นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจหลักของเครือซิเมนต์ไทย ในช่วงไตรมาส 4/60 ทั้งในกลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มบรรจุภัณฑ์ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงเป้าหมายยอดขายรวมในปีนี้เติบโต 3-5% จากระดับ 4.23 แสนล้านบาทในปีก่อน หลังช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ยอดขายเติบโตแล้ว 4%
สำหรับธุรกิจปูนซีเมนต์ในช่วงไตรมาส 3/60 ความต้องการใช้ปูนในประเทศลดลง 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นการเติบโตจากการลงทุนของภาครัฐที่ยังเพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ความต้องการใช้ปูนยังคงลดลง 6%
แม้ในไตรมาส 4/60 จะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากการลงทุนภาครัฐที่มีความต่อเนื่อง และการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น แต่ก็เชื่อว่ายังไม่ได้ทำให้การใช้ปูนทั้งปีนี้เป็นบวกได้ โดยคาดว่าจะยังคงลดลงจากราว 39 ล้านตันในปีที่แล้ว ส่วนปีหน้าคาดว่าความต้องการใช้ปูนจะดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากภาครัฐที่มีสัดส่วนการใช้สูงถึง 30% ยังคงมีการลงทุนขนาดใหญ่ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ภาคเอกชนลงทุนตามมา
สำหรับธุรกิจปิโตรเคมีในไตรมาส 4/60 ยังมีทิศทางที่ดีขึ้นจากความต้องการใช้ที่ยังมีอยู่ทำให้วัฎจักรของธุรกิจยังดี แต่ยังต้องจับตาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นก็จะกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบและกดดันมาร์จิ้นของธุรกิจ ด้านธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ยังเติบโตต่อเนื่องทั้งในอาเซียนและในไทยที่ยังมีความต้องการใช้มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ทำให้การใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งมากขึ้น
นายรุ่งโรจน์ กล่าวอีกว่า ในปี 61 แผนธุรกิจของบริษัทยังคงเหมือนเดิมที่จะเน้นการลงทุนในอาเซียนจากฐานที่มีอยู่แล้ว ทั้งในเวียดนาม ,อินโดนีเซีย ,เมียนมา ,ลาว ที่เศรษฐกิจยังไปได้ดี ซึ่งจะทำให้มีการลงทุนต่อเนื่อง แต่จะเสริมในเรื่องของนวัตกรรมเพิ่มเติมด้วย
ด้านนายเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุนของ SCC กล่าวว่า ความคืบหน้าการลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม มูลค่า 5.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.88 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้การก่อสร้างอาจล่าช้าออกไป 1-2 เดือน จากเดิมที่จะเริ่มสร้างในต้นปี 61 เนื่องจากการจัดทำแผนเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการมีความล่าช้าจากเดิมที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงนี้ก็เลื่อนเป็นปลายปีนี้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเจรจากับเวียดนามซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนด้วย
สำหรับเงินลงทุนในปี 61 คาดว่าจะใช้อยู่ในกรอบ 5-6 หมื่นล้านบาท โดยราว 50% เป็นการลงทุนในปิโตรคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพในธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง และการลงทุนนวัตกรรมต่าง ๆ เป็นต้น
ขณะที่ปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีการใช้เงินลงทุนราว 5 หมื่นล้านบาท หลังในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ใช้เงินลงทุนไปแล้วราว 4 หมื่นล้านบาท โดยเงินลงทุนส่วนที่เหลือจะใช้ในไตรมาส 4/60 จะใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการซื้อกิจการขนาดไม่ใหญ่มากทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม วงเงินลงทุนในปีนี้ต่ำกว่าเดิมที่เคยประมาณการไว้ในช่วง 5-6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดความล่าช้าของโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม ทำให้ความต้องการใช้เงินชะลอออกไป
นายเชาวลิต กล่าวอีกว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนโครงการปิโตรเคมีที่มีมูลค่าเพิ่มในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นฐานการผลิตของบริษัทในปัจจุบัน คาดว่าจะสรุปความชัดเจนได้ในต้นปี 61 เบื้องต้นจะเป็นการลงทุนที่ช่วยต่อยอดฐานผลิตเดิมที่มีอยู่ ด้วยขนาดโครงการในระดับขนาดกลางถึงเล็ก
ส่วนการที่บริษัทได้สั่งซื้อถ่านหินจากสหรัฐฯ ราว 1.5 แสนตันเพื่อมาใช้ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของบริษัทที่ปกติจะมีการใช้ถ่านหินราว 5 ล้านตัน/ปีนั้น ถือเป็นการทดลองหาแหล่งเชื้อเพลิงใหม่ ๆ ที่สามารถแข่งขันกับการนำเข้าจากแหล่งเดิมในอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย โดยที่ยังมีประสิทธิภาพการใช้งานในระดับที่ดีได้
ณ วันที่ 30 ก.ย.60 เครือซิเมนต์ไทยมีทรัพย์สินรวมในอาเซียน นอกเหนือจากไทย คิดเป็นมูลค่า 1.43 แสนล้านบาท หรือราว 25% ของสินทรัพย์รวมของบริษัท