โบรกเกอร์ แนะ"ซื้อ"บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หลังมองผลการดำเนินงานผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 3/60 ที่ได้ตั้งด้อยค่าสินทรัพย์จำนวนมากจนทำให้พลิกขาดทุนสุทธิ แต่หลังจากนี้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/60 และต่อเนื่องถึงในปี 61 มีแนวโน้มที่ฟื้นตัว ตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เติบโต
ขณะที่ด้านปริมาณการผลิตจะถูกจำกัดจากการที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันของโลกมีแนวโน้มจะยืดเวลาการลดกำลังการผลิตออกไปจนถึงปลายปี 61 จากเดิมจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค.61 และแม้จะมีปริมาณ shale oil ออกมามากขึ้นก็ตาม แต่เชื่อว่าด้วยความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะสามารถชดเชยผลกระทบดังกล่าวได้ อีกทั้ง PTTEP ยังสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตต่อหน่วยให้ลดลงมาได้จนอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะช่วยหนุนผลการดำเนินงานให้ดีขึ้นต่อเนื่องด้วย
นอกจากนี้ PTTEP ยังมี Upside จากโอกาสจะเป็นผู้ชนะประมูลปิโตรเลียมในโครงการบงกชที่เป็นเจ้าของสัมปทานเดิม ซึ่งจะทำให้มีปริมาณขายและปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลเตรียมจะเปิดประมูลทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 ในช่วงปีหน้า รวมถึงโอกาสการเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติม จากเงินสดในมือที่มีอยู่กว่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1.3 แสนล้านบาท
ขณะที่ราคาหุ้นยัง Laggard เมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มพลังงาน และดัชนี SET โดยนับตั้งแต่ต้นปีราคาหุ้น PTTEP ปรับลดลงราว 2% มาอยู่ที่ 94.25 บาท ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้นราว 11%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 102 เอเซีย พลัส ซื้อ 118 แอพเพิล เวลธ์ ซื้อ 101 ซีไอเอ็มบีฯ ซื้อ 110 ธนชาต ซื้อ 107 ไอร่า ซื้อลงทุน 102 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อเก็งกำไร 102 หยวนต้าฯ ซื้อเก็งกำไร 108
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ PTTEP ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 3/60 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 8.68 พันล้านบาท รับผลการตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท แต่ในด้านของกำไรปกติสามารถทำได้ราว 9.6 พันล้านบาท ซึ่งนับว่าดีกว่าคาด ขณะที่มองแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 4/60 จะดีขึ้นจากที่ไม่ต้องตั้งสำรองฯ และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ราว 50-55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้คาดว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปีนี้จะสูงกว่าในปีที่แล้ว และจะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องในปีหน้า จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจะช่วยหนุนความต้องการใช้น้ำมันให้ฟื้นตัวตามขึ้นมาด้วย
ส่วนด้านของปริมาณการผลิตนั้นคาดว่าจะยังถูกจำกัดจากการที่คาดการณ์ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และนอกโอเปก จะขยายเวลาการลดกำลังการผลิตออกไปอีกเป็นสิ้นปี 61 โดยยังต้องจับตาการประชุมโอเปกวันที่ 30 พ.ย.นี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แม้จะช่วยหนุนให้การผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าด้วยความต้องการใช้ที่สูงขึ้นจะช่วยรองรับปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้
นายกิติชาญ กล่าวว่า แม้ PTTEP จะไม่สามารถควบคุมทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ แต่ PTTEP สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตต่อหน่วย ให้อยู่ในระดับต่ำที่ราว 29 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งจะช่วยหนุนผลการดำเนินงานให้ดีขึ้นได้ โดยประเมินกำไรปกติของ PTTEP ในปี 61 อยู่ที่ 3.96 หมื่นล้านบาท เติบโตราว 29% จากปีนี้
นอกจากนี้ PTTEP ยังมี Upside จากการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 ทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ โดย PTTEP มีโอกาสที่จะได้ต่อการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งบงกชที่เป็นเจ้าของสัมปทานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะน่าจะรู้ผลในช่วงไตรมาส 2/61
"ไตรมาส 3 น่าจะแย่สุดของปีนี้ และไตรมาส 4 ก็จะดีขึ้นจากไม่ต้องตั้งสำรอง...ราคาเป้าหมายที่ 110 เป็นราคาปลายปีหน้า ซื่งราคาขณะนี้ยังซื้อได้จาก downside ที่จำกัด"นายกิติชาญ กล่าว
นางสาวนลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ ผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปกติของ PTTEP ในปีนี้เพื่อสะท้อนต้นทุนต่อหน่วยที่ลดต่ำกว่าสมมติฐานที่กำหนดไว้ที่ 31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่งวด 9 เดือนแรกของปีนี้ทำต้นทุนเฉลี่ยได้ที่ 28.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
พร้อมทั้งปรับประมาณการกำไรสุทธิในปี 60 เพื่อสะท้อนรายการพิเศษต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ เช่น การตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ฯ และผลประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่คาดว่ากำไรปกติจะยังเติบโตต่อเนื่องอีก 24.7% ในปี 61 จากสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาที่ 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
สำหรับในไตรมาส 4/60 คาดว่า PTTEP จะมีกำไรปกติดีขึ้นจากไตรมาส 3/60 ตามราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวขึ้นในทิศทางเดีวกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อีกทั้งในไตรมาสนี้จะมีแหล่งก๊าซฯหลายโครงการที่ปรับราคาขายประจำปีสะท้อนราคาน้ำมันช่วงขาขึ้นในงวดครึ่งแรกปีนี้ และปริมาณขายมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นจากไตรมาส 3/60 เนื่องจาก บมจ.ปตท.(PTT) ส่งสัญญาณกลับมารับก๊าซฯในอ่าวไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ ระยะยาวยังคงมุมมองบวกต่อทิศทางราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และ PTTEP ก็ยังให้อัตราผลตอบแทนปันผลในระดับที่ดีเฉลี่ยกว่า 4% ต่อปี
ด้านบทวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่ายังคงคำแนะนำ"ซื้อเก็งกำไร"หุ้น PTTEP แม้ว่า PTTEP จะรายงานผลขาดทุนสุทธิกว่า 8.7 พันล้านบาทในไตรมาส 3/60 จากการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ แต่ก็เป็นสิ่งที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว ขณะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจะส่งผลเชิง Sentiment และแนวโน้มกำไรในไตรมาส 4/60 มีโอกาสเติบโตดี โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยตั้งแต่ต้นไตรมาส 4/60 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเฉลี่ย 50.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 3/60 สะท้อนปัญหาโอเวอร์ซัพพลายที่คลายตัวลงจากความร่วมมือของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม ได้ปรับประมาณการกำไรสุทธิของ PTTEP ในปีนี้ลง 26.6% มาที่ 2.07 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.2% จากปีก่อน จากการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ แต่ก็ได้ปรับประมาณการกำไรปกติขึ้นเล็กน้อยจากการบริหารต้นทุนที่ดีกว่าที่คาด ขณะที่ได้ปรับประมาณการกำไรปี 61 ขึ้นเล็กน้อยสะท้อนแผนการควบคุมต้นทุนที่ดี นอกจากนี้ราคาหุ้น PTTEP นับตั้งแต่ต้นปียัง Laggard จากกลุ่มพลังงานด้วย
บล.ไอร่า ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผลการดำเนินงานของ PTTEP ในช่วงไตรมาส 4/60 จะยังคงแข็งแกร่งจากราคาก๊าซฯที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบดูไบขึ้นมาอยู่ที่ 58 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 ปี 3 เดือน โดยตลาดยังคงจับตาเกี่ยวกับการร่วมมือของกลุ่มโอเปกในการลดกำลังการผลิตต่อไปในปี 61
ส่วนผลการดำเนินงานของ PTTEP ในปี 61 คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นตามราคาก๊าซฯและราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างรอการเข้าประมูลแหล่งผลิต โดยเฉพาะแหล่งบงกชที่ PTTEP เป็นเจ้าของสัมปทานเดิม และการเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติม จากเงินสดที่มีอยู่ในมือกว่า 1.3 แสนล้านบาท