นายวิรัช มรกตกาล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ วาณิชธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ในปี 61 ธนาคารมีลูกค้าที่ธนาคารรับเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) และการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 2-3 ราย โดยมีมูลค่าระดมทุนรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ได้แก่ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าและรับติดตั้งสถานีไฟฟ้าย่อย คาดว่าจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ภายในไตรมาส 1/60
นอกจากนั้น ยังมีธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทที่มีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง และจะมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 300 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาทในปี 61 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเสนอขาย IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยคาดว่าจะยื่นไฟลิ่งได้ในช่วงไตรมาส 2/60 หรือไตรมาส 3/60
ส่วนอีกบริษัทป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ในประเทศ แต่ยังต้องลุ้นว่าจะสามารถยื่นไฟลิ่งได้ทันปี 61 หรือไม่ เพราะต้องมีการปรับปรุงบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีใหม่ก่อน
นายวิรัช กล่าวอีกว่า ธนาคารยังมุ่งมั่นในการผลักดันการนำบริษัทจากต่างชาติเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯที่อยากให้มีบริษัทจากต่างชาติเข้ามาจดทะเบียน ซึ่งธนาคารจะเน้นกลุ่มลูกค้าในเอเชียที่ธนาคารมีเครือข่าย
โดยในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ย.) จะมีลูกค้าที่เป็นบริษัทจากจีนเดินทางเข้ามาเจรจากับธนาคารเพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการเสนอขาย IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย หากมีความเป็นไปได้ตามกฏเกณฑ์ต่างๆ ก็มีโอกาสที่ลูกค้าชาวจีนดังกล่าวจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอนาคตได้ ขณะที่งานที่ปรึกษาทางการเงินในการจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ปี 61 จะมีจำนวน 2 กอง ซึ่งเป็นขนาดหลักหมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกองที่มีสินทรัพย์ประเภทโรงแรม
อย่างไรก็ตาม ในปี 61 มองว่าจะยังไม่เห็นการจัดตั้งกอง REIT ใหม่มากนัก เพราะในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายได้จัดตั้งไปค่อนข้างมากแล้ว และส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนจากกองทุนอสังหาริมทรัพย์เป็นกอง REIT เนื่องจากผู้ประกอบการรายหลายต้องการขยายขนาดสินทรัพย์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
ส่วนงานการควบรวมกิจการ (M&A) ในปี 61 ส่วนใหญ่เป็นดีลในอาเซียน โดยมีดีลในเวียดนาม 2 ดีล ในลาว 1 ดีล ส่วนในกัมพูชาเป็นดีลด้านสินเชื่อ นอกจากนี้ ยังมีดีลที่รออยู่ในอินโดนีเซีย เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ และ ฮ่องกง อีกทั้งยังได้เริ่มเข้าไปศึกษาดีลต่างๆในปากีสถาน และศรีลังกา
รวมถึงการรุกทำดีลที่จะดึงลูกค้าจากต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจสื่อสาร ซึ่งธนาคารไม่ค่อยได้ทำดีลในลูกค้าในกลุ่มนี้มากนัก ทำให้ธนาคารมองว่ามีโอกาสที่จะเข้ารุกในลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น เพราะมีผู้ประกอบการต่างชาติมีความสนใจเข้ามาซื้อกิจการและลงทุนธุรกิจสื่อสารในประเทศไทยค่อนข้างมาก
นาววิรัช กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้ารักษารายได้ค่าธรรมเนียมของธุรกิจวาณิชธนกิจในปี 61 ใกล้เคียงกับปี 60 ที่ 200-300 ล้านบาท โดยธนาคารจะต้องขยายงานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปี 61 เป็น 20 ดีล จากปีนี้ 10 ดีล เนื่องจากในปีหน้ามองว่ามูลค่าของดีลจะมีมูลค่าลดลงจากปีนี้ โดยเฉพาะดีล IPO ที่จะมีมูลค่าลดลงจากปีนี้ เพราะในปีนี้มีบริษัทขนาดใหญ่ที่เสนอขาย IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯไปมากแล้ว โดยธนาคารคาดว่ามูลค่าดีลทั้งหมดที่ธนาคารจะทำในปี 61 อยู่ที่ 1-1.5 แสนล้านบาท จากปีนี้ที่ 3 แสนล้านบาท
ในปีนี้ด้วยศักยภาพของการเป็นกลุ่มการเงินระดับภูมิภาค ประกอบกับยุทธศาสตร์พาลูกค้าไปโตในอาเซียนที่ส่งผลเป็นรูปธรรมช่วยให้ธนาคารเข้าไปเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดทุนไทย รวมถึงสนับสนุนให้ธนาคารมีส่วนแบ่งตลาดธุรกิจวาณิชธนกิจของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยจากข้อมูลจากบลูมเบิร์ก ณ วันที่ 1 พ.ย. 60 ธนาคารมีส่วนแบ่งตลาดรายการ M&A 31% คิดเป็นอันดับ 2 ของตลาด ด้วยมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท และมีส่วนแบ่งตลาดรายการการเสนอขายหุ้น IPO 10% คิดเป็นอันดับ 4 ของตลาด ด้วยมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
หากรวมธุรกรรมด้านวาณิชธนกิจทั้ง M&A และ IPO รวมถึงรายการที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนผ่านตลาดทุน (Equity Capital Markets) รายการการเสนอขายหน่วย REIT แล้ว นายวิรัช กล่าวว่า จะพบว่าในปีนี้ธนาคารมีมูลค่าของดีลทั้งหมดรวมกันมากกว่า 2 แสนล้านบาท
และธนาคารยังมีบทบาทในการเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย (Lead Underwriter) ในหลายดีลสำคัญของประเทศอีกด้วย ประกอบไปด้วยการนำเสนอขายหุ้น IPO ของ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) บมจ. บีกริม เพาเวอร์ และ บมจ.ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ (III) การได้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการขายสินทรัพย์ของ ของ บลจ.กรุงไทย และการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ บมจ. บีซีพีจี (BCPG) ในการซื้อโครงการไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งนอกจากฟิลิปปินส์แล้ว ดีลในอาเซียนที่เกิดขึ้นจากการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการเงินระดับภูมิภาคของธนาคารยังครอบคลุมไปถึง อินโดนีเซีย และดีลจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาซื้อสินทรัพย์ในไทย
“เครื่องยนต์เราพร้อม theme เราชัด ปีนี้เป็นปีที่ซีไอเอ็มบี ไทย active จากความพร้อมของทีมงาน การวางยุทธศาสตร์ชัดเจนในการทำดีล และสำคัญที่สุด คือ จุดยืนชัดเจนที่เน้นย้ำมาตลอดคือ การใช้ความแตกต่างจาก network และ relationship ของเราใน ASEAN การพาลูกค้าไปเติบโตในอาเซียน และพาลูกค้าต่างประเทศมาลงทุนในไทย โดยใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของเครือข่ายอันแข็งแกร่งของกลุ่มซีไอเอ็มบีอย่างเต็มที่"นายวิรัช กล่าว