นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ปตท. มีรายได้จากการขายจำนวน 1,142,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 102,748 ล้านบาท หรือ 9.9% จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยครั้งนี้กำไรจากผลการดำเนินงานของ ปตท. (operating income) มีจำนวน 54,982 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,915 ล้านบาท หรือ 37% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่มีจำนวน 40,067 ล้านบาท
สาเหตุหลักจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติของโรงแยกก๊าซฯ ที่มีผลการดำเนินงานดีขึ้น จากกำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นและปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นจากที่โรงแยกก๊าซฯ มีซ่อมบำรุงใหญ่ในช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ปตท. มีรายได้อื่นจากเงินปันผลและกำไรจากการขายเงินลงทุนในกองทุนรวม จำนวน 5,260 ล้านบาท และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น 5,050 ล้านบาท จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับงวดก่อน
ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทในกลุ่ม ปตท. อาทิ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) บมจ. ไทยออยล์ (TOP) บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ในครั้งนี้ มีจำนวน 44,834 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,379 ล้านบาท หรือ 26.5% จากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 35,455 ล้านบาท ซึ่งผลการดำเนินงานโดยรวมดีขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น โดยเฉพาะจากกลุ่มโรงกลั่นที่ดีขึ้นตามส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการด้อยค่าทรัพย์สินของ ปตท.สผ. ก็ตาม
ทั้งนี้ทำให้ 9 เดือนที่ผ่านมา ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 99,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24,294 ล้านบาท หรือ 32.2% จาก 75,522 ล้านบาท เป็นผลมาจากกำไรของผลการดำเนินงาน ปตท. จำนวน 54,982 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทในกลุ่ม ปตท. จำนวน 44,834 ล้านบาท ตามที่กล่าวมาข้างต้น
ผลการดำเนินงานที่ดีส่งผลให้ ปตท. มีศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาว ควบคู่กับการยกระดับกิจการเพื่อสังคม (CSR) ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) รวมทั้งสามารถตอบสนองนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานให้กับประเทศ โดยสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และร่วมพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเล่ย์ จ.ระยอง ให้เป็นเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) เพื่อส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม รองรับการลงทุนจากต่างประเทศ ยกระดับขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
“นอกจาก ปตท. จะขยายการลงทุนและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ช่วงที่ผ่านมาเรายังขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดพื้นที่จำหน่ายสินค้าและผลผลิตทางการเกษตร ณ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. การทยอยปรับราคาก๊าซ NGV เพื่อให้กระทบผู้บริโภคน้อยที่สุด บนหลักการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ล่าสุดจากโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการ บริษัทจดทะเบียน ปี 2560 โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปตท. ได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับดีเลิศ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของการประเมิน ติดต่อกันเป็นปีที่ 9 และติดหนึ่งใน Top Quartile ของบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าทางการตลาดมากกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่ง ปตท. มีความมุ่งมั่นพัฒนามาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยต่อไป" นายเทวินทร์ กล่าว