นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) กล่าวภายหลังนำสื่อมวลชนร่วมสังเกตุการณ์เกี่ยวกับมาตรการทดลองถอดที่นั่งผู้โดยสารแถวกลางในขบวนรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล หรือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ออก จำนวน 1 ขบวนว่า BEM จำเป็นต้องหามาตรการเพื่อลดความคับคั่งในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมาได้เสนอมาตรการประสานกับรฟม.มาโดยตลอด การถอดที่นั่งเป็นช่วงทดลอง 1 ขบวน ขณะที่มีการโหวตในแฟนเพจ พบว่า มีผู้โดยสารเห็นด้วยค่อนข้างมาก โดยถือเป็นมาตรการชั่วคราวระหว่างรอรถขบวนใหม่จำนวน 35 ขบวน ที่อยู่ระหว่างการผลิต ซึ่งได้เร่งรัด 3 ขบวนๆละ 3 ตู้แรกเข้ามาก่อนในช่วงปลายปี 61 และทดสอบก่อนนำมาวิ่งได้ในช่วง มี.ค.-เม.ย.62 ซึ่งจะเป็นการวิ่งช่วย รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถใหม่จะเข้ามาครบทั้ง 35 ขบวนภายในปลายปี 62 แน่นอน
ปัจจุบันผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีเฉลี่ย 3.5 แสนคนต่อวัน(วันธรรมดา) และสูงสุดที่ 4.1 แสนคนหากมีการจัดงานที่ศูนย์การประชุมสิริกิติ์ ขณะที่ ปี 61 ผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5% มาที่ประมาณ 3.7 แสนคนต่อวัน
ด้านนายรณชิต แย้มสอาด ที่ปรึกษา รักษาการรองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า BEM ในฐานะผู้เดินรถได้พิจารณาอย่างดีแล้วในการถอดที่นั่งแถวกลางออก เนื่องจากในช่วงระหว่างรอรถขวนใหม่ ซึ่งได้สั่งซื้อจากบริษัท ซีเมนส์ จำกัด ควรจะต้องดำเนินทุกมาตรการที่จะทำได้ ซึ่งตั้งแต่ช่วงกลางปี 60 เป็นต้นมาได้ดำเนินมาตรการมาโดยตลอด เช่น ประชาสัมพันธ์ให้ใช้บริการนอกเวลาเร่งด่วน เช้า เย็น ,ให้ผู้โดยสารเข้าด้านในให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มพื้นที่ในห้องโดยสาร , กรณีมีเป้ ให้หลีกเลี่ยงสะพานหลังโดยให้วางที่พื้น นอกจากนี้ยังเพิ่มเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก. รวมถึงปรับปรุงการซ่อมบำรุง ในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อให้ใช้รถได้เต็มทั้ง 19 ขบวน
ทั้งนี้ การถอดที่นั่ง ถือเป็นมาตรการเกือบจะสุดท้ายแล้วสำหรับการเพิ่มพื้นที่ในห้องโดยสาร โดยใน 1 ขบวนมี 3 ตู้ โดยใน 1 ตู้ มีเบาที่นั่ง 3 คู่ (ช่วงต้น, กลาง,ปลาย) โดยถอดที่นั่งออกเฉพาะตู้กลางของแต่ละตู้ ดังนั้น ต่อ 1 ขบวนจะที่นั่งจะถอดออก 6 ชุด ชุดละ7 ที่นั่ง เท่ากับหายไป72ที่นั่ง ซึ่งจะทำให้เพิ่มพื้นที่ยืนเข้าไปแทนได้ประมาณ 90 คน ต่อขบวน โดย BEM ได้ใส่ราวจับเข้าไป
โดยจากปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการในช่วงเร่งด่วนเช้า เมื่อขบวนรถที่ไม่ได้ถอดที่นั่งเข้ามา จะเหลือตกค้างแถวยาว ขณะที่เมื่อขบวนที่ถอดที่นั่ง จะรับผู้โดยสารได้เพิ่มและเหลือผู้โดยสารในแถวคอยน้อยลง เพราะในช่วงเร่งด่วนจำนวนผู้โดยสาร 90-100 คน มีผลต่อแถวคอย และความคับคั่ง
นายรณชิต กล่าวว่า หลังจากถอดที่นั่งออก 1 ขบวนจะประเมินและรับฟังความเห็นจากผู้โดยสารก่อน จากนั้นจะหารือร่วมกันเพื่อสรุปผลภายในสิ้นเดือนพ.ย.นี้ หากผลตอบรับดีจะพิจารณาเดินหน้าถอดที่นั่ง แถวตอนกลางออกทั้ง 19 ขบวน เนื่องจากการถอดเพียง 1 ขบวนไม่ได้ส่งผลให้ลดความแออัดได้
สำหรับกรณีสัญญาสัมปทาน จำนวนรถ 19 ขบวนของ BEM เป็นจำนวนที่เพียงพอและตรงตามสัญญาที่ประมาณ 900 คนต่อขบวน ดังนั้น เมื่อถอดที่นั่งออก ซึ่งจะเพิ่มผู้โดยสารได้อีกประมาณ 90 คน หรือ 10%ต่อขบวน ช่วยลดแออัดบนสถานีได้อย่างเห็นได้ชัด