(เพิ่มเติม) ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์เข้มรายงานการถือหุ้นของผู้บริหารขยายวงโยงเพิ่ม พร้อมคาด ตลท.ใช้เครื่องหมาย"C"แยกบจ.มีปัญหาภายในปี 61

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 24, 2017 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสิริวิภา สุพรรณธเนศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ผู้ลงทุนควรมีหลักการเลือกลงทุนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ดี ด้วยการศึกษาข้อมูลสำคัญเพื่อตรวจสอบการทำหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหาร ได้แก่ รายงาน 56-1 และรายงานอื่น ๆ ตามรอบระยะเวลา อาทิ รายงานงบการเงินรายได้ไตรมาส งบการเงินประจำปี รายงานคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ซึ่งรายงาน 56-1 จะเปิดเผยข้อมูลสำคัญ 3 ส่วน ทั้งการประกอบธุรกิจ ครอบคลุมลักษณะของบริษัท หรือกลุ่มบริษัท บริษัทย่อย ที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน ,การจัดการและการกำกับดูแลกิจการ และส่วนวิเคราะห์และคำอธิบายฐานะการเงินของบริษัท

อย่างไรก็ดี ก่อนบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะมีกระบวนการกลั่นกรองในเบื้องต้นตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG) และเมื่อเข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯก็ยังมีกลไกการกำกับดูแลให้บริษัทจดทะเบียนนั้นมีคุณภาพ ดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกมาตรการเบื้องต้นไปแล้ว เพื่อช่วยจัดกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่มีปัญหาฐานะการเงิน ปัญหาด้านงบการเงิน หรือปัญหาลักษณะธุรกิจ โดยการขึ้นเครื่องหมาย "C" และกำหนดให้เป็นหุ้นที่ซื้อขายด้วย Cash Balance ซึ่งจะได้นำมาใช้ต่อไป

นางสิริวิภา กล่าวว่า กลต.ได้เข้าไปติดตามกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนหลังการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) โดยเน้นย้ำในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่มีความโปร่งใสและทั่วถึง โดยเฉพาะรายงานเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนอย่างครบถ้วนยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้นักลงทุนตระหนักถึงความเสี่ยงและศึกษาข้อมูลของบริษัทก่อนการลงทุน

ก.ล.ต.ได้มีแนวทางการปรับรูปแบบรายงาน 56-1 และแบบแสดงรายการการถือหลักทรัพย์ของผู้บริหาร (59-2) สะท้อนถึงหลักเกณฑ์ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ อย่างกรณีของ 59-2 จากเดิมจะต้องรายงานเพียงส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ของบริษัทเท่านั้น แต่ในรูปแบบใหม่กำหนดให้ กรรมการ ผู้บริหาร และผู้สอบบัญชีรายงานการถือครองหุ้นสามัญ รวมไปถึงหลักทรัพย์ประเภทอื่นที่อ้างอิงกับหุ้นสามัญดังกล่าว อาทิ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในหุ้นรายตัวดังกล่าว (Stock Futures) เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังครอบคลุมทั้งการถือครองของตนเอง รวมไปถึงคู่สมรสตามกฎหมาย หรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือนิติบุคคลที่กรรมการ และผู้บริการ ถือหุ้นเกินกว่า 30% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมด จะต้องเปิดเผยข้อมูลโดยรายงานเกี่ยวกับการถือครองดังกล่าว

รวมถึงการรายงานเหตุการณ์สำคัญบริษัทจดทะเบียนจะต้องรายงานต่อ ก.ล.ต.พร้อมเหตุผลโดยไม่ชักช้าเมื่อบริษัทฯประสบความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือหยุดประกอบการกิจการทั้งหมด/บางส่วน หรือเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์หรือลักษณะการประกอบธุรกิจ หรือทำสัญญาให้บุคคลอื่นมีอำนาจทั้งหมด/บางส่วนในการบริหารงาน หรือเข้าไป/ถูกครอบงำกิจการ โดยการเข้าไป/ถูกครอบงำกิจการ บริษัทฯจะต้องรายงานเมื่อมีการซื้อขายหลักทรัพย์ในสัดส่วนที่เป็นจำนวนสำคัญที่ 25% 50% และ 70% โดยผู้ซื้อจะต้องเสนอซื้อหลักทรัพย์จากผู้ถือหลักทรัพย์ทั้งหมด หรือกรณีอื่นที่มีหรือจะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหลักทรัพย์ การตัดสินใจในการลงทุน และการเปลี่ยนแปลงหลักทรัพย์

“ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนกับบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพได้โดยศึกษาข้อมูลจากรายงานสำคัญต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิ รายงาน 56-1 และรายงานอื่น ๆ โดยรายงาน 56-1 จะเปิดเผยข้อมูลสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ (1) การประกอบธุรกิจ ครอบคลุมลักษณะของบริษัท หรือกลุ่มบริษัท บริษัทย่อย ที่ดำเนินงานในปัจจุบัน (2) การจัดการและการกำกับดูแลกิจการ โครงสร้างกรรมการและผู้บริหาร ค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหาร นโยบายกำกับดูแลกิจการและความรับผิดชอบต่อสังคม รายการที่เกี่ยวโยงกัน อาทิ การทำรายการระหว่างบริษัทจดทะเบียนกับบริษัทย่อย (3) ส่วนวิเคราะห์และคำอธิบายฐานะการเงินของบริษัท" นางสิริวิภา กล่าว

นางสิริวิภา กล่าวต่อว่า นอกจากการปรับกฎเกณฑ์ใหม่ของ ก.ล.ต.แล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยังมีเครื่องมือในการช่วยสอดส่องความเสี่ยงในการลงทุนอีกด้วย โดยขณะนี้ ตลท.เปิดรับฟังความคิดเห็น (Hearing) ในการออกเครื่องหมาย “C" ที่จะบ่งบอกถึงบริษัทจดทะเบียนที่กำลังมีปัญหา ซึ่งจะกำหนดให้นักลงทุนจะต้องซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น อีกทั้งผู้บริหารจะจัดการเปิดเผยข้อมูลแก่นักลงทุนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงระยะเวลาการแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายการขึ้นเครื่องหมาย “C" จะต้องมีลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งที่ ตลท.กำหนดไว้ ได้แก่ (1) บริษัทที่มี Equity ลดลงต่ำกว่า 50% ของทั้งหมด หรือ บริษัทที่ถูก ก.ล.ต.หรือ หน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สั่งแก้ไขธุรกิจ หรือระงับการดำเนินธุรกิจบางส่วน รวมทั้ง บริษัทยื่นหรือถูกเจ้าหนี้ หรือหน่วยงานทางการสั่งฟื้นฟูกิจการ และศาลรับคำร้อง หรือ บริษัทถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลายและศาลรับคำร้อง

(2) บริษัทฯที่ผู้สอบบัญชีไม่ลงความเห็นงบการเงินเนื่องจากถูกจำกัดขอบเขตโดย บจ. หรือผู้บริหารของ บจ. หรือแสดงความเห็นว่างบการเงินนั้นไม่ถูกต้อง หรือ ก.ล.ต.สั่งให้แก้ไขงบหรือสั่งให้มีผู้สอบบัญชีพิเศษ (Special Audit) และ (3) บริษัทที่มีลักษณะธุรกิจเข้าข่าย Cash Company แต่ยังไม่เข้าข่ายถูกเพิกถอน เงื่อนไขการพิจารณาหลังจากนั้น คือ พ้นเหตุต่อการขึ้นเครื่องหมาย C หรือ เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้

นางสิริวิภร กล่าวว่า หากการเปิดรับฟังความเห็นแล้วเสร็จจะนำเสนอต่อกรรมการ ตลท.และขอความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.ต่อไป โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 61

“เมื่อตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย “C" นักลงทุนควรตระหนักว่าบริษัทที่จะลงทุนมีปัญหาด้านบัญชีอย่างไร แก้ไขได้ไหม ใช้เวลาเท่าไร ต่อไปอาจนำไปสู่การขึ้นเครื่องหมาย “SP" ได้" นางสิริวิภา กล่าวเสริม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ