SMART เร่งหาออเดอร์จากภาครัฐ-เอกชนใน Q4/60 รุกขยายช่องทางโมเดิร์นเทรด-บุกตลาดกัมพูชา

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 6, 2017 13:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรังสี ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บมจ.สมาร์ทคอนกรีต (SMART) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดวัสดุก่อสร้าง-อิฐมวลเบา ในช่วงโค้งสุดท้ายปี 60 ยังทรงตัว แม้ภาครัฐมีการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออก แต่ก็ยังมีความล่าช้า และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ชะลอการเปิดโครงการใหม่

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของบริษัท ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 60 ยังคงเดินหน้าเพิ่มออร์เดอร์จากงานโครงการทั้งเอกชนและภาครัฐ ซึ่งบริษัทมีความพร้อมเข้าเสนองานทุกรูปแบบ อีกทั้งเร่งขยายช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรด ห้างค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง จากเดิมขายผ่านตัวแทนจำหน่าย ร้านค้าวัสดุก่อสร้างและขายโครงการ ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยกระจายสินค้าเข้าสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างแบรนด์ SMART ให้เป็นที่รู้จัก และยังเป็นการช่วยขยายตลาดต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่ SMART ยังไม่มีตัวแทนจำหน่ายสินค้า ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถวางจำหน่ายสินค้าได้ภายในสิ้นปีนี้

ส่วนตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV บริษัทได้รุกตลาดในประเทศกัมพูชามากขึ้น ซึ่งได้วางแผนจะไปออกบูธแนะนำสินค้า และวิธีการใช้งานกับกลุ่มเป้าหมายในประเทศกัมพูชาช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้ รวมทั้งเพิ่มตัวแทนจำหน่ายให้ครอบคลุมความต้องการใช้งาน เนื่องจากความต้องการในตลาดกัมพูชามีการขยายตัว ปัจจุบันมีออร์เดอร์สินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากพันธมิตรที่เป็นผู้จำหน่ายในประเทศกัมพูชา

ทั้งนี้ ผลประกอบการงวดไตรมาส 3/60 ปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 79.22 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 82.86 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 13.65 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นมากขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 7.48 ล้านบาท เนื่องมาจากบริษัทได้ลงทุนปรับปรุงซ่อมบำรุงเครื่องจักร เพื่อให้มีประสิทธิภาพและสภาพพร้อมใช้งาน

สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือนปี 60 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 231.34 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกันจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 235.13 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 61.92 ล้านบาท สาเหตุที่ผลประกอบการลดลง มาจากการชะลอตัวของโครงการภาครัฐและภาคเอกชน และเป็นช่วงฤดูฝน ทำให้ผู้ประกอบการเกิดการชะลอโครงการ ส่งมอบของได้ช้า ส่งผลให้ปริมาณการขายลดลงจากปีก่อน ต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำไรขั้นต้นและกำไรสุทธิของบริษัทลดลงและเกิดเป็นขาดทุนสุทธิจำนวนดังกล่าว ถึงแม้บริษัทจะบริหารควบคุมจัดการค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารให้ลดลงจากปีที่ผ่านมาได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ