากนี้ บริษัทให้สิทธิกับ STPG ในการซื้อหุ้น 42.5% ที่ถือในบริษัท เซมเพอร์เฟล็กซ์ เอเชีย จำกัด (SAC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่เหลืออยู่ในราคา 1,800 ล้านบาท โดย STPG มีระยะเวลาในการใช้สิทธิระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน 2562 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 การซื้อ STGT ในครั้งนี้น่าจะช่วยเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจในระยะยาวได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากบริษัทจะมีกำไรจากธุรกิจถุงมือยางเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นธุรกิจปลายน้ำของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม กำไรจาก STGT จะยังคงไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะสั้น เนื่องจาก STGT ประสบกับต้นทุนยางธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายพิเศษสำหรับการระงับข้อพิพาททางกฎหมายกับ STPG บวกกับการสูญเสียตลาดพรีเมียมของ STPG ทั้งนี้ STGT รายงาน EBITDA เท่ากับ 1,313 ล้านบาท ในปี 2559 และ 287 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 เมื่อเทียบกับ EBITDA ในช่วงปี 2557-2558 ที่ระดับ 1,800 ล้านบาทต่อปี

บริษัทมีระดับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หนี้เงินกู้รวมของบริษัทอยู่ที่ 36,031 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2560 จากระดับ 19,126 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2558 เนื่องจากความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น การขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง การลงทุนในสวนยางและการลงทุนใน STGT ล่าสุด อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ระดับ 67.07% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 เมื่อเทียบกับ 40%-49% ในช่วงปี 2555-2558 แม้ว่าบริษัทประสบความสำเร็จในการเพิ่มทุนและได้รับเงินจำนวน 2,555 ล้านบาทในเดือนตุลาคม 2560 แต่คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะยังคงอยู่ที่ระดับสูงประมาณ 60% ในช่วงปี 2560-2563 เนื่องจากบริษัทยังคงมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนในระดับสูงและการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องในโรงงานแปรรูปยางแท่งและโรงงานถุงมือยาง

ทั้งนี้ ระดับภาระหนี้ที่สูงและการขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ราคายางส่งผลกระทบทำให้เงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ของบริษัทปรับตัวอ่อนลงในปี 2559 ค่าเผื่อการขาดทุนสินค้าคงเหลือจำนวนมากยังส่งผลทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยในปี 2559 อยู่ที่ระดับ 1.50 เท่า และ -2.59 เท่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 เมื่อเทียบกับ 3.26-3.45 เท่า ในปี 2556-2558 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.06% ในปี 2559 และเท่ากับ -1.27% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้วโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556-2558 ที่เท่ากับ 7.74%-16.46%

ในช่วงปี 2561-2563 คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ตามสมมติฐานของทริสเรทติ้งเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะลดลงอยู่ที่ประมาณ 650 ล้านบาทในปี 2560 และฟื้นตัวตามลำดับเป็น 1,500-2,500 ล้านบาท ในช่วงปี 2561-2563 ตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณขายยางธรรมชาติ ความพยายามในการลดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ตลอดจนผลการดำเนินงานของธุรกิจถุงมือยางที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะปรับตัวดีขึ้นที่ระดับประมาณ 10% ในช่วงระยะกลางถึงระยะยาวตามกำไรที่ปรับตัวดีขึ้น สภาพคล่องของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่จัดการได้ โดยเกือบ 70% ของหนี้เงินกู้รวมของบริษัท หรือ 28,514 ล้านบาทเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น ซึ่งเป็นเงินกู้ยืมสำหรับสินค้าคงเหลือและลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือของบริษัทถือเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงและอยู่ในความต้องการของตลาด สามารถขายเพื่อนำมาชำระหนี้ของบริษัทได้

บริษัทมีเงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระภายในปี 2560 จำนวน 5,234 ล้านบาท และ 800-1,000 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2561-2563 บริษัทจะมีการชำระเงินกู้ระยะยาวในปี 2560 จำนวน 5,166 ล้านบาท โดยใช้เงินจากการเพิ่มทุนจำนวน 1,500 ล้านบาท และเงินกู้ระยะยาวที่ได้รับการธนาคารพาณิชย์อีกจำนวน 3,000 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังมีวงเงินทุนหมุนเวียนที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกมากกว่า 10,000 ล้านบาทจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่งซึ่งสามารถนำมาเป็นแหล่งเงินทุนสำรองสำหรับชำระหนี้ที่จะครบกำหนดได้

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติได้ต่อไปและคาดว่าบริษัทจะใช้ตราสารอนุพันธ์อย่างระมัดระวังเพื่อลดความเสี่ยงจากราคายางธรรมชาติและจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ นอกจากนี้ คาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารหรือรักษาสภาพคล่องไว้มากพอเพื่อรองรับผลกระทบจากความผันผวนของราคาธรรมชาติได้อีกด้วย

ปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่งบดุลของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นและบริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ความสามารถในการทำกำไรและผลการดำเนินงานต่ำกว่าคาด ระดับการก่อหนี้ที่ปรับตัวสูงขึ้นของบริษัทก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ