นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารได้คัดเลือก มจ.แสนสิริ (SIRI) ให้เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิในการซื้อโครงการอสังหาริมทรัพย์ 2 โครงการ คือ โครงการเดอะริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส บางกอก ส่วนที่เหลือทั้งหมด จำนวน 53 ห้องชุด ในโครงการอาคารชุดมหานคร และโครงการนิมิตหลังสวนจากบมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารที่ให้การสนับสนุนสินเชื่อ โดยขั้นตอนต่างๆของการเข้าซื้อโครงการจาก PACE ของแสนสิริ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงต้นเดือน ม.ค. 61
กระบวนการเสนอขายโครงการอสังหาริมทรัพย์ของ PACE ทั้ง 2 โครงการ เป็นการช่วย PACE ปรับโครงสร้างทางการเงินของ PACE เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ ของ PACE สามารถเดินหน้าต่อไปได้ หลังจากที่ผ่านมา PACE เผชิญปัญหาความไม่เชื่อมั่นจากนักลงทุน ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงการดำเนินงานต่างๆ และการชำระคืนหนี้ตั๋ว B/E ทำให้สถานะทางการเงินของ PACE ได้รับผลกระทบ แต่หลังจากที่การเสนอขายแล้วเสร็จเชื่อว่าสถานะทางการเงินของ PACE จะกลับมาแข็งแรงและพร้อมเดินหน้าทำธุรกิจในอนาคตต่อไปได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา PACE เป็นลูกค้าที่ดีของธนาคารและไม่มีปัญหาในเรื่องการชำระคืนหนี้
“ตอนนี้สิ่งที่ธนาคารต้องการคือการสร้างความเชื่อมั่นกลับมาให้กับตลาด เพราะที่ผ่านมามีข่าวต่างๆ ออกมามากมาย โดยเฉพาะเรื่องตั๋ว B/E ทำให้ทั้งตลาดกระทบไปหมด พอเกิดความไม่เชื่อมั่นก็ทำให้ชุลมุนขึ้น ซึ่งเวลาที่ชุลมุนมากๆ จะมีผลต่อ Liquidity ของบริษัท และกระทบแผนงานของบริษัทไปทั้งหมด ซึ่ง PACE ได้รับผลกระทบตรงนี้ไปด้วย ที่ธนาคารต้องเสนอขายโครงการของ PACE ออกไป เพราะเป็นการรักษามูลค่าสินทรัพย์ของลูกค้าที่มีอยู่ไว้ไม่ให้ลดน้อยลงไปมาก และเป็นการปรับโครงสร้างทางการเงินให้กลับมาแข็งแกร่ง มีเงินเพียงพอ เพื่อแก้ปัญหาด้านสภาพคล่อง มีเงินมาลดภาระหนี้ และแก้ปัญหาจ่ายคืนตั๋ว B/E ด้วย เพื่อทำให้ความเชื่อมั้นของ PACE กลับคืนมา โดยดีลการซื้อโครงการของ PACE ธนาคารได้เชิญผู้สนใจที่เป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายรายเข้าพูดคุยมาสักระยะหนึ่งแล้ว"นายอาทิตย์ กล่าว
สำหรับการดำเนินงานของธนาคารในปี 61 จะเห็นการปรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานอย่างมาก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธนาคารและสามารถอยู่รอดและรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้ธนาคารต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมการแข่งขันในปัจจุบันอย่างรวดเร็ว และรับผลกระทบต่างๆที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบในแง่ของรายได้หลายๆอย่างที่จะลดลงไป โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของธนาคารที่ต้องหาวิธีการมารองรับ และสามารถแข่งขันกับสถาบันการเงินอื่นๆได้ ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 61 มองว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นมากกว่าปีนี้ จากปัจจัยบวกการลงทุนต่างๆและการบริโภคที่ฟื้นตัวกลับมาดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมของผลการดำเนินงานของธนาคารในปี 61