นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนบุคคล บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ทิศทางการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET INDEX) ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ คาดว่าจะเคลื่อนไหวแบบไซด์เวย์ และอาจจะถูกกดดันจากปัจจัยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯกลับมาแข็งค่าขึ้นมาจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯออกที่มาดีกว่าคาดการณ์หลายตัว เช่น ตัวเลขภาคการผลิตและภาคการบริการที่มีการเติบโตขึ้นดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ต่าง ๆ ซี่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มดีขึ้นอย่างชัดเจน
อีกทั้งปัจจัยเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯที่มีโอกาสสูงที่จะปรับขึ้นในการประชุมเดือนธ.ค.นี้ และมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นต่อเนื่องในปี 61 และการคัดเลือกประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คนใหม่ ยังเป็นปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสำคัญ เพราะที่ผ่านมานางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดคนปัจจุบัน มีการผ่อนคลายทางการเงินมาโดยตลอด แต่ถ้านายเจอโรม พาวเวล ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ว่าการเฟด ขึ้นเป็นประธานเฟด จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น แต่อาจจะไม่เร็วมาก เมื่อเทียบกับนายจอห์น เทย์เลอร์ ซึ่งหากได้รับตำแหน่งประธานเฟด จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีผลต่อการไหลออกของกระแสเงินทุนในภูมิภาคเอเชีย และส่งผลต่อตลาดทุนไทยที่จะเผชิญแรงขายในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไทย ในช่วง 2 เดือนนี้ โดยพาะตลาดพันธบัตรที่จะถูกกดันมาก เพราะช่วงที่ผ่านมาผลตอบแทนของพันธบัตรในประเทศ ระยะเวลา 10 ปี มีการปรับตัวเพิ่มสุงขึ้นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามแม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะถูกปัจจัยภายนอกกดดัน แต่ยังมีแรงหนุนจากปัจจัยในประเทศที่สำคัญในช่วงปลายปี คือ แรงซื้อของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่จะเข้ามาซื้อในช่วงปลายปี ขณะเดียวกันภาพของเศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากที่หลายหน่วยงานเริ่มปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลการดำเนินงานไตรมาส 3/60 ที่ทยอยประกาศออกมา คาดว่ามีสัดส่วนของบริษัทจดทะเบียนที่มีผลการดำเนินงานที่สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้าสูงถึง 75% ทำให้ยังช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยให้สามารถปรับตัวขึ้นได้ในระยะสั้น
โดยมองว่าการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วง 2 เดือนนี้ จะไซต์เวย์ในกรอบที่ 1,690-1,760 จุด หากปัจจัยลบรุนแรงเข้ามากระทบ ซึ่งหากดัชนีลดลงมาอยู่ที่จุดต่ำสุด 1,690 จุด มองว่าเป็นจังหวะที่น่าเข้าซื้อ และเมื่อดัชนีขึ้นไปที่ 1,760 จุด มองว่าเป็นจังหวะขายทำกำไร สำหรับเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงกลางปี 61 คาดว่าอยู่ที่ 1,760 จุด และดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงปลายปี 61 คาดว่าอยู่ที่ 1,800 จุด
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนนั้น มีกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่ หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพราะหลายธนาคารเริ่มมีการจัดการด้านต่าง ๆ ดีขึ้น แม้ว่าสินเชื่อจะไม่ได้เติบโตมาก แต่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) มองว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเริ่มเข้าสู่ช่วงขาขึ้นตามภาวะดอกเบี้ย อีกทั้งมูลค่าของหุ้นธนาคารพาณิชย์ถือว่าลดลงมามากในช่วงที่ผ่านมา โดยแนะนำ BBL และ TMB อีกทั้งหุ้นที่มีความน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในพื้นที่พัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม คือ AMATA และ TICON
ส่วนหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการบริโภค ได้แก่ CPALL ขณะที่หุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อน ได้แก่ KCE, HANA และหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า ได้แก่ PTTEP
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วง 2 เดือนสุดท้ายนี้ (พ.ย.-ธ.ค. 60) คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ต่อ แต่เป็นการปรับตัวขึ้นในกรอบจำกัด และดัชนีจะไม่ปรับตัวขึ้นร้อนแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดซึมซับข่าวดีไปค่อนข้างมากแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข่าวดีที่จะเกิดขึ้นในปี 61 โดยมองว่าหากประเด็นการเลือกตั้งของไทยในปี 61 มีความชัดเจนมากขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ ซึ่งต้องมีการร่างกฎหมายแล้วเสร็จและได้รับการอนุมัติ เชื่อว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยหนุนดัชนีตลาดหุ้นไทยจะทำสถิติสูงสุดใหม่ในปีหน้าที่ระดับ 1,850 จุด
แต่อย่างไรก็ตามยังต้องรอดูปัจจัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการคัดเลือกประธานเฟดคนใหม่ ซึ่ง 2 ตัวเก็ง คือ นายเจอโรม พาวเวล และนายจอห์น เทย์เลอร์ โดยนายพาวเวลมีแนวคิดสนับสนุนการคุมเข้มนโยบายการเงินน้อยกว่านายเทย์เลอร์ และจะเดินหน้าสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามแนวทางของนางเยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐคนปัจจุบัน ทำให้คาดว่าหากนายพาวเวลได้ขึ้นรับตำแหน่งจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทในระยะสั้นเท่านั้น
ขณะเดียวกันหากว่านายเทย์เลอร์ ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และอดีตปลัดกระทรวงการคลังฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ ซึ่งนายเทย์เลอร์ถือเป็นนักวิชาการสายเหยี่ยวที่เน้นการคุมเข้มนโยบายการเงิน และมุ่งเน้นการสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเดินหน้าปรับลดงบดุลบัญชีของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหากนายเทย์เลอร์ได้ขึ้นรับตำแหน่ง คาดว่าตลาดจะมีความผันผวน เนื่องจากความไม่มั่นใจในนโยบายทางการเงินและการดำเนินงานของนายเทย์เลอร์