LANNA คาดปี 61 ผลิตและขายถ่านหิน 6.2 ล้านตันสูงกว่าปีนี้ ราคายังดีต่อเนื่อง,รู้ผลประมูลโรงไฟฟ้าอินโดฯในธ.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 24, 2017 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสีหศักดิ์ อารีราชการัณย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ลานนารีซอร์สเซส (LANNA) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าปริมาณผลิตและขายถ่านหินในปี 61 จำนวน 6.2 ล้านตัน ซึ่งจะมาจากเหมือง LHI จำนวน 3.5 ล้านตัน เหมือง SGP จำนวน 2.7 ล้านตัน ขณะที่ในปี 60 คาดว่าจะมีปริมาณผลิตและขายถ่านหินที่ 5.8 ล้านตัน แบ่งเป็น เหมือง LHI จำนวน 3.5 ล้านตัน และเหมือง SGP จำนวน 2.3 ล้านตัน เพิ่มจากเดิมที่ตั้งเป้าผลิตจากเหมือง SGP ไว้ที่ 2.2 ล้านตัน หลังเปิดพื้นที่ผลิตใหม่เพิ่มเติม

สำหรับในไตรมาส 4/60 คาดว่าจะมีการผลิตและขายถ่านหินจากเหมือง LHI จำนวน 8-9 แสนตัน และเหมือง SGP จำนวน 6-7 แสนตัน ส่วนราคาถ่านหินมีแนวโน้มปรับขึ้นราว 5% จากราคาปัจจุบัน 90 เหรียญสหรัฐ/ตัน และยังมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง หลังจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่มีสต็อกเหลืออยู่น้อยเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาได้จำกัดปริมาณนำเข้าถ่านหิน

นอกจากนี้บริษัทยังคงเดินหน้าเจรจาเพื่อเข้าซื้อเหมืองถ่านหินใหม่ที่มีกำลังการผลิต 2 ล้านตัน/ปี โดยปัจจุบันเหมืองดังกล่าวผลิตถ่านหินอยู่ในระดับ 1 ล้านตัน/ปี มีค่าความร้อนประมาณ 3,800 กิโลแคลอรี่/กิโลกรัม มีปริมาณสำรองที่ประเมินได้ 50 ล้านตัน และคาดว่าจะมีปริมาณสำรองที่ยังไม่ได้ประเมินอีกประมาณ 500 ล้านตัน โดยคาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนไม่เกิน 50-100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเข้าถือหุ้นไม่เกิน 49% เพราะกฎหมายในอินโดนีเซียอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 49% โดยคาดว่าจะสรุปดีลได้เร็ว ๆ นี้ หลังจากปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะสินทรัพย์ (due diligence)

สำหรับความคืบหน้าการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าปากเหมือง ขนาดกำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ ในอินโดนีเซียนั้น คาดว่าจะรู้ผลในเดือน ธ.ค.60 หลังรัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ระหว่างทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ปี 61 ในช่วงเดือนพ.ย.นี้ โดยคาดว่าบริษัทจะเข้าไปลงทุนไม่เกิน 49% จากผู้ถือหุ้น 3 ฝ่าย ซึ่งมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในอินโดนีเซียเข้าร่วม และจะมีการไฟฟ้าของอินโดนีเซีย (PLN) เข้าร่วมถือหุ้นด้วย โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้มีแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 64 คาดใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง และเริ่มจ่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 65

โรงไฟฟ้าดังกล่าว จะใช้ถ่านหินที่มีค่าความร้อน 3,900 กิโลแคลอรี่/กิโลกรัม จำนวน 28-32 ล้านตัน/ปี มีอายุสัมปทาน 25 ปี คาดว่าใช้เงินลงทุนประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะเป็นเงินลงทุนในส่วนทุน 1 ส่วน หรือ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินกู้ 3 ส่วน หรือประมาณ 450 ล้านเหรียญสหรัฐ

"เราคิดว่า 60% ที่มีโอกาสประมูลโรงไฟฟ้านี้ได้ ต้องดูการทบทวนแผน PDP ปี 2018 ก่อน คาดว่าจะรู้ผลในเดือนธ.ค.นี้"

นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า จากนี้ไปบริษัทจะให้บริษัทย่อยในอินโดนีเซียจ่ายปันผลมามากขึ้น เพราะต้องการเคลียร์กำไรที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด เพราะเหมืองที่ทำอยู่ใกล้หมดอายุสัญญาสัมปทาน และนโยบายรัฐบาลอินโดนีเซีย ไม่ต้องการให้คนต่างชาติเข้าถือหุ้นในกิจการเหมืองถ่านหินมากกว่า 49% โดยปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในเหมือง LHI ถือหุ้น 55% เหมือง SGP ถือหุ้น 65%

ส่วนกรณีกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งปิดโรงงานเอทานอลในจ.สุพรรณบุรี ของ บมจ.ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ (TAE) ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 51% นั้น ตั้งแต่เมื่อ 3 ต.ค. 60 เพื่อทำการปรับปรุง บ่อบำบัดน้ำเสียให้เป็นตามมาตรฐานที่ทางราชการกำหนดนั้น ในวันที่ 24 พ.ย.นี้จะหารือร่วมกันเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด สิ่งแวดล้อมจังหวัด เป็นต้น ก่อนจะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม ในวันที่ 27 พ.ย.นี้ เพื่อให้พิจารณาอนุญาตเปิดให้ดำเนินการตามปกติหรือได้ไม่ โดยทางบริษัทพร้อมเปิดเดินเครื่องแล้ว และที่ผ่านมาได้เยียวยาความเสียหายให้ชาวบ้านในบริเวณนั้น 3 อำเภอ 500 หลังคาเรือน เป็นเงินทั้งสิ้น 50 ล้านบาท รวมทั้งจะมีแผนจัดการบริหารน้ำเสียที่ยั่งยืนที่จะดำเนินการในปีหน้า ส่วนการเคลมประกันภัยคงต้องรอออกไปก่อน

สำหรับผลการดำเนินงานของ TAE ในไตรมาส 4/60 คาดว่าจะมีรายได้ลดลง เนื่องจาก TAE ได้หยุดการผลิตไป 2 เดือน และจะส่งผลต่อบริษัทในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย ส่วนในปีหน้าคาดว่า TAE จะเดินเครื่องผลิตจาก 2 โรงงาน ด้วยกำลังการผลิตรวม 115 ล้านลิตร/ปี โดยโรงงานแห่งที่ 2 จะใช้ข้าวบด หรือมันสำปะหลัง เป็นวัตถุดิบ ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่าโรงงานแห่งแรกที่ใช้กากน้ำตาลหรือโมลาส เป็นวัตถุดิบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ