โบรกเกอร์ต่างเชียร์"ซื้อ" หุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) พร้อมจัดให้เป็นหนึ่งในกลุ่ม Top pick ของปี 2561 จากแนวโน้มผลกำไรในปี 61 ที่จะเติบโตดี จากการมีนโบบายลดการตั้งสำรองหนี้ฯ ขณะที่สินเชื่อเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะอยู่ในระดับทรงตัว ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยก็คาดว่าจะอยู่ในระดับทรงตัว จากฐานที่สูง และการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจประกันภัย, การบริหารสินทรัพย์ และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ
ทั้งนี้ คาดว่าปีหน้า KBANK จะมีกำไรสุทธิอยู่ในช่วง 42,000-43,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิอยู่ในช่วง 37,700-38,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2559
ช่วงบ่ายราคาหุ้น KBANK อยู่ที่ 218 บาท ลดลง 2 บาท หรือ 0.91% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยลดลง 0.64%
หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อ 260.00 อาร์เอชบี (ประเทศไทย) ซื้อ 251.00 เคจีไอ (ประเทศไทย) ซื้อ 250.00 บัวหลวง ซื้อ 248.00 เคทีบี (ประเทศไทย) ซื้อ 248.00 เอเอสแอล ซื้อ 242.00 แอพเพิล เวลธ์ ซื้อ 240.00 ทิสโก้ ซื้อ 240.00 +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ยังคงจัดให้ KBANK เป็นหุ้นตัวหนึ่งในกลุ่ม Top pick ของปี 61 จากแนวโน้มผลประกอบการที่จะเติบโตได้ดีในปีหน้า จากการมีนโบบายลดการตั้งสำรองหนี้ฯ ส่งผลให้กำไรเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยปีหน้าคาดว่า KBANK จะมีกำไรสุทธิเติบโต 14% มีกำไรสุทธิ 43,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 37,700 ล้านบาท ลดลง 6% จากปี 59 ส่วนผลกำไรในไตรมาส 4/60 ก็คาดว่าจะออกมาใกล้เคียงกับไตรมาส 3/60 ทั้งนี้ รายได้จากค่าธรรมเนียมของ KBANK ในปีหน้าก็มองว่ายังเติบโตได้ แต่คงจะไม่มากเนื่องจากปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เกี่ยวกับระบบ Payment ส่วนด้านสินเชื่อคาดว่าจะเติบโตได้ราว 5-7% ในปีหน้า จากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตในระดับ 4-6% ส่วนธุรกิจประกันก็คาดว่าจะไม่เติบโตมาก เนื่องจากมีผู้เล่นมากขึ้น อย่าง AIA ที่ได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ (BBL) เป็นต้น ด้านบล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า การประชุมนักวิเคราะห์ของ KBANK เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้บริหาร KBNAK ได้ระบุว่ากำไรจะฟื้นตัวดีขึ้นในปี 61 จากการเติบโตของสินเชื่อและการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯที่ลดลง โดยบัวหลวง คาดว่าการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯ ของ KBANK ในปี 61 อยู่ที่ 33,000 ล้านบาท (ประมาณ 180 bps ของสินเชื่อปี 61) ลดลง 18% จากปีนี้ และการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯปี 62 อยู่ที่ราว 30,000 ล้านบาท (ประมาณ 154 bps ของสินเชื่อปี 62 ) ลดลง 10% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญฯที่ลดลงส่งผลต่อการเติบโตของกำไรในปี 61 และปี 62 อย่างเด่นชัด สำหรับเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อ KBANK ในปี 61 อยู่ที่ 5-7% สินเชื่อบรรษัทยังคงเป็นปัจจัยหลักในการเติบโตสำหรับปีหน้า แต่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยปี 61 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 3.2-3.4% (คาดไว้อยู่ที่ 3.3-3.5% ในปี 60) ส่วนเป้าหมายรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยปี 61 ของ KBANK ทรงตัวเมื่อเทียบปีนี้ (รายได้ค่าธรรมเนียมและอื่นๆ) จากการแข่งขันที่มากขึ้นและผลกระทบจากฐานสูง (โดยเฉพาะในธุรกิจประกันภัย, การบริหารสินทรัพย์ และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ) ส่วนบล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะ"ซื้อ"หุ้น KBANK เนื่องจากมีมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อการตั้งสำรองที่ลดลงในปี 61 จากการตั้ง Credit Cost ที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 185 bps ซึ่งต่ำกว่าที่เคทีบีฯและตลาดคาดไว้ เนื่องจากปีนี้มีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญส่วนเกินไปมากแล้ว ทางด้านสินเชื่อมีการตั้งเป้าเติบโต 5-7% จากปีนี้ ขณะที่เคทีบีฯคาดไว้ที่ 6% จากการเติบโตของสินเชื่อรายใหญ่ที่ระดับ 6-8% ตามการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่จะมาจากการลงทุนของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการภาครัฐ รองลงมาเป็นสินเชื่อรายย่อยเติบโต 5-7% และสินเชื่อเอสเอ็มอี ที่เติบโต 4-6% โดย KBANK จะยังไม่เน้นสินเชื่อเอสเอ็มอีมากนัก เพราะยังกังวลปัญหาหนี้เสียอยู ทั้งนี้ การที่ KBANK จะหันไปปล่อยสินเชื่อรายใหญ่มากขึ้นจะส่งให้อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) มีการหดตัวลงมาอยู่ที่ 3.2-3.4% แต่แลกมาด้วยคุณภาพของสินทรัพย์ที่จะดีขึ้น โดยคาดว่า NPL Ratio จะทรงตัวได้ที่ระดับ 3.3-3.4% พร้อมปรับประมาณการในปี 60-61 เพิ่มขึ้น 1.3-1.4% จาก Credit Cost ที่ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ 190 bps แต่อย่างไรก็ดี ด้านรายได้ค่าธรรมเนียม KBANK มองว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีนี้ ซึ่งเดิมเคทีบีฯคาดไว้ว่าจะโตได้ที่ 3% เนื่องจากฐานรายได้ค่าธรรมเนียมที่ใหญ่ขึ้น และการขายประกันผ่านธนาคารมีกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เข้มงวดมากขึ้น โดยคาดว่ากำไรสุทธิในปี 60 อยู่ที่ราว 38,000 ล้านบาท ลดลง 7% จากปี 59 แต่จะกลับมาเติบโตดีในปี 61 ที่ราว 42,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จากปีนี้