นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท.อนุมัติงานซื้อพร้อมติดตั้งงานระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) โดยวิธีพิเศษจากนิติบุคคลร่วมทำงานไออาร์ทีวี เป็นเงิน 2,803.64 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็นเงิน 196.26 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,999.90 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
อนึ่ง กิจการร่วมค้าไออาร์ทีวี ประกอบด้วย บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น (ILINK) , บริษัท เรืองณรงค์ จำกัด, บริษัท ไทยอิงเกอร์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท วิวเท็กซ์ จำกัด
นายนิตินัย กล่าวว่า มูลค่างาน APM ดังกล่าวแม้ว่าจะสูงกว่าราคากลางคิดเป็น 3.62% แต่ ทอท.ได้พิจารณาความเสี่ยงหากมีการจัดซื้อใหม่ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการและจะส่งผลกระทบต่อความล่าช้าของโครงการในภาพรวม และมีผลต่อคุณภาพการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดังนั้น จึงเห็นว่ามูลค่างานดังกล่าวเป็นราคาที่เหมาะสม และได้เสนอคณะกรรมการ ทอท.อนุมัติการจัดซื้อในครั้งนี้
สำหรับงาน APM เป็นไปตามแผนการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 54-60) มีระยะเวลาดำเนินงาน 870 วัน ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนมี.ค.63 และจะสามารถเปิดให้บริการผู้โดยสารได้สอดคล้องกับแผนการเปิดให้บริการที่ทอท.ได้ตั้งเป้าหมายไว้
นอกจากนี้ คณะกรรมการมีมติเห็นชอบบทบาทของ ทอท.ในการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายระบบท่าอากาศยาน และให้ทอท.จัดทำแผนดำเนินงานและช่วงเวลาที่จะเข้าบริหารท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
นายนิตินัย กล่าวว่า จากการศึกษาทอท.เล็งเห็นโอกาสและศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศประเทศไทย ในภาพรวมภายใต้แนวคิดการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบท่าอากาศยาน (Airport Sytem) และการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Cluster ด้านการขนส่งทางอากาศด้านการขนส่งทางอากาศซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพภาคการขนส่งของประเทศไทยในภาพรวม และเป็นการเป็นผู้บริหารเดียว (Single Operator) ซึ่ง ทอท.เห็นว่าในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่บริหารท่าอากาศยานหลักของประเทศควรจะเป็นผู้บริหารท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยานที่มีจำนวน 29 แห่ง โดยอย่างน้อย ทอท.จะเข้าบริหารท่าอากาศยาน 15 แห่งของจำนวนดังกล่าว
ทั้งนี้ 15 ท่าอากาศยานที่เห็นศักยภาพได้แก่ (ภาคเหนือ) น่าน ลำปาง (ภาคอีสาน) อุดรธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด (ภาคกลาง) พิษณุโลก (ดะวันตก) แม่สอด (ใต้) กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง นราธิวาส โดยสนามบินทั้ง 15 แห่ง มีความต้องการแฝง (Shadow Demand) ประมาณ 4-5 ล้านคน/ปี หรือคิดเป็น 26% ของจำนวนผู้โดยสารของ 29 แห่งที่อยู่ภายใต้การบริหารของ ทย.ที่มีจำนวนผู้โดสารรวม 20 ล้านคน
ส่วน 6 ท่าอากาศยานของ AOT มีจำนวนผู้โดยสาร 120 ล้านคน (ข้อมูล ณ ปี 59) หรือมีส่วนแบ่งการตลาด (Maket Share)ราว 86%
ปัจจุบัน AOT มี Hub การบินทางเหนือ คือ เชียงใหม่ และทางใต้ คือ ภูเก็ต บริษัทยังขาดฮับในภาคอีสาน เพื่อรองรับการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airlines) จึงได้นำเสนอบอร์ดในการดำเนินการบริหารท่าอากาศยานแบบ Cluster อย่างน้อย 15 แห่ง หรือถ้ารับบริหารทั้งหมด 29 แห่งก็ไม่ขัดข้อง เพราะที่ผ่านมา 29 สนามบินของ ทย.ไม่ได้ขาดทุนทุกสนามบิน
"โดยรวม ทอท.(AOT) รับมาไม่ขาดทุนประเทศโดยรวมได้ประโยชน์ ประเด็นแรกเราดูเรื่องความมั่นคง เราวาง positioning เราไม่ผิด เราก็ไม่ขาดทุน"นายนิตินัย กล่าว
นายนิตินัย กล่าวว่า หากครม.อนุมัติการบริหารท่าอากาศยานดังกล่าว AOT จะทบทวนแผนการลงทุน และลงรายละเอียด ในการเลือกลงทุนบางสนามบินเพื่อเป็น Hub ให้สามารถรองรับเที่ยบินระยะไกล อาทิ บินจากยุโรปเข้าอีสานที่ให้ได้ตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือน (ICAO) รวมทั้งทบทวนแผนการลงทุนท่าอากาศยานเชียงใหม่เฟส 2 และ ท่าอากาศยานภูเก็ต เฟส 3 โดยมีความเป็นไปได้จะไปลงทุนศูนย์ปฏิบัติการรอง (Secondary Hub) ที่อยู่จังหวัดใกล้เคียง เพราะทั้งสองสนามบินมีความแออัดเพิ่มขึ้น
สำหรับงานก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 ยังเหลืองานออกแบบอาคาร Terminal 2 ราคากลาง 309 ล้านบาท เปิดประมูล 6 พ.ย.นี้ และ งานก่อสร้างผู้โดยสารแห่งที่ 2 (Terminal 2) และสำนักงานด้านตะวันออก รวมมูลค่า 7 พันล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปลายปี 60
ด้านนายวิชัย บุญยู้ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า บริษัทเตรียมเปิดประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมอาคาร Terminal 2 และอาคารแซทเทิลไลท์ รวมพื้นที่ประมาณกว่า 2 หมื่น ตร.ม.ได้ในเดือน ก.พ.61 และคาดว่าอีก 2 เดือนหรือ ในเดือนเม.ย.61 จะรู้ผลการประมูล ซึ่งจะให้สัญญาเช่าระยะเวลา 10ปี