(เพิ่มเติม) RATCH เพิ่มเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าปีนี้เป็น 8,028 MW จากเดิม 7,500 MW

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 14, 2017 13:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) คาดหมายกำลังการผลิตในปีนี้จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 8,028 เมกะวัตต์เทียบเท่า ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 7,500 เมกะวัตต์เทียบเท่า เป็นผลจากความสำเร็จการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในต่างประเทศ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองในประเทศไทย

ขณะที่ผลการดำเนินงานในปีนี้มีแนวโน้มที่ดี เพราะบริษัทฯ สามารถขยายการลงทุนได้ตามเป้าหมายใน 3 มิติ คือ 1) ด้านกำลังผลิต มีแนวโน้มจะทำได้เกินเป้าหมาย 2) การขยายฐานธุรกิจใหม่ในต่างประเทศ สามารถเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียได้สำเร็จ และคาดว่าจะสามารถสรุปการลงทุนในฟิลิปปินส์ได้ปีนี้เช่นเดียวกัน และ 3) การลงทุนในธุรกิจอื่นนอกภาคผลิตไฟฟ้า ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ธุรกิจคมนาคมขนส่งระบบรางแล้ว

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือแล้ว 7,379 เมกะวัตต์ หลังจากเตรียมสรุปการลงทุนใหม่ในอาเซียนภายในปีนี้ โดยเฉพาะโครงการในฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาเข้าลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และโครงการพลังงานใต้พิภพ ตลอดจนการลงทุนในโครงการไบโอเทคโนโลยี ซึ่งจะร่วมกับพันธมิตร ผลิตอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์บำรุงความงาม จากสาหร่าย โดยต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าและตลาด ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในปีนี้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมองโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซียเพิ่มเติมด้วย หลังจากล่าสุดได้เข้าไปลงทุนถือหุ้น 49% ในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Riau ในอินโดนีเซีย ขนาด 275 เมกะวัตต์มาก่อนหน้านี้

"ตอนนี้เรามีกำลังผลิตในมือที่เดินเครื่องผลิตแล้ว 6,496 เมกะวัตต์ จากโครงการในมือ 7,379 เมกะวัตต์ แต่เรามีโรงไฟฟ้าที่จะทยอยหมดอายุอย่าง TECO หมดอายุปี 63 และโรงไฟฟ้าราชบุรีหมดอายุในปี 68 และ 70 เราต้องปิดความเสี่ยงหากำลังผลิตให้ cover ได้และหาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมาเสริมเพื่อเพิ่มกำลังผลิตอีกปีละ 700 เมกะวัตต์ ถ้าเป็นแบบนี้เป้าที่จะมีกำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์ในปี 66 ก็อาจจะทำได้ถึง 12,000 เมกะวัตต์"นายกิจจา กล่าว

นายกิจจา กล่าวว่า ผลการดำเนินงานปีนี้มีแนวโน้มที่ดี เพราะสามารถขยายการลงทุนได้ตามแผน ทั้งด้านการผลิตที่มีแนวโน้มจะทำได้เกินเป้าหมาย การขยายฐานลงทุนใหม่ที่ได้เข้าไปในอินโดนีเซียแล้ว และการลงทุนในธุริจอื่นนอกภาคการผลิตไฟฟ้า เช่น ระบบขนส่งทางราง

ขณะที่โรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตแล้วก็สามารถทำได้ดีตามแผนทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้สามารถทำรายได้รวม ซึ่งไม่รวมค่าเชื้อเพลิง ประมาณ 1.19 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรสุทธิ เพิ่มขึ้น 69% มาที่ 5.42 พันล้านบาท ทำให้คาดว่ากำไรสุทธิปีนี้จะทำได้ตามแผน

สำหรับในปี 61 บริษัทยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะทำกำไรได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ แม้จะมีกำลังผลิตใหม่ที่จะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) จำนวน 178.3 เมกะวัตต์เข้ามา แต่ก็จะมีรายได้ที่ลดลงจากโรงไฟฟ้าเก่าที่ใกล้จะหมดอายุด้วย ดังนั้น บริษัทก็จะพยายามหาการซื้อกิจการ (M&A) เพิ่มเติม ซึ่งในปีหน้ามีเป้าหมายจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือเพิ่มขึ้นอีก 700 เมกะวัตต์เทียบเท่า โดยราวครึ่งหนึ่งจะมาจากการทำ M&A ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มประสิทธิภาพจากโรงไฟฟ้าหงสาในลาวเพิ่มขึ้น รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายให้มากขึ้นเพื่อรักษาระดับกำไรด้วย

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะใช้เงินลงทุนในปีหน้ามากกว่าระดับ 1 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นเป้าหมายในปีนี้ เพราะจะใช้สำหรับลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าในมือที่มีอยู่และการทำ M&A ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในวงเงินราว 3-4 พันล้านบาท ส่วนในปีนี้บริษัทใช้เงินลงทุนไปแล้ว 4.18 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้รองรับการเข้าซื้อกิจการที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

สำหรับในปี 62 บริษัทจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะ COD อีก 137.2 เมกะวัตต์ที่จะทยอยเข้าระบบ

นายกิจจา กล่าวว่า จากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ทำให้สัดส่วนรายได้ที่มาจากสินทรัพย์ประเภทโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) 84% พลังงานทดแทน 8% ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอยู่ที่ 5% และโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) 3% ซึ่งบริษัทมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็น 10% ภายในปี 66 และวางเป้าหมายจะมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็น 40% จาก 30% ในปัจจุบัน ส่วนรายได้ในประเทศ ลงเหลือ 60% จาก 70% ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ บริษัทได้ศึกษาโอกาสและศักยภาพของหลายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เช่น เชื้อเพลิง ประเภทก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในไทยและเมียนมา ,สาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบรางในโครงการพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกเหนือจากปัจจุบันที่ถือหุ้น 10% ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง ตลอดจนธุรกิจประปาในลาว คาดว่าจะสรุปได้ปี 61

รวมทั้งโครงการสื่อสารโทรคมนาคม ,พืชเชื้อเพลิง ในลาว ซึ่งจะร่วมกับพันธมิตร เพื่อรองรับการจัดหาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ปี 61

นายกิจจา กล่าวอีกว่า สำหรับโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ (TECO) ที่จะหมดอายุในปี 63 นั้นยังต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าจะต่ออายุให้หรือไม่ หลังจากที่บริษัทได้ส่งเรื่องขอต่ออายุโรงไฟฟ้าไปแล้ว ขณะเดียวกันบริษัทก็ได้เจรจากับทางเมียนมาเพื่อหาโอกาสการขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวให้กับเมียนมาหลังหมดอายุและหากไม่ได้รับการต่ออายุ

นอกจากนี้ บริษัทยังมองโอกาสการลงทุนร่วมกับพันธมิตรในโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) แบบ VSPP Semi-Firm ที่รัฐบาลจะเปิดรับซื้อ จำนวน 269 เมกะวัตต์ หลังจากตัดสินใจไม่เข้ายื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าในโครงการ SPP Hybrid Firm ในรอบที่ผ่านมาเนื่องจากกังวลว่าปริมาณเชื้อเพลิงอาจมีไม่เพียงพอตลอดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ