ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ที่ระดับ “A" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของบริษัทที่ระดับ “A" ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ในการชำระคืนหนี้เงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ บางส่วนของบริษัทที่กำลังจะหมดอายุ
อันดับเครดิตสะท้อนถึงธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทที่มีพื้นฐานมั่นคง ตลอดจนความได้เปรียบจากการบูรณาการธุรกิจการตลาดเข้ากับธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ตำแหน่งทางการตลาดของบริษัทที่แข็งแกร่งในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน และการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากแผนการเติบโตของบริษัทซึ่งอาจเพิ่มภาระหนี้ให้แก่บริษัทได้
BCP ก่อตั้งในปี 2528 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2536 ผู้ถือหุ้นของบริษัท ณ เดือนกันยายน 2560 ประกอบด้วยกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ในสัดส่วน 14.84% สำนักงานประกันสังคม 13.49% กระทรวงการคลัง 9.98% และนักลงทุนทั่วไปซึ่งถือหุ้นในส่วนที่เหลืออีก 61.69% ธุรกิจหลักของบริษัทคือธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและการตลาด โดยบริษัทมีโรงกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ (Complex Refinery) ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครด้วยอัตรากำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณ 11% ของกำลังการกลั่นภายในประเทศทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทยังมีสถานีบริการน้ำมันจำนวน 1,082 แห่ง ณ เดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งดำเนินการภายใต้เครื่องหมายการค้า “บางจาก" อีกด้วย
ธุรกิจอื่นของบริษัทประกอบด้วยธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ณ เดือนกันยายน 2560 บมจ.บีซีพีจี (BCPG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้ามีกำลังการผลิตตามสัญญารวม 160 เมกะวัตต์ในประเทศไทยและญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศฟิลิปปินส์และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพที่ประเทศอินโดนีเซียซึ่งคิดเป็นกำลังการผลิต 172 เมกะวัตต์ตามสัดส่วนการลงทุนของบริษัทด้วย
ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพประกอบด้วยโรงงานผลิตไบโอดีเซลขนาดกำลังผลิต 810,000 ลิตรต่อวันและโรงงานผลิตเอทานอลขนาด 150,000 ลิตรต่อวัน โดยปัจจุบันธุรกิจนี้อยู่ระหว่างการควบรวมกิจการกับบริษัทอื่นที่ดำเนินการผลิตเอทานอลซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอลของบริษัทเป็น 500,000 ลิตรต่อวัน นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศฟิลิปปินส์อีกด้วยเช่นกัน
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 6,589 ล้านบาท โดยธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันคิดเป็นสัดส่วน 47% ของ EBITDA ทั้งหมด ในขณะที่ส่วนที่เหลือประกอบด้วยธุรกิจการตลาด (23%) ธุรกิจไฟฟ้า (23%) ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (4%) และธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ (3%)
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทจากผลการดำเนินการที่ดีของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและความได้เปรียบจากการบูรณาการธุรกิจการตลาดเข้ากับธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันซึ่งช่วยเพิ่มอัตรากำไรโดยรวมให้แก่ธุรกิจน้ำมัน ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทจะได้รับค่าการตลาดเพิ่มเติมจากค่าการกลั่น โดยโรงกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ของบริษัทสามารถกลั่นน้ำมันดิบเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปชนิดกลาง (Middle Distillate) เช่น น้ำมันดีเซลและน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินในสัดส่วนที่สูง ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้ค่าการกลั่นสูง
สำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันที่บริษัทกลั่นได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 นั้นประกอบไปด้วย น้ำมันดีเซล 51% น้ำมันเบนซิน 19% น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน 13% และน้ำมันเตา 12% จากสัดส่วนดังกล่าวบริษัทมีค่าการกลั่นพื้นฐาน (Base GRM) ที่ 6.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 ปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทยังอยู่ในช่วงของการปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อการปรับปรุงแล้วเสร็จก็จะช่วยให้โรงกลั่นมีค่าการกลั่นที่สูงขึ้น รวมทั้งเพิ่มความความยืดหยุ่นในการผลิต และเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจการตลาด
อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจการตลาดด้วย โดยบริษัทมียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี ซึ่งเพิ่มจาก 4,569 ล้านลิตรในปี 2555 เป็น 5,789 ล้านลิตรในปี 2559 ส่วนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 นั้นบริษัทก็มีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปถึง 3,044 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประมาณ 60% ของปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเป็นการจำหน่ายผ่านสถานีบริการน้ำมัน "บางจาก" ในขณะที่ส่วนที่เหลือเป็นการจำหน่ายโดยตรงให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม
บริษัทมีการดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดรวมถึงพัฒนาธุรกิจเสริมต่าง ๆ พร้อมทั้งปรับปรุงภาพลักษณ์สถานีบริการน้ำมันเพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปผ่านสถานีบริการน้ำมันอันเป็นช่องทางจำหน่ายที่ให้อัตรากำไรสูงสุดเมื่อเทียบกับช่องทางอื่น โดยปริมาณจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปผ่านสถานีบริการของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 223 ล้านลิตรต่อเดือนในปี 2555 เป็น 301 ล้านลิตรต่อเดือนในปี 2559 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 8% ต่อปี ส่วนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 นั้นปริมาณจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปผ่านสถานีบริการเท่ากับ 314 ล้านลิตรต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ปริมาณจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลให้สถานะทางการตลาดของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นจนทำให้บริษัทเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการภายในประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ตั้งแต่ปี 2557 ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 15%
ธุรกิจไฟฟ้าช่วยทำให้ EBITDA ของบริษัทมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ณ เดือนกันยายน 2560 ธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีกำลังการผลิตตามสัญญารวม 160 เมกกะวัตต์ซึ่งได้เปิดดำเนินงานแล้ว โดยส่วนใหญ่ประมาณ 130 เมกะวัตต์ตั้งอยู่ในประเทศไทย อีก 30 เมกะวัตต์ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น โครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทในประเทศไทยทั้งหมดได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตรา 8 บาทต่อหน่วยเพิ่มเติมจากค่าไฟฟ้าฐาน ในขณะที่โรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับบริษัทไฟฟ้าท้องถิ่น โดยมีอายุสัญญานาน 20 ปี และได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้า (Feed in Tariff -- FiT) ในอัตรา 36 - 40 เยนต่อหน่วย
นอกจากโรงไฟฟ้าที่บริษัทเป็นเจ้าของแล้ว บริษัทยังได้ใช้เงินประมาณ 13,051 ล้านบาทในเดือนพฤษภาคมและเดือนกรกฎาคม 2560 เพื่อซื้อหุ้น 40% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศฟิลิปปินส์ และ 33.3% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศอินโดนีเซีย การลงทุนนี้ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตตามสัดส่วนได้ประมาณ 172 เมกะวัตต์ โดยธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทมี EBITDA 2,600 ล้านบาทในปี 2559 และคาดว่าธุรกิจนี้จะสามารถสร้าง EBITDA ได้ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2560-2563 ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าการกลั่นของบริษัทลงได้
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ 86,823 ล้านบาทอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้น บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ 8.1% สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจการตลาด
ณ เดือนมิถุนายน 2560 บริษัทมีเงินกู้รวมจำนวน 36,521 ล้านบาท ในขณะที่โครงสร้างเงินทุนยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน (ปรับปรุงแล้ว) ที่ 47.6% ณ เดือนมิถุนายน 2560
ในช่วงปี 2560-2563 สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA อยู่ในช่วง 11,000-15,000 ล้านบาทต่อปีจากการมีปริมาณน้ำมันดิบเข้ากลั่นจำนวน 110,000-115,000 บาร์เรลต่อวันและมีค่าการกลั่นพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6.5-7.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งสะท้อนถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นของบริษัท คาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและการลงทุนสำหรับโครงการที่มีภาระผูกผันในระหว่างปี 2560-2563 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 66,000 ล้านบาท ซึ่งได้รวมการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลมและโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 ไว้แล้ว
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจาก EBITDA และแผนการลงทุนแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในช่วง 50%-55% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งยังไม่ได้พิจารณารวมไปถึงแผนการเพิ่มทุนจากการนำธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจการตลาดของบริษัทเอาไว้ได้ ในขณะที่การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จะสร้างรายได้ที่ต่อเนื่องให้แก่บริษัทและจะช่วยลดความผันผวนของธุรกิจกลั่นน้ำมันและธุรกิจการตลาดลงได้บางส่วน
ปัจจัยที่มีผลในเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท ได้แก่ การที่บริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดได้อย่างมากและสม่ำเสมอจากการกระจายธุรกิจโดยที่ไม่ส่งผลกระทบทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ปัจจัยที่มีผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นจากการที่โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากจากการลงทุนขนาดใหญ่โดยการก่อหนี้เป็นหลัก หรือการที่บริษัทประสบผลขาดทุนอย่างมากจากการดำเนินงานหรือจากการลงทุน