บมจ.ทีทีซีแอล (TTCL) เตรียมแผนระดมทุนเพื่อใช้ลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ล่าสุด 1,280 เมกะวัตต์ในเมียนมา ซึ่งมีมูลค่าโครงการราว 98,000 ล้านบาท ด้วยการใช้เงินกู้เป็นหลัก ขณะที่ส่วนทุนราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาทจะมาจากการนำบริษัทย่อยเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย การจัดตั้งกองทุนสาธาณูปโภคพื้นที่ (IFF) และการดึงพันธมิตรญี่ปุ่นเข้าร่วมทุนราว 40%
นายฮิโรโนบุ อิริยา ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ TTCL เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลแห่งรัฐคะยิ่น (KSG) ให้ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ TTCL ในการลงนามร่วมทุนและให้เช่าสัญญาที่ดินระยะยาวสำหรับการลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้า Utra Supercritical Coal-fired Thermal Power Plant ซึ่งทาง KSG ได้ร่วมทุนในสัดส่วน 5% ของทุนจดทะเบียน พร้อมให้เช่าที่ดินระยะยาว 815 เอเคอร์ หรือประมาณ 2,000 ไร่ ระยะเวลา 40 ปี
ขั้นตอนหลังจากนี้บริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นอยู่ระหว่างรออนุมัติการลงนามใน Memorandum of Agreement (MOA) กับรัฐบาลกลางของเมียนมาต่อไป ซึ่งรวมสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนที่จะยกเว้นภาษีเงินได้ 5-8 ปี รวมผลรายงานกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าในปลายปีนี้จะลงนามร่วมกันได้ จากนั้นจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี
โครงการนี้เป็นโครงการแห่งที่ 2 ในเมียนมาต่อจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมกังหันก๊าซ ขนาด 120 MW ณ เขต Ahlone เมืองย่างกุ้ง มูลค่าการลงทุน 170 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6 พันล้านบาท ซึ่งได้เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 56
นายกอบชัย ธนสุกาญจน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTCL กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุน 2,800 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 98,000 ล้านบาท TTCL มีความพร้อม โดยวางแผนทางการเงินด้วยการใช้สัดส่วนเงินกู้ยืมและเงินลงทุนประมาณ 75:25 ซึ่งขณะนี้ได้เจรจากับสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหารือที่ปรึกษาทางการเงินเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ประกอบกับภาวะดอกเบี้ยในปัจจุบันก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมในการลงทุน
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะระดมทุนในส่วนของทุนราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นมีแผนจะนำบริษัท Toyo Thai Power Holding Pte.Ltd (TTPHD) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ TTCL มาเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยจากเดิมจะนำเข้าตลาดสิงคโปร์ เนื่องจากข้อดีคือตลาดหุ้นไทยมีนักลงทุนหลากหลายทั้งสถาบัน รายย่อย และต่างชาติ รวมทั้งชื่อเสียงบริษัทเป็นที่รู้จักมากกว่าในสิงคโปร์ และ Forword P/E ตลาดหุ้นไทยดีกว่าตลาดหุ้นสิงคโปร์ อีกทั้งสภาพคล่องก็ดีกว่า
นอกจากนี้ จะดึงพันธมิตรจากญี่ปุ่นเข้าร่วมทุนราว 40% ของทั้งหมดที่ TTCL ถือหุ้น 95% ในโครงการนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลางอาจจะเข้าร่วมทุนโครงการนี้ด้วย อีกทั้งจะมีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) ซึ่งการระดมทุนดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 61
"เราน่าจะสรุปว่าจะใช่เครื่องมือทางการเงินอะไรบ้าง ไม่น่าเกินกลางปีหน้า คิดว่าจะนำ TTPHD เข้าตลาดหุ้นไทย"นายกอบชัยกล่าว
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้า Utra Supercritical Coal-fired Thermal Power Plant ขนาด 1,280 เมกะวัตต์ จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เฟสแรก จำนวน 640 เมกะวัตต์ ในกลางปี 2566 และเฟส 2 อีก 640 เมกะวัตต์ เริ่ม COD ในต้นปี 2567 โดยมีระยะเวลาคืนทุน 12-13 ปี อัตราผลตอบแทน 10-13%
ขณะที่การลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่รัฐมอญในเมียนมา ขนาด 1,280 เมกะวัตต์ บริษัทจะชะลอออกไปก่อนเพราะยังติดขัดเรื่องการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่
นอกจากนี้ ในปลายปี 61 คาดว่าจะสรุปการลงทุนโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่น บนเกาะคิวชู ขนาด 10 เมกะวัตต์ เงินลงทุนราว 30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ/เมกะวัตต์ โดยที่ผ่านมาลงทุนโซลาร์ฟาร์มในอีกเมืองหนึ่งบนเกาะคิวชู ขนาด 25 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดจะเริ่ม COD ได้ต้นปี 62
นายกอบชัย คาดรายได้รวมปีนี้ลดลง 30-40% จากปีก่อนที่มี 2 หมื่นล้านบาท และกำไรต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากงานใหม่เข้ามาน้อย แต่คาดว่ารายได้รวมปี 61 จะกลับมาเติบโต 20-30% และกำไรจะดีขึ้น จากปีนี้ที่ได้งานใหม่ตามแผน 700-800 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยครึ่งปีแรกได้งานแล้วราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ และในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้จะได้งานโรงงานปิโตรเคมีที่บริษัทจดทะเบียนไทยไปลงทุนที่เวียดนาม มูลค่างานกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 61 ก็คาดว่าจะมีงานใหม่ 700-800 ล้านเหรียญสหรัฐ จากสิ้นเดือน มิ.ย.60 มีงานในมือ 1.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า โครงสร้างรายได้จะปรับมาเป็นรายได้จากงาน EPC ในต่างประเทศ ราว 50% งาน EPC ในประเทศ ราว 25% และ รายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้า 25% จากปีนี้มีรายได้จากงาน EPC สัดส่วน 95% และโรงไฟฟ้า 5%