นางสาวรุ่งฉัตร บุญรัตน์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.มาลีกรุ๊ป (MALEE) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่าในปี 61 จะสามารถผลักดันยอดขายให้เติบโต 30% หลังจะเป็นปีแรกของแผนกลยุทธ์การดำเนินงานระยะที่ 2 ที่บริษัทตั้งใจจะเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยการเติบโตจะมาจากทุกช่องทาง ตามกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงของบริษัท ซึ่งประกอบด้วย 1) การเพิ่มความหลากหลายของลูกค้า (Diversified Customers) ได้แก่ การขยายตัวของลูกค้าในธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามสัญญาและรับจ้างผลิต (Contract Manufacturing: CMG)
2) การเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ (Diversified Products) ได้แก่ การใช้เครื่องจักรใหม่ที่มีเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าที่หลากหลาย และช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้า รวมถึงการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใน Category ใหม่ๆ และ 3) การกระจายความเสี่ยงทางการตลาด (Diversified Markets) เช่น การฟื้นตัวของยอดขายของธุรกิจ Brand ในประเทศ รวมถึงแผนการตลาดตลอดทั้งปีเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี รวมถึงยอดขายต่างประเทศของธุรกิจแบรนด์ (Brand) ที่ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ บริษัทได้ลงนามเซ็นสัญญาร่วมทุนกับกลุ่มบริษัท พีที คีโน่ อินโดนีเซีย (PT Kino Indonesia Tbk หรือ KINO) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ของประเทศอินโดนีเซีย โดยจะร่วมกันจัดตั้งธุรกิจร่วมค้า 2 บริษัท ใน 2 ประเทศ ได้แก่ 1) บริษัท มาลี คีโน่ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยด้วยการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลในกลุ่มบริษัทคีโน่เข้ามาทำการตลาดและการจัดจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มธุรกิจเครื่องใช้ส่วนบุคคลมีอัตราการทำกำไรที่สูงกว่ากลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท จึงคาดว่า ธุรกิจใหม่นี้จะช่วยทำให้อัตรากำไรของบริษัทโดยรวมสูงขึ้น
2) บริษัท พีที คีโน่ มาลี อินโดนีเซีย มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มเครื่องดื่ม รวมทั้งการขยายตลาดผลิตภัณฑ์ตรามาลีในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งกลุ่ม KINO มีเครือข่ายการจำหน่ายและกระจายสินค้าครอบคลุมทั่วทั้งประเทศอินโดนีเซีย โดยมีจุดขายมากกว่า 1 ล้านจุด โดยคาดว่าธุรกิจร่วมทุนทั้ง 2 แห่ง จะสามารถเดินหน้าดำเนินธุรกิจได้ในกลางปีหน้า
"บริษัทเชื่อมั่นว่าการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสินค้าใหม่ รวมถึงช่องทางขายและการจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะช่วยขยายฐานธุรกิจเข้าไปในตลาดใหม่และสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ รวมทั้งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้โตอย่างก้าวกระโดดสู่การเป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพระดับโลกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน และจะสามารถช่วยผลักดันยอดขายในปีหน้าให้เติบโตได้ 30% ตามเป้าหมาย"นางสาวรุ่งฉัตร กล่าว
นางสาวรุ่งฉัตร กล่าวว่า ในไตรมาส 3/60 บริษัทและบริษัทย่อย มียอดขาย 1,500 ล้านบาท ลดลง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นผลมาจากการชะลอตัวของธุรกิจ Brand ในประเทศ และธุรกิจ CMG ในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกของธุรกิจ Brand ยังคงเติบโตโดดเด่นต่อเนื่อง โดยขยายตัวสูงถึง 60% จากงวดปีก่อน ในขณะที่ยอดขายธุรกิจ CMG ในประเทศ กลับมาเติบโต ทั้งจากยอดขายกลุ่มสินค้าเดิมและสินค้าใหม่ที่ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า พบว่ายอดขายกลับมาเติบโต 9% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากยอดขายน้ำผลไม้ของธุรกิจ Brand ในประเทศ เพิ่มขึ้น 30% จากการเปิดตัวบรรจุภัณฑ์ใหม่ , ยอดขายผลไม้กระป๋องของธุรกิจ Brand ในประเทศ เพิ่มขึ้น 50% หลังเริ่มฤดูกาลการผลิตใหม่ ,ยอดขายของธุรกิจ CMG ในประเทศ กลับมาเติบโต ทั้งจากยอดขายกลุ่มสินค้าเดิมและสินค้าใหม่ที่ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี และธุรกิจ Brand ต่างประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
สำหรับกำไรสุทธิในไตรมาส 3/60 มีจำนวน 78 ล้านบาท ลดลง 52% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มขึ้นจากการใช้กำลังการผลิตที่ลดลง และในช่วงระหว่างปี 58-60 บริษัทอยู่ในช่วงเวลาของการสร้างรากฐานและเตรียมความพร้อมในแต่ละด้านเพื่อรองรับการเติบโตขององค์กรในอนาคต ซึ่งเป็นระยะแรกจากกลยุทธ์การดำเนินงานระยะยาว 9 ปี โดยในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน บริษัทได้มีการลงทุนในโครงการที่สำคัญต่าง ๆ เช่น การปรับปรุงเครื่องจักรและโรงงาน การจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ รวมถึงการร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เกิดต้นทุนคงที่ที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับยอดขายที่ยังไม่เกิดขึ้นในทันที ซึ่งจะเป็นไปเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ทั้งนี้ บริษัทเชื่อมั่นว่า การลงทุนต่าง ๆ มีความสำคัญและมีความจำเป็นที่ต้องลงทุน โดยจะเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักในการผลักดันให้บริษัทสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ตามแผนกลยุทธ์การดำเนินงานในระยะที่ 2 ในช่วงระหว่างปี 61-63
อย่างไรก็ตาม ผลกำไรในไตรมาส 3/60 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า กำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น 27% เนื่องจากยอดขายที่ฟื้นตัวดีขึ้นแทบทุกกลุ่มธุรกิจ ในขณะที่ต้นทุนต่อหน่วยลดลงจากการใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีขึ้น