ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ Customers’ Life Platform of Choice แพลตฟอร์มหนึ่งเดียวที่ลูกค้าเลือกเพื่อตอบโจทย์ทุกด้านของชีวิต เตรียมทุ่มงบไอทีปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท ก้าวสู่ยุคดิจิทัลทุกรูปแบบและเป็นอันดับหนึ่งดิจิทัล แบงกิ้งต่อเนื่อง ตั้งเป้าปี 61 เพิ่มฐานลูกค้าเป็น 15.1 ล้านราย K PLUS 10.8 ล้านราย สินเชื่อรวมโต 5-7% สอดรับเศรษฐกิจไทยโต 3.7% และเอ็นพีแอล 3.3-3.4%
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ KBANK เปิดเผยว่า ปัจจัยความท้าทายต่าง ๆ นำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ของธนาคาร ซึ่งยังคงยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centricity) พร้อมกำหนดเป้าหมายการเป็น Customers’ Life Platform of Choice หรือ แพลตฟอร์มหนึ่งเดียวที่ลูกค้าเลือกเพื่อตอบโจทย์ทุกด้านของชีวิต ด้วยการพัฒนาจุดแข็งจากการเป็นอันดับหนึ่งในดิจิทัล แบงกิ้ง
พร้อมทั้งกำหนดกลยุทธ์การให้บริการ 3 ด้าน ได้แก่ (1) ให้บริการมากกว่าความเป็นธนาคาร (Beyond Banking) (2) ลูกค้าไว้วางใจ (Embedded Trust) และ (3) ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ครอบคลุมทุกที่ทุกเวลา (Everyone, Everyday, Everyway, Everywhere
โดยกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ เคบีทีจี จะเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับธนาคารพัฒนาบริการ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ประทับใจและมีชีวิตที่ดีขึ้น (Customer-Centric Technology for Better Life) โดยใช้งบประมาณพัฒนาด้านไอทีปีละประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาที่สำคัญในปี 2561 ได้แก่
การพลิกโฉม K PLUS จากโมบายแบงกิ้งสู่การเป็น Lifestyle Platform Banking ที่จะตอบสนองการใช้งานของลูกค้าทุกกลุ่ม ทำให้บริการผ่านแอปพลิเคชันกลุ่ม K PLUS มีมิติบริการที่ครอบคลุมหลากหลาย เช่น เมนูพรวนฝันที่นำเสนอรายการสินค้าเพื่อตอบสนองการใช้งานช้อปปิ้งออนไลน์
แมชชีน คอมเมิร์ช (Machine Commerce) เป็นการนำเทคโนโลยี Machine Learning มาวิเคราะห์และพัฒนาแนวทางการนำเสนอบริการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละราย รวมทั้งการให้ข้อมูลการตลาดแบบเจาะจงเป้าหมายผ่านเมนู Mobile Life PLUS บน K PLUS
เมนูโอนเงินข้ามประเทศผ่าน K PLUS (Low-Value Remittance) ในปี 61 จะเป็นครั้งแรกที่ลูกค้าธนาคารของไทย สามารถทำรายการโอนเงินไปต่างประเทศด้วยตัวเอง ทางสมาร์ทโฟนผ่าน K PLUS ไปยังผู้รับเงินปลายทางกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ในจีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สิงคโปร์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย และกลุ่มสหภาพยุโรป เป็นการเปิดมิติใหม่ของการโอนเงินรายย่อยไปต่างประเทศ
การเสนอสินเชื่อด้วยแมชชีน เลนดิ้ง (Machine Lending) เป็นการนำเทคโนโลยี Machine Learning มาวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้า เพื่อประเมินความเสี่ยงและคาดการณ์ความต้องการวงเงินสินเชื่อ และนำเสนอให้แก่ลูกค้าก่อนที่ลูกค้าจะขอ ทั้งในกลุ่มลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ
การวางหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนบล็อกเชน (Enterprise Letter of Guarantee on Blockchain) ที่ธนาคารกสิกรไทยพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งในปี 61 จะมีการขยายฐานลูกค้าผู้ใช้งานเพิ่มอีก 7-10 บริษัท และคาดว่าจะมีสถาบันการเงินเข้ามาเชื่อมต่อระบบอีก 4-5 แห่ง
บริการหักบัญชีและชำระดุลระบบสากล (Clearing and Settlement) ผ่านบล็อกเชน ธนาคารกสิกรไทย เป็นหนึ่งในธนาคารหัวหอกจากหลายประเทศทั่วโลกได้ร่วมกับไอบีเอ็มพัฒนาบริการ เพื่อให้ธุรกิจทั่วโลกสามารถทำสัญญาและโอนเงินระหว่างประเทศได้รวดเร็วเกือบเรียลไทม์ ช่วยให้ทราบสถานะธุรกรรมหักบัญชี และสามารถชำระดุลจากการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางได้
นอกจากนั้น ธนาคารสร้างพันธมิตรในระบบนิเวศดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกเหนือจากการตั้งทีมงาน Digital Partnership ภายในธนาคาร และกลุ่มบริษัท KBTG แล้ว ยังมีบริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด ทำหน้าที่เข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพ เพื่อแสวงหานวัตกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของธนาคารและนำมาต่อยอดการให้บริการ ด้วยวงเงินลงทุนเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท โดยปี 60 ได้ลงทุนไปแล้ว 250 ล้านบาท เป็นการลงทุนตรงในธุรกิจสตาร์ทอัพ 2 ราย และลงทุนผ่าน VC Fund 2 กองทุน
สำหรับปี 61 บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล ตั้งเป้าวงเงินลงทุนเพิ่มประมาณ 200-300 ล้านบาท เน้นกลุ่มสตาร์ทอัพที่เสริมศักยภาพของผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร ซึ่งจะรวมถึงเทคโนโลยี AI และ Blockchain ประมาณ 4 ราย และการลงทุนผ่าน VC Fund จำนวน 1 กองทุน