(แก้ไข) SCN คาดปริมาณขายธุรกิจ iCNG ปีนี้โต 30% ,รุกผลิตก๊าซฯจากแหล่งปิโตรเลียมพร้อมส่งขายมี.ค.61 สร้างรายได้ 3 ลบ./เดือน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 7, 2017 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรรณธนะ มงคลกาญจนสิริ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) คาดว่าธุรกิจก๊าซธรรมชาติอัดสำหรับอุตสาหกรรม (iCNG) ของบริษัทในปีนี้จะมีปริมาณขายเติบโตราว 30% จากปีที่แล้ว หลังโครงการได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงธุรกิจดังกล่าวยังสร้างความคุ้มค่าให้กับภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับน้ำมันราคาน้ำมันเตาซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม ขณะที่ราคาน้ำมันในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้น

โดยล่าสุดบริษัทได้เข้าลงทุนเพื่อจัดหาก๊าซฯสำหรับอุตสาหกรรม จากหลุมผลิตในแหล่งปิโตรเลียมวิเชียรบุรีใน จ.เพชรบูรณ์ ของบริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นเจ้าของสัมปทาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งอุปกรณ์และคาดว่าระบบทุกอย่างจะแล้วเสร็จพร้อมจ่ายก๊าซฯในเดือน ธ.ค.60 ก่อนจะเริ่มจัดส่งก๊าซฯให้กับลูกค้า คือบริษัท บางกอกกล๊าซ จำกัด ในจ.ขอนแก่น ช่วงเดือนมี.ค.61 ในปริมาณ 5.2 ตัน/วัน คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทราว 3 ล้านบาท/เดือน และมีจุดคืนทุนไม่เกิน 5 ปี ขณะที่ประเมินว่าหลุมผลิตแห่งนี้จะมีปริมาณสำรองก๊าซฯที่จะผลิตและจัดส่งให้ลูกค้าได้เป็นเวลาประมาณ 10 ปี

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ผลิตปิโตรเลียมอีก 3-4 แห่ง ซึ่งรวมถึงแหล่งปิโตรเลียม S1 ในกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งมีการผลิตปิโตรเลียมพื้นที่จ.กำแพงเพชร และสุโขทัยด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในภายในครึ่งหลังปี 61

"จะสรุปได้เมื่อไหร่ก็ขึ้นกับเจ้าของหลุมจะให้ตัวเลขรายละเอียดของปริมาณก๊าซฯเท่าไหร่ ภายในไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ปีหน้าน่าจะได้ข้อสรุปว่ามีปริมาณก๊าซฯเท่านี้ ก็จะเริ่มลงทุนสร้างอาคารอัดต่าง ๆ"นายวรรณธนะ กล่าว

อนึ่ง การผลิตน้ำมันดิบจะมีส่วนของก๊าซธรรมชาติปะปนมาด้วย ซึ่งจะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตในบางส่วน ขณะที่ส่วนที่เหลือจะเผาทิ้งเพื่อความปลอดภัย ซึ่งกระทรวงพลังงานได้สนับสนุนให้เกิดการนำก๊าซฯ ที่เหลือใช้ดังกล่าวกลับมาใช้ประโยชน์ โดยที่ผ่านมามีการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า ,ผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ,ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการทอดผลิตภัณฑ์ทางเกษตร เป็นต้น ขณะที่ในพื้นที่แหล่งวิเชียรบุรีนี้ นับเป็นโครงการแรกที่จะนำก๊าซฯที่จำเป็นต้องเผาทิ้งมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบของการทำ iCNG

นายวรรณธนะ กล่าวว่า การเข้าไปลงทุนในแหล่งผลิตปิโตรเลียมเพื่อนำก๊าซฯเหลือใช้ของแหล่งปิโตรเลียมมาผลิตนั้น นับเป็นการลงทุนครั้งแรกของบริษัท จากก่อนหน้านี้การลงทุนในธุรกิจ iCNG จะเป็นการซื้อก๊าซฯเข้ามาผลิตเอง ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าหลักในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ,อุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมหนัก โดยธุรกิจ iCNG นับเป็นหนึ่งในธุรกิจของบริษัทนอกเหนือจากธุรกิจสถานีบริการก๊าซธรรมชาติธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) และการให้บริการระบบ NGV ,ธุรกิจขนส่งก๊าซธรรมชาติ ,ธุรกิจติดตั้งซ่อมบำรุง รวมถึงจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

สำหรับธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุปกรณ์นั้น ปัจจุบับริษัทได้พัฒนาถังคอมโพสิตบรรจุก๊าซธรรมชาติอัด Type 4 เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานก๊าซธรรมชาติ ทั้งภาคการบริการและระบบการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคยานยนต์ให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น เนื่องจากมีน้ำหนักเบาและมีความแข็งแรง ตลอดจนมีความทนทานต่อแรงดันค่อนข้างสูง

ปัจจุบัน SCN มีความร่วมมือกับบริษัท โซจิตสึคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเทรดดิ้งจากญี่ปุ่น เพื่อร่วมทำตลาดของถัง Type 4 ซึ่งคาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนพ.ย.นี้ จะมีการกำหนดขนาดและราคาขาย เบื้องต้นคาดว่าราคาขายจะต่ำกว่าการนำเข้าราว 20-30% ขณะที่ปัจจุบันมีคำสั่งซื้อเข้ามาแล้วราว 1,000 ถัง จากในเวียดนามและอินโดนีเซีย คาดว่าจะเริ่มส่งของได้ในปี 61

การผลิตถัง Type 4 ดังกล่าวเป็นการผลิตจากในพื้นที่โรงงานที่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี เบื้องต้นมีกำลังการผลิตราว 3,000 ถัง/ปี แต่ด้วยคำสั่งซื้อที่มีเข้ามามาก ทำให้บริษัทวางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็นเท่าตัวภายในไตรมาส 2/61 และถ้าหากได้รับการตอบรับดีอาจจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3 เท่าในอนาคต

สำหรับในส่วนของการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ลดแรงดันก๊าซธรรมชาติอัด (PRS) นั้น ปัจจุบันได้รับความสนใจจากตลาดค่อนข้างมาก โดยสามารถส่งออกไปจำหน่ายในเวียดนามแล้วราว 12 ถังเมื่อปีที่แล้ว และยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ