บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตธนาคารรัฐ 5 แห่งของประเทศไทย ดังนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (BAAC) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (GH BANK) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IBANK) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK)
อันดับเครดิตของธนาคารรัฐสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่รัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารแต่ละแห่งหากจำเป็น
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ (Issuer Default Ratings หรือ IDRs) ของ EXIM อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาลไทย (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/F2) อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAAC EXIM GH BANK และ SME BANK ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ ‘AAA(tha)’ เป็นอันดับเครดิตที่สูงที่สุดสำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศ และสะท้อนมุมมองของฟิทช์ว่าธนาคารรัฐทั้ง 4 แห่งมีบทบาทที่สำคัญในเชิงนโยบายต่อรัฐบาลตามที่ได้มีการกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งของธนาคารรัฐแต่ละแห่ง นอกจากนี้อันดับเครดิตยังได้สะท้อนถึงการที่ธนาคารทั้ง 4 แห่งมีสถานะทางกฎหมายเป็นธนาคารรัฐ รวมทั้งการที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในแต่ละธนาคาร และการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีต
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ IBANK อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทย 2 อันดับ ในขณะที่อันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารอยู่ที่ ‘AA(tha)’ ทั้งนี้อันดับเครดิตของธนาคารที่ต่ำกว่านั้นเป็นผลมาจากการที่ธนาคารมีบทบาทในการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในระดับที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารรัฐอื่น รวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลที่มีความชัดเจนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารรัฐอื่นทั้งในเชิงกฎหมายและการเงินและสัดส่วนการถือหุ้นโดยตรงของกระทรวง การคลังในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารรัฐอื่น อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังอยู่ในระหว่างดำเนินการยกเลิกข้อจำกัดในสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังที่ไม่เกิน 49% ใน IBANK แต่ทั้งนี้ยังคงไม่มีความชัดเจนว่าท้ายที่สุดแล้วสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลจะอยู่ในระดับใดในระยะยาว
ฟิทช์คาดว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารรัฐได้อย่างทันท่วงทีในกรณีที่มีความจำเป็น แต่อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของ BAAC EXIM และ GH BANK ที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ในระดับที่มีความจำเป็นที่จะต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล
SME BANK และ IBANK ยังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการ สำหรับ SME BANK คุณภาพสินทรัพย์และผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นตามแผนฟื้นฟูกิจการ แต่ฐานะทางการเงินยังคงด้อยกว่า BAAC EXIM และ GH BANK สำหรับ IBANK คุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นบ้างหลังจากที่ธนาคารทำการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐบาลในไตรมาส 2 ปี 2560 อย่างไรก็ตามฐานะทางการเงินโดยรวมของธนาคารยังคงอ่อนแอ
ฟิทช์เชื่อว่าผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินโดยรวมของ SME BANK และ IBANK ที่ด้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารรัฐอื่นไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลต่อโอกาสที่ภาครัฐจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารทั้ง 2 แห่ง โดยทั้ง 2 ธนาคารยังคงได้รับประโยชน์จากการผ่อนผันในด้านเกณฑ์การกำกับดูแลจนกว่าจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ สำหรับ SME BANK คาดว่าสะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ในอีกไม่นาน
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ประกอบด้วย อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ของ EXIM และ IBANK จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAAC EXIM GH BANK และ SME BANK ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตเนื่องจากอันดับเครดิตในประเทศของธนาคารเหล่านี้เป็นอันดับเครดิตที่อยู่ในระดับสูงสุด
ฟิทช์อาจทำการปรับลดอันดับเครดิตสากลสุกลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารรัฐทั้ง 5 แห่งหากรัฐบาลปรับลดโอกาสที่จะให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ธนาคาร ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหากรัฐบาลลดสัดส่วนการถือหุ้นลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือหากธนาคารรัฐเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมาย อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง
แผนการปรับโครงสร้างองค์กรของ IBANK อาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างผู้ถือหุ้นของธนาคาร แม้ว่ารายละเอียดของแผนการดำเนินการและกรอบระยะเวลายังไม่มีความชัดเจน ทั้งนี้ฟิทช์ยังไม่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของธนาคารที่ปัจจุบันเป็นธนาคารรัฐ แต่อย่างไรก็ตามฟิทช์อาจทำการปรับลดอันดับเครดิตหากบทบาทในการสนับสนุนนโนบายของภาครัฐของ IBANK ลดลง หรือรัฐบาลมีสัญญาณในการลดความช่วยเหลือที่จะให้แก่ IBANK ทั้งในด้านเงินเพิ่มทุนและการปรับโครงสร้างองค์กร