ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ที่ระดับ “AA-"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทจากการเป็นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ตลอดจนชื่อเสียงของกลุ่มโรงพยาบาลที่เป็นที่ยอมรับและรู้จักเป็นอย่างดี เครือข่ายโรงพยาบาลที่กว้างขวางและแข็งแกร่งของบริษัท รวมถึงคณะผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่มีความสามารถและมากประสบการณ์
การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัทและความเสี่ยงทางด้านการเงินที่อยู่ในระดับปานกลางด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพทั้งจากผู้ประกอบการภายในประเทศและต่างประเทศ ภาระหนี้ของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนในโครงการ BDMS Wellness Clinic และความต้องการใช้เงินลงทุนจำนวนมากเพื่อขยายกิจการของบริษัท
BDMS เป็นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริษัทเน้นการรักษาในระดับตติยภูมิและได้ขยายฐานการรักษาไปยังระดับทุติยภูมิในพื้นที่ภูมิภาคบางส่วนมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันบริษัทมีเครือข่ายโรงพยาบาลทั้งหมด 45 แห่งทั่วประเทศ แบรนด์โรงพยาบาลหลัก ๆ ของบริษัทจำนวน 5 แบรนด์เป็นที่รู้จักอย่างดีในกลุ่มคนไทย คือ โรงพยาบาลกรุงเทพ (21 แห่ง) โรงพยาบาลสมิติเวช (6 แห่ง) โรงพยาบาลบีเอ็นเอช (1 แห่ง) โรงพยาบาลพญาไท (5 แห่ง) และโรงพยาบาลเปาโล (5 แห่ง) ส่วนโรงพยาบาล 2 แห่งในประเทศกัมพูชาดำเนินงานภายใต้ชื่อ “Royal International Hospital" นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงพยาบาลอีก 5 แห่งที่ดำเนินงานภายใต้ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลท้องถิ่นด้วย
ณ เดือนมิถุนายน 2560 บริษัทมีความสามารถในการให้บริการผู้ป่วยในทั้งสิ้น 5,852 เตียง โดยฐานลูกค้าของบริษัทครอบคลุมกลุ่มคนไข้ที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงระดับสูงในทำเลที่หลากหลาย ทั้งนี้ รายได้จากผู้ป่วยไทยที่มาใช้บริการคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% และผู้ป่วยต่างชาติ 30%
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทสะท้อนความสามารถในการให้บริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมฐานลูกค้าที่กว้างขวางในทำเลที่ตั้งที่หลากหลาย รวมทั้งแบรนด์โรงพยาบาลที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี โดยความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากการมีเครือข่ายระบบส่งต่อผู้ป่วยที่แข็งแกร่งและเป็นแหล่งรวมบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดจากการใช้บริการห้องปฏิบัติการ ตลอดจนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์หลัก ๆ ร่วมกันในกลุ่มอีกด้วย
บริษัทยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจะมีโรงพยาบาลในเครือรวม 50 แห่งภายในปี 2563 ในขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างการยกระดับโรงพยาบาลหลัก 9 แห่งในหลายภูมิภาคของประเทศไทยและประเทศกัมพูชาเพื่อให้เป็นศูนย์การแพทย์แห่งความเป็นเลิศ หรือ Centers of Excellence (COE) ซึ่งจะเพิ่มการรักษาโรคขั้นสูงที่ซับซ้อนเพื่อรองรับผู้ป่วยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น
บริษัทยังอยู่ระหว่างการขยายโรงพยาบาลกรุงเทพสำนักงานใหญ่ภายใต้ชื่อโครงการ Phoenix Project ซึ่งจะให้บริการทางการแพทย์เฉพาะทาง เช่น ศูนย์ประสาทวิทยา ศูนย์กระดูกสันหลัง และศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการศูนย์สุขภาพครบวงจรภายใต้ชื่อ “BDMS Wellness Clinic" เพื่อรองรับความต้องการในด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและการฟื้นฟูสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย
ความเสี่ยงทางด้านการเงินที่อยู่ในระดับปานกลางของบริษัทเป็นผลมาจากการมีผลการดำเนินงานที่ดี การมีกระแสเงินสดที่มั่นคงสม่ำเสมอ และการมีโครงสร้างหนี้สินต่อทุนที่อยู่ในระดับปานกลาง ในปี 2559 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจโรงพยาบาลจำนวน 65,237 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากการเติบโตของจำนวนคนไข้ ตลอดจนระดับความรุนแรงของโรคและค่าบริการที่สูงขึ้น รวมถึงการรวมรายได้จากกิจการโรงพยาบาลที่ควบรวมเข้ามา สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 รายได้จากธุรกิจโรงพยาบาล 32,752 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเป็นผลมาจากความรุนแรงของโรคและค่าบริการที่สูงขึ้นเป็นหลักมากกว่าจำนวนคนไข้ ทั้งนี้ ปริมาณผู้ป่วยนอกมีจำนวน 26,056 คนต่อวัน ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยในลดลง 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 3,471 เตียงต่อวัน
อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ลดลงเล็กน้อยจาก 21.10% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 20.52% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการมีค่าใช้จ่ายด้านแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการยกระดับโรงพยาบาล 9 แห่งให้เป็น COE ทั้งนี้ บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่สม่ำเสมอโดยอยู่ที่ 6,102 ล้านบาทสำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2560
ในช่วงปี 2560-2562 สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตในอัตราเฉลี่ยอย่างน้อย 5% ต่อปี โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการปรับราคาค่ารักษาพยาบาลและความซับซ้อนของโรค รวมทั้งการเติบโตของจำนวนผู้ป่วยและโรงพยาบาลแห่งใหม่ในเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น บริษัทมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 20%-21% และมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ 11,000-13,000 ล้านบาทต่อปี
ฐานะโครงสร้างเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทอ่อนตัวลงจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นแต่ก็อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ที่อันดับเครดิตปัจจุบัน ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 31,897 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 41,269 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2560 โดยมีสาเหตุจากการลงทุนในโครงการ BDMS Wellness Clinic บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ 41.18% ณ เดือนมิถุนายน 2560 ทริสเรทติ้ง
คาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะอยู่ในระดับสูงต่อไปโดยพิจารณาจากแผนการลงทุนของบริษัทรวมประมาณ 24,500 ล้านบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ถึงปี 2562 และคาดหมายว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ 38%-41% ในช่วงเวลาดังกล่าว สภาพคล่องของบริษัทอ่อนตัวลงตามภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงจาก 38.95% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 29.44% (ปรับให้เป็นอัตราส่วนเต็มปีโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 โดยคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ 27%-32% ในช่วงปี 2560-2562
ในระยะ 24 เดือนข้างหน้าทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีแหล่งสภาพคล่องที่สูง เมื่อพิจารณาถึงความต้องการใช้และแหล่งเงินทุน โดยแหล่งสภาพคล่องของบริษัทจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดหมายว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 11,000-13,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ เดือนมิถุนายน 2560 อีกจำนวน 6,053 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทมีภาระทางการเงินที่ถึงกำหนดชำระรวมประมาณ 5,500 ล้านบาท และแผนการลงทุนรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังจ่ายเงินปันผลที่ประมาณ 50% ของกำไรสุทธิต่อปีอีกด้วย
ทั้งนี้ บริษัทยังมีเงินลงทุนใน บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) และ บมจ.โรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) ซึ่งมีมูลค่ายุติธรรมรวมอยู่ที่ 45,525 ล้านบาท ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ที่เสริมความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทอีกด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" ของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการสะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะคงรักษาสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งและผลประกอบการที่เข้มแข็ง รวมทั้งคงไว้ซึ่งความเสี่ยงทางการเงินในระดับปานกลางเอาไว้ได้
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันให้ต้องปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือบริษัทมีการลงทุนโดยการก่อหนี้เชิงรุกจนทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงกว่า 45% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ต่ำกว่า 30% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ในขณะที่โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทสามารถเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทปรับดียิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ