นายอนุวัฒน์ สงวนทรัพยากร หัวหน้าคณะผู้บริหารฝ่ายการเงิน บมจ.ไทยคม (THCOM) เปิดเผยว่า บริษัทรับรายได้ปีนี้จะลดลงจากปีก่อน 10-15% ตามที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ หลังบริษัทได้เสียลูกค้ารายใหญ่ของทวีปออสเตรเลีย NBN ยกเลิกสัญญาการใช้บริการออกไป แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทได้ลูกค้ารายใหม่จากประเทศเคนย่าเข้ามาเพิ่มอัตราการใช้ในดาวเทียมไทยคม 6 และลูกค้าจาก สปป.ลาว เข้ามาในไทยคม 8 ซึ่งจะเริ่มใช้บริการได้ในไตรมาส 4/60 ในขณะเดียวกันบริษัทฯอยู่ระหว่างการหาลูกค้าใหม่ทั้งรายใหญ่และรายย่อยในแอฟริกา เข้ามาเพิ่มอีกด้วย
ทั้งนี้ บริษัทได้เร่งการเจรจาเพื่อที่จะต่อสัญญาในดาวเทียมไทยคม 4 ไทยคม 5 และไทยคม 6 โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 3/61 เนื่องจากจะต้องเจรจาทุกอย่างให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะหมดอายุในเดือน ก.ย.64 เพื่อที่จะสามารถบริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง แต่หากการขอต่ออายุสัญญามีปัญหาทางบริษัทฯก็ยืนยันว่าจะหาทางออกเพื่อที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อลูกค้า โดยเบื้องต้นอาจจะมีการล่าช้าบ้าง เนื่องจากอาจจะยังติดเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมฉบับใหม่
ขณะที่ดาวเทียมไทยคม 7 และ ไทยคม 8 บริษัทยื่นเสนอต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัทกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดิจิทัลฯ) โดยทางกระทรวงต้องการให้ปรับดาวเทียมทั้ง 2 ดวงเป็นรูปแบบสัมปทาน ซึ่งจะหมดอายุปี 64 จากปัจจุบันที่เป็นระบบใบอนุญาตที่มีอายุถึงปี 75 คาดว่าอนุญาโตตุลาการจะใช้เวลาพิจารณา 1-3 ปี หากกรณีเลวร้ายถูกปรับเปลี่ยนจริง บริษัทจะสูญเสียรายได้จากเดิมคาดจะมีรายได้ต่อเนื่อง 15 ปี เหลือเพียง 4 ปีเท่านั้น
ในส่วนของรูปแบบการลงทุนดาวเทียมไทยคม 9 บริษัทยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากการยื่นขออนุญาตจากรัฐบาลทำได้ล่าช้า ซึ่งบริษัทอาจจะมีแผนไปขอใช้วงจรโครงข่ายในต่างประเทศและนำมาให้บริการในไทย ซึ่งเบื้องต้นอาจเป็นลักษณะการร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่จะทำให้บริษัทลงทุนลดลง และต้นทุนต่อหน่วยลดลง ซึ่งปกติการลงทุนดาวเทียมใช้งบประมาณอยู่ที่ราว 7,000 ล้านบาทต่อดวง
นายอนุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาลงทุนธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโทรคมนาคมใหม่ๆ เพื่อการกระจายรายได้ให้มากขึ้น โดยอยู่ระหว่างศึกษาทั้งหมด 5-10 โครงการ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปี 61
ทั้งนี้ บริษัทเตรียมที่จะบันทึกกำไรพิเศษ 1,600 ล้านบาท จากการขายหุ้นของ บมจ.ซีเอส ล็อกซอินโฟ (CSL) ที่มีอยู่ทั้งหมด 42.07% ให้กับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ในช่วงไตรมาส 1/61