โบรกเกอร์ต่างเชียร์ "ซื้อ"หรือ "ซื้อเก็งกำไร"หุ้น บมจ.ทีทีซีแอล(TTCL) คาดว่ามี Upside จากการเข้าร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในเมียนมาจะทำให้ได้รับงาน EPC ใหม่เข้ามาราว 6.5-8 หมื่นล้านบาท ขณะที่โครงการจะเริ่มก่อสร้างในปลายปี 61 รวมทั้งจะมีรายได้ประจำจากการซื้อขายไฟฟ้าเข้ามาตลอด 40 ปีด้วย
TTCL ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนและสัญญาเช่าที่ดินระยะยาวบนเนื้อที่ 815 เอเคอร์ หรือราว 2,000 ไร่ เป็นระยะเวลา 40 ปี กับรัฐบาลแห่งรัฐ Kayin (KSG) ในเมียนมา ทั้งนี้เพื่อลงทุนในโครงการและพัฒนาก่อสร้างโรงไฟฟ้า Ultra Supercritical Coal-fired Thermal Power Plant ขนาดกำลังผลิต 1,280 เมกะวัตต์ (MW) ที่รัฐ Kayin มูลค่าลงทุน 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 9.8 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ต้องติดตามการเซ็นสัญญา MOA กับรัฐบาลกลางของเมียนมาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) คาดจะเสร็จสิ้นในเดือน มี.ค.61 ขณะที่ในส่วนเงินลงทุนของบริษัท จะเป็นการระดมทนุโดยการนำ TTPHD ซึ่งเป็นบริษัทลูกเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย รวมถึงการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการหาพันธมิตรเข้าร่วมทุน
อย่างไรก็ตามด้านราคาหุ้น TTCL แม้จะปรับขึ้นไปรับปัจจัยบวกดังกล่าว แต่คาดว่ายังมีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้ต่อจากแรงกระตุ้นของโครงการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่
ราคาหุ้น TTCL ช่วงบ่าย อยู่ที่ 19.70 บาท เพิ่มขึ้น 1.55% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 0.22%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ ซื้อ 24.00 ทิสโก้ ซื้อ 23.80 เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ ซื้อเก็งกำไร 22.80 ทรีนีตี้ ซื้อเก็งกำไร 18.30
นางสาวเติมพร ตันติวิวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการที่ TTCL ประกาศร่วมทุนกับรัฐบาลท้องถิ่นรัฐ Kayin เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,280 เมกะวัตต์ ในสัดส่วน TTCL ถือหุ้น 95% และ KSG ถือหุ้น 5% รวมทั้งการเช่าที่ดิน 2,000 ไร่อายุ 40 ปี การก่อสร้างแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสละ 640 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าการพัฒนาเฟสที่ 1 จะใช้เวลา 4.5 ปี รวมการก่อสร้างทั้งหมด 5 ปี จึงได้ให้มูลค่าโรงไฟฟ้า 4 บาท/หุ้น รวมแล้วทำให้ราคาพื้นฐานของ TTCL มาอยู่ที่ 22.80 บาท ซึ่งระหว่างนี้ TTCL อยู่ระหว่างรอเซ็น Memorandum of Agreement (MOA) กับรัฐบาลกลางของเมียนมา ซึ่งคาดว่าจะเซ็นได้ภายในปีนี้ และจะเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ในเดือน มี.ค.61
สิ่งที่ยังต้องติดตามเรื่องต้นทุนการเงิน โดยโครงการนี้มีมูลค่าโครงการทั้งหมด 9.8 หมื่นล้านบาท โดยจะมาจากเงินกู้โครงการ (project finance) 3 ส่วน และส่วนทุน 1 ส่วน โดยในส่วนหนี้คาดว่า TTCL ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น น่าจะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารญี่ปุ่น ก็คาดว่าน่าจะได้ดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับต่ำ ขณะเดียวกันการจัดหาเงินในส่วนทุนมีทางเลือกจะนำบริษัท Toyo Thai Power Holding Pte.Ltd (TTPHD) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ,การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการหาพันธมิตรเข้าร่วมทุน
อย่างไรก็ตาม จากการที่ TTCL ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว ก็เชื่อว่าจะทำให้ TTCL ได้งานรับเหมาก่อสร้าง (EPC) ใหม่จากโครงการนี้ เป็นมูลค่า 6.5 หมื่นล้านบาทซึ่งทำให้งานในมือ (Backlog) สูงขึ้นด้วย
ส่วนผลประกอบการในปี 60 คาดว่า TTCL จะมีกำไรสุทธิจะลดลง 38% จากปีก่อน มาที่ 250 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 400 ล้านบาท เนื่องจาก TTCL เพิ่งจะเริ่มมีงานทยอยเข้ามาในปี 60 โดยในไตรมาส 2-3 ได้งานโรงงานปิโตรเคมีของบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และในไตรมาส 4 นี้ได้งานโรงงานปิโตรเคมีของบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) ที่เวียดนาม รวมแล้วปีนี้ได้งานใหม่ราว 2.5 หมื่นล้านบาท
ส่วนในปี 61 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 369 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% จากปี 60 โดยในปลายปี 61 จะได้งานใหม่จากงานก่อสร้างโรงไฟ้ฟ้าที่ร่วมทุนกับรัฐบาล Kayin ในเมียนมา จำนวน 6.5 หมื่นล้านบาท
"เชื่อว่าถ้างบออกมาอาจมีแรงขาย Take Profit อาจเล่นเก็งกำไรเป็นรอบ ๆ เพราะงบปี 60 ไม่ดี "นางสาวเติมพร กล่าว
นักวิเคราะห์จากบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า การที่ TTCL ลงนาม MOU เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,280 เมกะวัตต์ ที่รัฐ Kayin ดังกล่าว นับเป็นข่าวที่ดีกว่าคาด แม้ราคาหุ้นได้ตอบรับทางบวกมาก แต่เมื่อนำผลดีโครงการนี้ใส่เข้าไปในประมาณการ ก็พบว่าราคาหุ้นยังไม่ตอบรับข่าวดีทั้งหมด ในเรื่องผลดีจากรายได้การขายไฟฟ้าที่มีความสม่ำเสมอ (recurring income) ในอนาคตแล้ว ก็จะช่วยเสริมงานก่อสร้างในมือได้อีกมาก จากงานก่อสร้างที่ TTCL จะได้รับเพิ่มเข้ามา นั่นหมายถึงกำไรที่จะเพิ่มได้ในอนาคต ทำให้เชื่อว่าความคืบหน้าจากโครงการนี้จะเป็นแรงกระตุ้นราคาหุ้นต่อไปได้
สำหรับโครงการนี้ทาง TTCL ได้ศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) มาตั้งแต่ 5 เม.ย.60 ถือว่าการลงนาม MOU ครั้งนี้เร็วกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ที่จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2/61 สำหรับรายละเอียดของโครงการมีมูลค่า 9.8 หมื่นล้านบาท จะใช้เงินกู้ในสัดส่วน 75% ส่วนที่เหลือมาจากทุน ส่วนงานก่อสร้างทางด้าน EPC คาดว่าจะมีมูลค่าที่ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเป็นงานในส่วน TTCL ได้รับอยู่ที่ประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท ด้วยอัตรากำไรขั้นต้น 5% และใช้เวลาก่อสร้าง 2.5 ปี ทางด้านรายได้จากส่วนการขายไฟฟ้าจะมีอายุสัมปทานถึง 40 ปี อัตรากำไรประมาณ 15%
ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2/60 มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ 1.4 เท่า และเนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง ทาง TTCL วางแผนที่จะนำบริษัทย่อยคือ TTPHD ซึ่งทำธุรกิจไฟฟ้าในกลุ่ม TTCL เข้าระดมทุนผ่านตลาดทุน
พร้อมทั้งปรับเพิ่มคำแนะนำเป็น ซื้อ จากเดิมเต็มมูลค่า (Fully Valued) เมื่อนำผลดีโครงการนี้ใส่เข้าไปในประมาณการ ราคาพื้นฐานใหม่ปรับเพิ่มได้เป็น 24 บาท ด้วยวิธี SOP
บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 1,280 เมกะวัตต์ ที่รัฐ Kayin มีคืบหน้า โดยคาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างในปี 61 ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากรัฐบาลกลางเพื่อลงนาม MOA และ PPA ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนาม MOA ได้ภายปี 60 นี้ และ PPA ได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 61 โดยมีแผนจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงปลายปี 61
ส่วนมูลค่างานก่อสร้างของโรงไฟฟ้าที่รัฐ Kayin อยู่ที่ 1.8-2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 6.3-7 หมื่นล้านบาท ซึ่ง TTCL คาดว่าจะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเองทั้งหมด ก็จะส่งผลให้การรับรู้รายได้ชัดเจนตลอดช่วงปี 62-64
ภายใต้สมมติฐานเบื้องต้นหาก TTCL ถือหุ้นในสัดส่วนราว 30% จะมี Upside จากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่รัฐ Kayin ราว 9.80 บาท/หุ้น แนะนำ Trading Buy ที่ราคาเป้าหมาย 18.30 บาท
ส่วนในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่า TTCL จะมีรายได้ทรงตัวจาก Backlog เดิมในมือเป็นหลัก โดยอาจจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายไตรมาส 4 จากการรับรู้งานที่ลงนามใหม่ปีนี้ โดย TTCL คาดจะสามารถลงนามเพิ่มเติมได้อีกราว 470-570 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 1.5-1.9 หมื่นล้านบาท จากโครงการก่อสร้างในประเทศเวียดนามของกลุ่มปิโตรเคมี
ด้าน บล.ทิสโก้ ปรับประมาณการของ TTCL ขึ้นสะท้อนโรงไฟฟ้า Kayin ที่จะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 4/61 โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 23.80 บาท เพิ่มขึ้นจาก 20 บาท อ้างอิง PER ที่ 25.7 เท่า โดยยังไม่ได้รวมโครงการโรงไฟฟ้า Kayin ขนาด 1,280 เมกะวัตต์ ที่ 12.6 บาท (คาด TTCL ถือหุ้น 30%) อย่างไรก็ตามโครงการยังมีความเสี่ยงจากความล่าช้าในการก่อสร้าง, โครงการใหม่ที่น้อยกว่าคาด และต้นทุนโครงการที่เพิ่มขึ้น