สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหารบมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง (IEC) กับพวกรวม 25 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีร่วมกันกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เบียดบังทรัพย์สิน และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ IEC เสียหาย ตลอดจนจัดทำหรือยินยอมให้มีการจัดทำบัญชีของ IEC ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงต่อความเป็นจริง เพื่อลวงบุคคลใด ๆ โดยบุคคลที่ถูกกล่าวโทษในครั้งนี้ ประกอบด้วย
(1) นายภูษณ ปรีย์มาโนช (2) นายชาญไชย เข็มวิเชียร (3) นางสาวพลอยแก้ว ปริศวงศ์ (4) นายมรุพงศ์ ศิริวัฒน์ (5) นายชยกร อัครมาส (6) นายสุนันทร์ ศรีใจพระเจริญ (7) นายสราญ เลิศเจริญวงษา (8) นายสุทิน ใจธรรม (9) นางสาวจารุวรรณ ภูษณะภิบาลคุปต์ (10) นายสุทัศน์ สุขเลิศ (11) นางสาวกรวรรณ สุ่นประเสริฐ (12) นายนิวัฒน์ แม้นอิ่ม (13) นายสุทิน พรหมทอง (14) บริษัท นอร์ท เอ็นไวรอนเมนท์ จำกัด (NE) (15) นายสุนทร ศรีใหม่ (16) บริษัท เอ็นเนอร์จีซิสเท็ม เอ็นจิเนียริง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (ESES) (17) นายนันทวัฒน์ ภูดิทไอยราศักดิ์ (18) บริษัท บ้านทองคำ จำกัด (19) นายสมชาย โพธิ (20) บริษัท เพชรปิยะ กรุ๊ป จำกัด (21) นายธนภัทร เพชรขวัญ (22) นางกัญญาภัค เพชรขวัญ (23) บริษัท ไทย-ชิน เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (24) นายรัตนธร ชินกระจ่างกิจ (25) นางญดาพัชร ชินกระจ่างกิจ
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานพบว่า ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2557 – เดือนสิงหาคม 2559 บุคคลทั้ง 25 ราย ได้ร่วมกันดำเนินการ หรือมีส่วนรู้เห็นยินยอม หรือให้ความช่วยเหลือสนับสนุนกรรมการ ผู้บริหารหรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท IEC กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เบียดบังทรัพย์สิน และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ IEC เสียหาย ตลอดจนจัดทำหรือยินยอมให้มีการจัดทำบัญชีของ IECไม่ถูกต้อง ไม่ตรงต่อความเป็นจริงเพื่อลวงบุคคลใด ๆ เกี่ยวกับการลงทุนซื้อหุ้นบริษัทย่อย การเข้าทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง และการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องจักร ตลอดจนการใช้ NE และ ESES ซึ่งเป็นบริษัทที่นายภูษณ มีอำนาจควบคุม เป็นช่องทางในการกระทำทุจริตในหลายกรณี ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ดำเนินการกล่าวโทษกลุ่มบุคคลดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 9 กรณี มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นรวมมากกว่า 200 ล้านบาท โดยรายละเอียดธุรกรรม สรุปโดยสังเขปได้ดังนี้
กรณีที่ 1 กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต ยักยอกเงินของ IEC ผ่านธุรกรรมการซื้อหุ้นบริษัท ไออีซี สระแก้ว 1 จำกัด (SK1) มูลค่า 345 ล้านบาท ซึ่งผู้ขายหุ้นคือนายสุทิน ใจธรรม และนางสาวจารุวรรณ ได้รับเงินค่าหุ้นจำนวน 300 ล้านบาท โดยเงินส่วนต่าง ประมาณ 45 ล้านบาท ได้ถูกนำไปให้นายภูษณ
กรณีที่ 2 กระทำการให้มีการจัดทำบัญชีของ IEC ไม่ถูกต้อง โดยนายภูษณ นายชาญไชย และนายสราญได้จัดทำเอกสารลวงและชำระหนี้บางส่วนแทนลูกหนี้คือนายสุทัศน์ ซึ่งนายสุทัศน์ยอมเข้าเป็นลูกหนี้แทนนายสุทิน ใจธรรม และนางสาวจารุวรรณ เพื่อให้ผู้สอบบัญชีของบริษัทเชื่อว่าลูกหนี้ที่ค้างชำระส่งมอบเชื้อเพลิงมูลค่า 53.62 ล้านบาท สามารถชำระหนี้คืนให้กับบริษัทได้ ก่อนที่ผู้สอบบัญชีจะอนุมัติให้ IEC เปิดเผยงบการเงินประจำปี 2558 โดยไม่ได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากหนี้ค้างชำระดังกล่าว
กรณีที่ 3 กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ IEC เสียหาย ผ่านธุรกรรมการซื้อหุ้น SK1 มูลค่า 100 ล้านบาท หลังจากที่ SK1 ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ซึ่งนายภูษณทราบอยู่แล้วว่า SK1 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ฯ แต่ต้องการให้ IEC เข้าซื้อหุ้น SK1 ต่อจาก นายสุทิน ใจธรรม และนางสาวจารุวรรณ ซึ่งเป็นลูกหนี้ของตน และเพื่อให้บุคคลทั้งสองนำเงินค่าขายหุ้นมาชำระคืนให้แก่ตน
กรณีที่ 4 กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต และแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ IEC เสียหาย จากกรณีที่ IEC ไม่ใช้สิทธิซื้อหุ้นบริษัท โคกเจริญ กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (KE) ซึ่ง IEC มีสิทธิซื้อได้ในราคา 45 ล้านบาท แต่นายภูษณได้ติดต่อขอซื้อหุ้น KE ต่อจากผู้ขายโดยตรงในราคา 20 ล้านบาท และได้จัดการผ่านบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ขายหุ้นดังกล่าวต่อบุคคลภายนอกในราคาสูงถึง 70 ล้านบาท อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายภูษณโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีนางสาวพลอยแก้ว นางสาวกรวรรณ และนายนันทวัฒน์ซึ่งเป็นกรรมการ ESES ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนในการซื้อขายหุ้นดังกล่าว
กรณีที่ 5 ทุจริต ยักยอกเงินของบริษัท โรงไฟฟ้าหนองรี จำกัด (บริษัทย่อยที่ IEC ถือหุ้นร้อยละ 100) จากการเข้าทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารและติดตั้งเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้ามูลค่า 58 ล้านบาท กับ ESES โดยเป็นการเข้าทำสัญญาที่มีมูลค่าสูงเกินจริง และโรงไฟฟ้าหนองรีได้ชำระเงินตามสัญญางวดแรกให้ ESES แล้ว จำนวน 12.48 ล้านบาท
กรณีที่ 6 ทุจริต ยักยอกเงินของ IEC ผ่านธุรกรรมการขายเม็ดพลาสติกของโครงการของ IEC ที่จังหวัดระยอง โดยนายภูษณ นายมรุพงศ์ และนายชยกร ได้ร่วมกันการขายเม็ดพลาสติกให้กับบุคคลภายนอกก่อนวันเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ โดยผู้ซื้อไม่ได้ชำระเงินให้กับ IEC แต่ได้โอนเงินค่าเม็ดพลาสติกรวมประมาณ 2.95 ล้านบาท เข้าบัญชีนายนิวัฒน์ นายสุทิน พรหมทอง และบริษัท NE โดยนายสุนทร ซึ่งเป็นกรรมการ NE มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าว
กรณีที่ 7 ทุจริต ยักยอกเงินของ IEC ผ่านธุรกรรมการทำสัญญาว่าจ้างบริษัท บ้านทองคำ จำกัด ซึ่งมีนายสมชาย เป็นกรรมการ ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียและระบบกรองน้ำของโครงการของ IEC ที่จังหวัดระยอง มูลค่า 15.09 ล้านบาท โดยนายภูษณและนายมรุพงศ์ ได้ตรวจรับงานและอนุมัติให้ IEC ชำระเงินตามสัญญาจนครบถ้วนแล้ว แต่พบว่าการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา
กรณีที่ 8 ทุจริต ยักยอกเงินของ IEC ผ่านธุรกรรมการทำสัญญาซื้อเครื่องร่อนคัดแยกขยะของโครงการของ IEC ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จากบริษัท เพชรปิยะ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งมีนายธนภัทร และนางกัญญาภัค เป็นกรรมการ มูลค่า 10.70 ล้านบาท โดยนายภูษณ นายมรุพงศ์ และนายสุนันทร์ ได้ตรวจรับมอบสินค้าและอนุมัติให้ IEC ชำระเงินตามสัญญาจนครบถ้วนแล้ว แต่ไม่พบเครื่องจักรตามสัญญา
กรณีที่ 9 ทุจริต ยักยอกเงินของ IEC ผ่านธุรกรรมการทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ไทย-ชิน เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งมีนายรัตนธร และนางญดาพัชร เป็นกรรมการ ก่อสร้างโรงงานคัดแยกพลาสติกปนเปื้อน ของโครงการของ IEC ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มูลค่า 10.50 ล้านบาท โดยนายภูษณและนายมรุพงศ์ ได้ตรวจรับงานและอนุมัติให้ IEC ชำระเงินตามสัญญาจนครบถ้วนแล้ว แต่พบว่าการก่อสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา
ทั้งนี้ ธุรกรรมตามรายละเอียดข้างต้น เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง 307 308 311 312 และ 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 86 91 352 353 และ 354 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแต่ละกรณีอาจต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนถึงหนึ่งล้านบาท ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าว ยังมีผลให้บุคคลที่ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการหรือผู้บริหาร และไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้นภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรมตามลำดับ