นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คาดว่าแนวโน้มกำไรของธนาคารในปี 61 จะมีปัจจัยกดดันทางด้านกฏระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เข้มงวดมากขึ้น จากการควบคุมด้านการคิดอัตราค่าธรรมเนียมการขายผลิตประกันผ่านช่องทางธนาคารอาจกดดันรายได้ค่าธรรมเนียมให้ไม่สามารถเติบโตได้ในปีหน้า โดยรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านช่องทางธนาคารของ KBANK ในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมหลักที่ช่วยผลักดันให้ผลการดำเนินงานของธนาคารมีการเติบโตได้ดี
อีกทั้งการสนับสนุนการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็คทรอนิกส์ เช่น บริการพร้อมเพย์ และบริการชำระเงินผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด ส่งผลกระทบต่อค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมในการโอนและการชำระเงินผ่านธนาคารให้ลดลงด้วยเช่นกัน และมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ที่ ธปท.กำหนดให้ทุกธนาคารเริ่มเปลี่ยนแปลงการบันทึกบัญชี อาจจะมีผลทำให้ต้องตั้งสำรองบางรายการเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของการตั้งสำรองฯในปี 61 ของธนาคารคาดว่าจะลดลงจากปีนี้ที่คาดว่าอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปีหน้ามีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น โดยคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3.3-3.4% และอัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (coverage ratio) ในปีหน้าจะยังอยู่ที่ระดับ 140%
“ปีหน้ามองว่าการทำธุรกิจแบงก์จะยากขึ้น ด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆของทางการที่มีความเข้มงวดมากขึ้น ทำให้การหารายได้ของธนาคารก็ต้องเปลี่ยนจากเดิมที่มาจากแบงก์เอสชัวรันส์ และ ค่าธรรมเนียมการโอนการชำระเงินที่เป็นรายได้หลัก โดยตอนนี้ธนาคารก็ต้องเน้นคุยกับพันธมิตรในการหาผลิตภัณฑ์ และหาเงินฝากที่มีต้นทุนต่ำเพื่อเวลาไปปล่อยกู้จะทำให้มีส่วนต่างมากขึ้น"นางสาวขัตติยา กล่าว
ส่วนในปี 60 ธนาคารคาดว่ากำไรจะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ระดับ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งธนาคารยังถูกกดดันจากอัตราค่าธรรมเนียมที่ลดลง และการตั้งสำรองฯยังอยู่ในระดับสูง โดยธนาคารคาดว่าการตั้งสำรองไนไตรมาส 4/60 จะอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท จาก 9 เดือนตั้งสำรองฯไปแล้ว 3.7 หมื่นล้านบาท
ด้านนายสุวัตน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ KBANK เปิดเผยว่า สินเชื่อรายใหญ่ปี 61 จะเติบโต 5-7% จากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตที่ 4-6% หลังจาก 9 เดือนเกินเป้าหมายไปแล้ว ซึ่งการที่สินเชื่อรายใหญ่เติบโตได้ดีมาจากการลงทุนภาครัฐ แต่ธนาคารยังมีกลุ่มธุรกิจที่ให้ความระมัดระวังในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อเป็นรายธุรกิจ โดยดูจากผลการดำเนินงาน โดยเฉพาะธุรกิจที่มีผลดำเนินงานเติบโตมากกว่า 100% ซึ่งธนาคารมองว่ามีความเสี่ยงมากกว่าธุรกิจที่มีผลดำเนินงานเติบโตตามภาวะอุตสาหกรรมในขณะนั้นๆ
สำหรับการประมูลคลื่นสัญญาณความถี่ใหม่ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีการเปิดประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ในปี 61 นั้น ธนาคารมีความพร้อมที่จะสนับสนุนวงเงินค้ำประกันสำหรับผู้ประกอบการมือถือทั้ง 3 ราย ทั้งบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) หากต้องการเข้าร่วมประมูล
โดยธนาคารมองว่าธุรกิจสื่อสารมีแนวโน้มการเติบโต เนื่องจากมีความจำเป็นที่ประชาชนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และมีจำนวนคู่แข่งที่น้อยราย อีกทั้งบริษัททั้ง 3 รายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีฐานลูกค้าจำนวนมาก และมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้เจรจากับลูกค้าอยู่ตลอดเวลา
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ KBANK เปิดเผยถึงกรณีบมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ซึ่งมีมูลหนี้กับธนาคาร 3.8 พันล้านบาท ธนาคารได้มีการตั้งสำรองเต็มจำนวนไปแล้ว โดยคาดว่าแผนฟื้นฟูกิจการของ EARTH จะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 61 แต่ต้องขึ้นกับดุลยพินิจของศาลล้มละลายกลาง หากบริษัทสามารถกลับมาทำธุรกิจได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ จะทำให้บริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ ซึ่งจะทำให้ธนาคารจะบันทึกเงินสำรอง กลับมาเป็นรายได้เต็มจำนวน
"ธนาคารได้ตั้งสำรอง EARTH ไปเต็มจำนวนแล้ว หากลูกค้ากลับมาชำระหนี้ได้ก็จะเป็นผลดีต่อธนาคาร เพราะจะกลับมาเป็นรายได้ของเราไม่เอามาเป็นกำไรหรือนำไปสำรองฯอีก เพราะเราสำรองเต็มไปหมดแล้ว และมีส่วนเกินด้วยซ้ำ"นายปรีดี กล่าว
ส่วนการปล่อยสินเชื่อให้กับ บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) มูลค่า 200-300 ล้านบาท มีโครงการ วินด์เชลล์ (WINDSHELL) มูลค่าโครงการ 3.5 พันล้านบาทเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการให้สินเชื่อ หากบริษัทสามารถขายโครงการได้จริงตามกระแสข่าวเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อธนาคารแต่อย่างใด และการปล่อยกู้โครงการดังกล่าวเป็นมูลค่าเล็กน้อย และมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้มองว่ายังไม่มีความเสี่ยง