นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างมองหาโอกาสร่วมมือธุรกิจเอทานอลกับ บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจในอนาคต แต่การดำเนินการยังต้องขึ้นอยู่กับผู้ร่วมทุนในธุรกิจเอทานอลของบริษัทด้วย
ก่อนหน้านี้บริษัทได้ขายหุ้น 30% ในบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด (MCE) ออกไป ทำให้คงเหลือการลงทุนในธุรกิจเอทานอลอีก 2 บริษัท โดยปัจจุบัน TOP ถือหุ้น 50% ในบริษัท ทรัพย์ทิพย์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง ขนาด 2 แสนลิตร/วัน และร่วมทุนราว 21% ในบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด ผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังและกากน้ำตาล ขนาด 4 แสนลิตร/วัน
"ธุรกิจเอทานอลอีก 2 อันที่เหลือผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งคู่ ทั้ง 2 โรงที่เหลืออยู่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ ก็จะ competitive มากกว่า โรงที่ขายไปใช้อ้อย ธุรกิจตรงนี้เราก็เริ่มมีกำไรแล้ว...หลังจากนี้จะขายหรือไม่ขาย ดูว่าเราจะ restructure ได้ไหมถ้าไม่ขาย เราจะคุยอะไรที่ร่วมกันอย่าง GGC ได้ไหม ก็มีการพยายามพูดคุยว่าจะเอาเอทานอลไปอยู่ในพอร์ตเขาได้ไหม แล้วไปร่วมลงทุนใน EEC ในธุรกิจที่เป็นไบโอต่อยอด จะดีกว่าเอาเอทานอลไปทำน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างเดียว มีเทคโนโลยีอะไรที่ทำได้ แต่เราพูดเองไม่ได้เพราะมีพาร์ทเนอร์ แต่ในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ ก็มองโอกาสที่จะไปทำงานร่วมกัน เพิ่ม value ให้เอทานอล ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ๆ เรากับพาร์ทเนอร์ที่ทำเอทานอลอยู่ ก็ไม่น่า mind เพราะมันเพิ่ม value"นายอธิคม กล่าว
นายอธิคม กล่าวอีกว่า แผนการลงทุนของบริษัทในช่วงนี้ยังเป็นการลงทุนเพื่อปรับปรุงสาธารณูปโภคหลายโครงการ รองรับการทำโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (Clean fuel Project:CFP) มูลค่าราว 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยการลงทุนที่ได้รับอนุมัติแล้ว รวม 8.9 พันล้านบาท ในช่วงปี 60-62 ได้แก่ การปรับปรุงท่าเรือเพื่อให้สามารถรับเรือได้เพิ่มขึ้น และลดความแออัดของท่าเรือ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 62 ,สร้างถังน้ำมันดิบเพิ่มเติมอีก 5 ใบ เพื่อสามารถรองรับน้ำมันดิบที่มีคุณภาพหลากหลายได้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำมันให้เข้าสู่กระบวนการผลิตได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น, การย้ายสำนักงานเพื่อให้มีพื้นที่ว่างคงเหลือบริเวณโรงกลั่นน้ำมัน รองรับการทำโครงการ CFP
ขณะที่โครงการ CFP ปัจจุบันได้ออกประกาศเชิญชวนประมูล (TOR) ไปแล้วเมื่อเดือน ก.ค. และอยู่ระหว่างรอผู้รับเหมาเสนอเอกสารทางเทคนิคมาในช่วงปลายเดือน ธ.ค. และเสนอราคาเข้ามาในราวเดือน มี.ค.61 ทำให้คาดว่าจะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นท้าย (FID) ในปลายไตรมาส 3/61 และคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จในต้นปี 65 โครงการ CFP จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์น้ำมัน และเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันเป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน จากระดับ 2.75 แสนบาร์เรล/วัน โดยจะเป็นการอัพเกรดน้ำมันเตาไปเป็นน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันดีเซลมากขึ้น โดยจะไม่มีผลผลิตน้ำมันเตาที่มีมาร์จิ้นต่ำออกมาเลยจากปัจจุบันที่มีน้ำมันเตาอยู่ราว 7-10% ซึ่งจะช่วยหนุนให้ GRM เพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย
ขณะเดียวกันการเลือกเทคโนโลยีเพื่อใช้สำหรับการผลิตครั้งนี้จะไม่มีการผลิตน้ำมันเบนซินออกมาจากระบบใหม่ เพราะได้คำนึงถึงยานยนต์ไฟฟ้าที่จะมีเข้ามามากในอนาคต แต่ในส่วนของกำลังการผลิตเดิมก็จะยังคงมีน้ำมันเบนซินออกมาเหมือนเดิม สำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น จะเป็นการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV ที่ยังรองรับได้ ส่วนตลาดในประเทศไม่น่าจะเพียงพอรองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้
อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการ CFP ที่จะเกิดขึ้นก็อาจจะทำให้มีปริมาณแนฟทาออกมาราว 5 แสนตัน/ปี ก็ทำให้มองโอกาสที่จะนำแนฟทาไปผลิตเป็นพาราไซลีนเพิ่มเติม ซึ่งก็จะเป็นนโยบายของ PTT ในการดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป