(เพิ่มเติม) PTTGC คาด Q4/60 ดีกว่า Q3/60 พร้อมวางเป้ายอดขายปี 61 โตตามปริมาณผลผลิต-MAX สร้างกำไรเพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 14, 2017 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวดวงกมล เศรษฐธนัง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการเงินและบัญชี บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) คาดว่าผลประกอบการด้านกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 4/60 จะดีกว่าไตรมาส 3/60 เนื่องจากไม่มีแผนหยุดซ่อมบำรุงโรงงาน ขณะที่ราคาโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) ก็ปรับตัวสูงขึ้นด้วย

ขณะที่ตั้งเป้าหมายยอดขายปี 61 จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 แสนล้านบาท จากเป้าหมาย 4.5 แสนล้านบาทในปีนี้ ซึ่งเป็นการเติบโตตามปริมาณผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก เนื่องจากโรงงานของกลุ่มบริษัทเดินเครื่องเกือบเต็มที่ โดยมีเพียงโรงงานโอเลฟินส์ ขนาด 4 แสนตัน/ปีที่จะหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุง 30 วันในช่วงไตรมาส 4/61 เท่านั้น

"ปีหน้าเรามี shutdown โรงโอเลฟินส์ขนาดไม่ใหญ่โรงเดียว ก็จะทำให้โรงโอเลฟินส์ เดินเครื่องได้ 99% จากปีนี้ 96% ส่วนโรงกลั่นเดินเครื่องได้เต็มที่ 100% โรงงานอะโรเมติกส์ดีขึ้นเดินเครื่องได้ 91% จากเดิม 80% เพราะเราได้เปลี่ยน catalyst โรงงานอะโรเมติกส์ 1 โรงทำให้เดินเครื่องได้ดีขึ้น ทำให้ภาพรวมปีหน้าเรามีวอลุ่มที่เพิ่มขึ้น ส่วนราคาขายขึ้นอยู่กับตลาดโลก"นางสาวดวงกมล กล่าว

นางสาวดวงกมล กล่าวว่า สำหรับปี 61 ประเมินราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยช่วง 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 51 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีนี้ ,ค่าการกลั่น (GRM) อยู่ที่ 7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 6.8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ,ส่วนต่างราคา (สเปรด) ผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ อยู่ที่ 229 เหรียญสหรัฐ/ตัน จาก 223 เหรียญสหรัฐ/ตันในปีนี้ ,ราคา HDPE อยู่ที่ 1,133 เหรียญสหรัฐ/ตัน จาก 1,160 เหรียญสหรัฐ/ตันในปีนี้ ส่วนในปีนี้คาดว่าจะมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน หลังราคาน้ำมันสูงขึ้นเมื่อช่วงกับปลายปีที่แล้ว

นอกจากนี้ในปี 61 ยังจะได้รับประโยชน์จากเต็มที่จากโครงการ Asset Injection ซึ่งเป็นการซื้อหุ้น 6 บริษัทในธุรกิจปิโตรเคมีสายโพรพิลีน สายเคมีภัณฑ์ชีวภาพ ของกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) หลังจากดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 60 ซึ่งก่อนหน้านี้คาดว่าจะสร้างกำไรได้ราว 2.4 พันล้านบาท/ปี รวมถึงจะมีกำลังการผลิตใหม่ของโครงการ mLLDPE ขนาด 4 แสนตัน/ปี ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1/61

ขณะที่โครงการ MAX ซึ่งเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานทั่วทั้งองค์กรนั้น คาดว่าจะสามารถสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี (EBIT) ในปี 61 ได้เป็นราว 6 พันล้านบาท จากปีนี้ 3 พันล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านบาทในปี 62 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ MAX ภายใน 3 ปี หลังจากนี้บริษัทก็อยู่ระหว่างการเตรียมแผนเพื่อต่อยอดจากโครงการ MAX ด้วยการนำดิจิตอลเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทต่อไป

ขณะเดียวกันบริษัทยังเตรียมลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยในปีหน้าให้เหลือระดับต่ำกว่าปัจจุบันที่มีอยู่ราว 4% ของพอร์ตภาระหนี้ 1 แสนล้านบาท โดยในปีหน้ามีแผนจะออกหุ้นกู้เพื่อมาชำระคืนเงินกู้ที่ครบกำหนดชำระ 1 หมื่นล้านบาทในช่วงกลางปี และยังมีแผนจะเจรจาเพื่อยืดอายุหุ้นกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐ วงเงิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ออกไปอีกจากเดิมที่จะครบกำหนดในอีก 4.5 ปี

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ PTTGC กล่าวว่า บริษัทยังคงแผนเงินลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 60-64) ในวงเงิน 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.8 แสนล้านบาท โดยราว 1.3 แสนล้านบาทเป็นการลงทุนในโครงการพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนบางส่วนในไบโอคอมเพล็กซ์ จ.นครสวรรค์ ของบมจ.โกลบอลกรีน เคมิคอล (GGC) ส่วนที่เหลืออีกราว 5 หมื่นล้านบาท จะใช้รองรับการลงทุนในโครงการสร้างการเติบโตในกลุ่มประเทศ CLMV ทั้งกัมพูชา ,ลาว ,เมียนมา และ เวียดนาม

โดยในปี 61 จะใช้เงินลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงการต่อเนื่องที่มีอยู่ ได้แก่ mLLDPE, PO/Polyol, Methyl Ester,โครงการ Map Ta Phut Retrofit เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการสร้างโรงงานแนฟทาแครกเกอร์ใหม่ โดยโครงการนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาประกาศการลงทุนคาดว่าจะประกาศได้ในสิ้นปีนี้

สำหรับโครงการสร้างการเติบโตในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งจะเป็นการร่วมลงทุนกับลูกค้า ตลอดจนจับคู่ธุรกิจระหว่างลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศ กับผู้ค้าในต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มดำเนินการมาบ้างแล้ว เช่น การจะร่วมทุนกับกลุ่มบ มจ.ทีพีบีไอ (TPBI) ทำธุรกิจโรงงานขึ้นรูปพลาสติกเพื่อการผลิตแลการขายในเมียนมา ,การลงนาม MOU วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ,ลงนาม MOU เพื่อสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบ เพื่อใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ของบมจ.ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป (TU) เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีพันธมิตรที่หลากหลาย เช่น บมจ.เบอร์ลี่ยุคเกอร์ (BJC) ,เครือเจริญโภคภัณฑ์ ,สหพัฒน์ เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทยังจะเดินหน้ากลยุทธ์ร่วมกับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมพลาสติก จัดตั้ง CSC -Customer Solution Center เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยการส่งเสริม สนับสนุนและเป็นสื่อกลางในการพัฒนาและดำเนินธุรกิจให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกเติบโต โดยตั้งเป้าหมายจะมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ HVP (High Value Product) ในพอร์ตกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของธุรกิจปิโตรเคมี ราว 50% ภายใน 10 ปี จากปัจจุบันมีไม่ถึง 10%

นายสุพัฒน์พงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐ ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาพันธมิตรเข้าร่วมลงทุน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. ส่วนมารูเบนนี ซึ่งเป็นพันธมิตรกับบริษัทในโครงการดังกล่าวนี้ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าจะยังร่วมเป็นพันธมิตรต่อหรือไม่ โดยยังต้องรอให้โครงการมีความคืบหน้าชัดเจนก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ