นายมนต์ชัย หนูสูง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที (TOT) คาดว่าจะเลื่อนการลงนามสัญญากับบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ในการให้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Roaming) บนคลื่นความถี่ 2300 MHz เป็นต้นปีหน้า จากเดิมที่คาดว่าจะลงนามได้ราวเดือนธ.ค.60 เนื่องจากขณะนี้รอความคิดเห็นจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)จากที่ ทีโอทีได้ทำหนังสือชี้แจงว่าทีโอทีสามารถดำเนินการได้ ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างรอทางสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)พิจารณาร่างสัญญา หากเห็นชอบจะเสนอบอร์ดทีโอทีเพื่ออนุมัติก่อนลงนามในสัญญา
ทีโอที ได้คัดเลือกดีแทค ไตรเน็ตเป็นพันธมิตรคู่ค้าในรูปแบบบริการโรมมิ่ง โดยแบ่งความจุโครงข่าย (Capacity) 60% ของจำนวน 60 MHz โดยมีระยะเวลาสิ้นสุดปี 68 โดยใช้เทคโนโลยี 4G LTE ADVANCED โดยทีโอทีจะได้รับค่าตอบแทนปีละ 4,510 ล้านบาท โดยก่อนหน้าคาดว่าจะเซ็นได้เร็ว ซึ่งทีโอทีจะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 500 ล้านบาทในช่วงต.ค.-ธ.ค.60 แต่เมื่อยังไม่สามารถลงนามได้ จึงไม่ได้รับค่าตอบแทน และหากเลื่อนการลงนามไปอีกก็ยิ่งทำให้ ทีโอทีเสียโอกาสในการได้รับผลตอบแทน ซึ่งจะกระทบรายได้ของทีโอทีเอง
ส่วนอีก 40% จะแบ่งไปรองรับอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ที่คาดว่าจะรองรับได้อีกประมาณ 1 ล้านคน จากปัจจุบันที่ทีโอทีมีฐานลูกค้าปัจจุบันกว่า 1 ล้านราย อีกส่วนจะให้บริการกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โครงข่ายเสมือน (MVNO)ที่ขณะนี้เจรจาอยู่ 3-4 ราย
ทั้งนี้ ทีโอทีจะส่งหนังสือเพื่อชี้แจงในรายละเอียดให้แก่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช.เพื่อยืนยันว่า ทีโอที สามารถดำเนินการให้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ให้บริการโรมมิ่งบนคลื่นความถี่ 2300 MHz โดยในวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมาก็ได้เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการฯไปแล้ว
เมื่อ 29 ต.ค. 58 กสทช. มีมติอนุญาตให้ บมจ.ทีโอที ปรับปรุงเทคโนโลยีบนคลื่น 2300 MHz เพี่อให้บริการ เสียง ข้อมูล และพหุสื่อ โดยใช้เทคโนโลยี LTE และใช้งานได้ทั่วประเทศ ตามประกาศ กทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการ Broadband Wireless Access (BWA) ย่านความถี่วิทยุ 2300 – 2400 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ต่อมาเมื่อ 25 เม.ย. 59 กสทช. ได้แจ้งเพิ่มเติมมายัง บมจ.ทีโอที ว่ามติดังกล่าวเป็นการอนุญาตให้ บมจ.ทีโอที นำคลื่น 2300 MHz ไปให้บริการได้ทั้งประเภท Fixed Wireless Broadband และ Mobile Broadband ซึ่งแผน BWA ดังกล่าวระบุให้ บมจ.ทีโอที ใช้เทคโนโลยีใดก็ได้ (Neutral Technology) ตามข้อเสนอแนะของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU-R Recommendations)
โดยเอกสาร F1399.1 ของมาตรฐาน ITU-R ได้ให้คำอธิบายว่า Broadband Wireless Access (BWA) คือการเชื่อมต่อไร้สายที่มีความเร็วสูงกว่า 2 Mbps ซึ่งเป็นไปได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ (1) Fixed Wireless Access (FWA) คือ การเชื่อมต่อไร้สายแบบประจำที่ (2) Mobile Wireless Access (MWA) คือ การเชื่อมต่อไร้สายแบบเคลื่อนที่ และ (3) Nomadic Wireless Access (NWA) คือ การเชื่อมต่อไร้สายแบบกึ่งเคลื่อนที่ ซึ่ง บมจ.ทีโอที ได้ปฏิบัติตามมติ กสทช. และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
"ทีโอที ได้ส่งร่างสัญญาธุรกิจกับคู่ค้าไปยัง กสทช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นการดำเนินงานของ ทีโอที สอดคล้องกับมาตรา 46 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรฯ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 60 ซึ่ง ทีโอที เข้าใจว่า กสทช. มีกระบวนการในการพิจารณาให้รอบคอบบนพื้นฐานของการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ทีโอที ต้องขอขอบคุณ กสทช. ที่ได้ให้การสนับสนุนเห็นชอบแผนการปรับปรุงการใช้งานคลื่น 2300 MHz มาตั้งแต่ต้น ซึ่ง ทีโอที มั่นใจว่าได้ปฏิบัติตามมติ กสทช. ทั้งหมดและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด"กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าว
ขณะที่ ในเดือน ธ.ค.นี้ ทีโอทีเตรียมลงนามสัญญากับบริษัทในกลุ่ม บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หลังจากบอร์ด ทีโอทีอนุมัติให้ลงนามได้จำนวน 2 สัญญา เมื่อ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยสัญญาแรก ลงนามกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN)ในการให้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Roaming) บนคลื่นความถี่ 2100 MHz จำนวน 15 MHz โดยให้ความจุโครงข่าย 80% ระยะเวลาสิ้นสุดปี 68 ซึ่งจะได้รับค่าตอบบแทนปีละ 3,900 ล้านบาท และอีกสัญญาเป็นสัญญาเช่าใช้โครงข่ายและอุปกรณ์ เสาโทรคมนาคม โดยลงนามกับบริษัท ซูปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ตเวิร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ADVANC โดยได้รับผลตอบแทนปีละ 5,600 ล้านบาท รวมเป็น 9,500 ล้านบาท/ปี โดยที่ผ่านมากลุ่ม ADVANC ได้เข้ามาทำการทดสอบมา 7 เดือนแล้วและให้ผลตอบแทนด้วย
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หลังจากตรวจร่างสัญญาฯ ระหว่างทีโอที กับ ดีแทค ไตรเน็ตแล้วพบว่ายังมีรายละเอียดทางเทคนิคบางส่วนที่ไม่สอดกับที่ระบุในรายงานการประชุมของกรรมการกสทช.
“ในรายงานการประชุมเดิมของกทค.และบอร์ดใหญ่ ได้มีการระบุเทคโนโลยีที่ทั้งสองบริษัทจะนำไปให้บริการได้ไว้ชัดเจน โดยคลื่นย่าน 2300 MHz เป็นย่านที่เอาไว้ใช้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเท่านั้น ไม่สามารถเอาไปให้บริการด้วยเสียงได้"นายฐากร กล่าว
นายฐากร กล่าวอีกว่า คณะกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคมจะประชุมพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งช่วงวันที่ 7 หรือ วันที่ 8 ธ.ค. จากนั้นจะสรุปเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช. วันที่ 13 ธ.ค.60 โดยเบื้องต้นคาดว่าบอร์ดจะให้ความเห็นชอบร่างสัญญาฯ โดยมีข้อสังเกตแนบท้ายรายงานการประชุมของบอร์ดกสทช. ประมาณ 6-7 ข้อระบุว่าการนำคลื่นย่าน 2300 MHz ไปให้บริการของสองบริษัทเป็นสิ่งทำได้แต่ต้องปรับปรุงแก้ไขร่างสัญญาฯให้เรียบร้อย จากนั้นจึงส่งให้อัยการสูงสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาก่อนจะลงนามในร่างสัญญาฯได้