นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่งตัวในกรอบแคบ ยังมีลุ้นขึ้นได้แต่คงจะไม่ไปไกล เนื่องจากคาดว่าจะมีแรงซื้อจากนักลงทุนในประเทศ โดยเล็งหุ้นพวก Domestic plays จะช่วยหนุนตลาดฯ แม้นักลงทุนต่างชาติจะไม่ซื้อก็ตาม
ขณะที่ตลาดต่างประเทศเช้านี้หลายตลาดฯปรับตัวลง อันเป็นผลจากความกังวลว่าร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีจะไม่ผ่านวุฒิสภาของสหรัฐฯ
พร้อมให้ติดตามการประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) งวดไตรมาส 3/60 ของไทย ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จะแถลงในเช้าวันนี้ โดยตลาดคาดโต 3.8-3.9%
ทั้งนี้ ให้กรอบการแกว่งไว้ที่ 1,700-1,719 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (17 พ.ย.60) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,358.24 จุด ลดลง 100.12 จุด (-0.43%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,578.85 จุด ลดลง 6.79 จุด (-0.26%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 6,782.79 จุด ลดลง 10.50 จุด (-0.15%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 116.82 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 21.55 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 28.04 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 5.15 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 2.81 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้น 21.63 จุด, ดัชนี Jakarta Composite ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น 15.02 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 2.11 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 0.20 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (17 พ.ย.60) 1,709.38 จุด เพิ่มขึ้น 18.13 จุด (+1.07%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 238.63 ล้านบาท เมื่อวันที่ 17 พ.ย.60
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ธ.ค.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (17 พ.ย.60) ปิดที่ระดับ 56.55 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.41 ดอลลาร์ หรือ 2.6%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (17 พ.ย.60) ที่ 7.25 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 32.79 แข็งค่าต่อเนื่องรับเม็ดเงินไหลเข้า-รอดูตัวเลข GDP ไทยเช้านี้
- "สมคิด" จุดความฝันสร้างจุดเปลี่ยนประเทศ เผยไตรมาส 3 เศรษฐกิจโต 4% ปีหน้าโตเกิน 4% ย้ำภาพใหญ่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว เร่งลงทุนรัฐวิสาหกิจและดึงทุนต่างชาติ ดันเม็ดเงินกระจายรายได้สู่ฐานรากกว่า 30 ล้านคน ผ่านการท่องเที่ยว "อาคม" ดึงงบค้างเบิกจ่ายปีละ 1 แสนล้าน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมเร่งแผนเมกะโปรเจค บูมลงทุนอีอีซี 5 ปีลงทุนกว่า 7 แสนล้าน
- รมว.คลัง เปิด เผยกำลังทำนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวสู่ภูมิภาค โดยจะให้ประชาชนนำมาหักลดหย่อน ภาษีเงินได้ 1.5 หมื่นบาท ในปีภาษี 2561 ซึ่งจะมีเงื่อนไขว่าต้องไปเที่ยวในท้องถิ่น สามารถนำค่าที่พักและอาหารมาหักภาษีได้ ซึ่งจะทำให้มีเงินหมุนเวียนลงไปทั่วถึงในกลุ่มฐานรากมากขึ้น
- การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 23 พ.ย.นี้ วาระสำคัญที่จะพิจารณา คือ แนวโน้มคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน พบว่าช่วง 4 เดือน คือตั้งแต่ ก.ค.-ต.ค. 2560 ค่อนข้างซบเซา ทำให้ช่วง 10 เดือนของปีนี้มียอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนประมาณ 4 แสนล้านบาทเท่านั้น เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ที่มียอดคำขอประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยตัวเลขคำขอช่วง 10 เดือนที่เพิ่มไม่มาก ทำให้เกิดความกังวลว่ายอดคำขอทั้งปีจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 6 แสนล้านบาทที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้
- ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า กคช.อยู่ระหว่างดำเนินโครงการบ้านแลกบ้าน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยในบ้านเอื้ออาทรมาแลกบ้านของ กคช.ด้วยกัน ซึ่งส่วนต่างของราคาจะเข้าไปสู่กระบวนการขอสินเชื่อกับธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยมีหลักทรัพย์เป็นตัวค้ำประกันกรณีที่กู้ไม่ผ่านก็นำโมเดลลีสโฮลด์ไฟแนนเชียล ซึ่งได้มีการจัดตั้งลิสซิ่งทูโลนมาดำเนินการแทน โดยมีบริษัทจัดการทรัพย์สินและชุมชนทำสัญญาเช่าซื้อ ขณะเดียวกันพร้อมเปิดโอกาสแลกบ้านกับเอกชน เพื่อลดจำนวนบ้านในตลาดซึ่งยังมีส่วนเกินอยู่จำนวนมาก อีกทั้งยังสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินได้ คาดว่าจะเริ่ม ธ.ค.นี้
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุจากเงินบาทแข็งค่าทะลุระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาที่ 32.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นสถิติแข็งค่าที่สุดในรอบ 30 เดือน ทั้งนี้ สถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทยังคงเป็นภาพที่สอดคล้องกับกระแสการแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย เพราะมีสาเหตุหลักร่วมกันจากทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งในช่วงนี้ขาดปัจจัยหนุนใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มเติม หลังจากตลาดทยอยรับรู้โอกาสของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือน ธ.ค. ที่จะถึงนี้มาระยะหนึ่งแล้ว
*หุ้นเด่นวันนี้
- PSH (ทรีนีตี้) "ซื้อ"เป้า 28 บาท กำไรสุทธิ 9M60 อยู่ที่ 3.7 พันล้านบาท ปรับตัวลดลง 6.7% YoY จากยอดโอนที่อ่อนตัวลง ทั้งนี้ Q4/60 คาดเปิดโครงการใหม่อีก 18 โครงการ มูลค่ารวม 1.3 หมื่นล้านบาท ยอดขายกลุ่ม Premium ทะลุเป้า หนุนยอดโอนและ Gross Profit Margin ในปี 2561 พร้อมปรับคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2560-2561 ลง 11.3% และ 4% จากการปรับยอดโอนลง 7.2% และ 5.9% ตามลำดับ
- BDMS (เมย์แบงก์ กิมเอ็ง) "เก็งกำไร" หากเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลใหญ่ด้วยกันแล้ว มองว่า BDMS มีความน่าสนใจกว่า จากประเด็นการ Recovery ของโรงพยาบาลในเครือกว่า 10 โรง จากทั้งหมด 45 โรงทั่วประเทศ (ประมาณ 6,000 เตียง)ครอบคลุมทุกภูมิภาค โดยเฉพาะ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และ ภาคกลาง (คิดเป็น 37% ของจำนวนเตียงภายใต้การบริหารของ BDMS) ซึ่งเป็นแหล่งที่ Case mix index สูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ พร้อมคาดผลประกอบการไตรมาส 4 เติบโต YoY จากฤดูฝนที่ยาวนานกว่าปกติ ในขณะที่คนไข้จากต่างประเทศกลับมาในระดับปกติอีกครั้ง ทั้งจากตะวันออกกลางและตลาดใหม่ในอินโด-จีน ด้านราคาหุ้นปัจจุบัน YTD ยัง Laggard BH อยู่สูงกว่า 18%
- PTTEP (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 102 บาท ราคาน้ำมันฟื้นกลับครั้งแรกในรอบ 6 วันทำการ และคาดจะแกว่ง sideway up ไปจนถึงการประชุมโอเปก 30 พ.ย. เมื่อผนวกกับแรงขายของต่างชาติเริ่มเบาลง ทำให้กลุ่มพลังงานที่ laggard กลุ่มอื่นใน SET50 มีโอกาสกลับมาได้รับความน่าสนใจอีกครั้ง ทั้งนี้ หากหักการตั้งด้อยค่า 1.8 หมื่นล้านบาทออก กำไรปกติ Q3/60 ที่ 7.2 พันล้านบาท ถือว่าทำได้ดีกว่าคาด จากปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งคาดว่าโมเมนตัมด้านปริมาณขายจะดีต่อเนื่องใน Q4/60 ส่วนราคาหุ้น laggard มากเกินไป โดยตั้งแต่ต้นปี -4% ตรงข้ามกับกลุ่มพลังงานที่ +12% YTD