นายสุรศักดิ์ เอิบสิริสุข กรรมการผู้จัดการ บมจ.สหมิตรถังแก๊ส (SMPC) คาดว่ากำไรสุทธิปีนี้จะทำได้ใกล้เคียงระดับ 541.14 ล้านบาทในปีที่แล้ว แม้ยอดขายจะทำได้ตามเป้าหมายที่คาดว่าจะเติบโตกว่า 20% จากปีก่อนตามความต้องการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดในบังคลาเทศและแอฟริกา ซึ่งจะผลักดันให้ยอดขายในปี 61 เติบโตได้อีก 15-20% จากปีนี้ ส่งผลให้เตรียมงบลงทุนราว 430 ล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิตถังก๊าซ LPG ในประเทศและสร้างโรงงานแห่งใหม่ในภูมิภาคเอเชีย รองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น
"ตลาดปีหน้าน่าจะดีกว่าปีนี้ ปีนี้เราส่งออกไปบังคลาเทศ 2.5 ล้านลูก ปีหน้าจะมีออร์เดอร์มากกว่าปีนี้อีก เพราะ facility ของโรงต่าง ๆ ที่บังคลาเทศเสร็จแล้วส่วนใหญ่ ก็มีบริษัทที่เปิดตัวอีก 7-8 บริษัทกำลังไล่ซื้อถังอยู่ คิดว่าไม่พอ supply บังคลาเทศเขามีประชากรประมาณ 180 ล้านคน และเพิ่งเริ่มใช้ก๊าซเมื่อ 1-2 ปี สมัยก่อนใช้ก๊าซธรรมชาติเป็น pipe line ต่อมารัฐบาลเขายกเลิกเพราะว่า pipe อาจจะมีปัญหาได้"นายสุรศักดิ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตถังก๊าซ 8.2 ล้านใบ/ปี จากโรงงานที่มีอยู่ทั้งหมด 3 โรงงานในไทย และอยู่ระหว่างพิจารณาศักยภาพของตลาดก่อนจะขยายกำลังการผลิตเป็น 10 ล้านใบ/ปี ซึ่งจะทำให้เต็มขีดความสามารถของโรงงานที่มีอยู่ โดยคาดว่าจะสรุปในช่วงไตรมาสแรกปี 61 หากตัดสินใจลงทุนก็จะใช้เงินราว 30 ล้านบาทเพื่อซื้อเครื่องจักรรองรับการขยายกำลังการผลิต และคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3 ปี 61
สำหรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้นเพื่อรองรับตลาดที่ขยายตัวมาก โดยเฉพาะในบังคลาเทศที่บริษัทส่งถังก๊าซไปจำหน่ายราว 30-40% ของปริมาณขายรวม ขณะที่ปัจจุบันบริษัทส่งออกถังก๊าซในสัดส่วน 95% ไปยังทุกทวีปกว่า 100 ประเทศ โดยมีตลาดหลักในแอฟริกา,เอเชีย ,สหรัฐอเมริกา ,นิวซีแลนด์ ,ออสเตรเลีย,ยุโรป ขณะที่มีการจำหน่ายถังก๊าซในประเทศราว 5% ด้วยส่วนแบ่งตลาดในประเทศราว 50-60%
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อสร้างโรงงานถังก๊าซในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในภูมิภาคเอเชีย โดยจะตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันภายในนิคมฯยังไม่มีความพร้อมมากนักทำให้การลงทุนมีความล่าช้า แต่เบื้องต้นคาดว่านิคมฯดังกล่าวน่าจะมีความพร้อมประมาณปลายปี 61 ทำให้บริษัทจะเข้าไปลงทุนโดยร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่น สร้างโรงงานถังก๊าซ กำลังการผลิต 2.5 ล้านใบ/ปี ใช้เงินลงทุนราว 400 ล้านบาท รองรับความต้องการใช้ถังก๊าซในประเทศดังกล่าว และพร้อมจะส่งออกในอนาคตหากได้รับสิทธิทางภาษี
"งบลงทุนปกติของเราจะอยู่ที่ราว 100-150 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรวมงบซื้อเครื่องจักรสำหรับการขยายกำลังการผลิตโรงงานในประเทศ ส่วนที่เหลือใช้ปรับปรุงซ่อมบำรุงเครื่องจักร แต่ยังไม่รวม new investment 400 ล้านบาท ในต่างประเทศ...การลงทุนต่างประเทศอาจเป็นการกู้เพราะ D/E ค่อนข้างต่ำ มีหลาย option ที่กำลังพิจารณาอยู่เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำ เราจะไปพร้อมกับ partner ในประเทศนั้น ๆ แต่เราจะถือหุ้นใหญ่มากกว่า 51% เพราะเป็น business core ของเรา"นายสุรศักดิ์ กล่าว
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับตลาดถังก๊าซในประเทศค่อนข้างทรงตัว เพราะไทยมีการใช้ก๊าซมานานกวา 30 ปีแล้ว ตลาดส่วนใหญ่จึงเป็นตลาดทดแทนเป็นหลัก อย่างไรก็ตามการที่รัฐบาลลอยตัวราคา LPG และเปิดเสรีนำเข้า LPG ก็จะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา และเมื่อราคาถูกลงก็มีโอกาสทำให้เกิดผู้ค้ามาตรา 7 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นโอกาสดีของผู้ผลิตถังก๊าซอย่างบริษัทที่จะมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นในอนาคตด้วย ขณะที่คาดว่าราคาน้ำมันในปีหน้าน่าจะปรับตัวลง ทำให้ราคา LPG ถูกลงและจะทำให้มีความต้องการใช้มากขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อผู้ผลิตถังก๊าซด้วยเช่นกัน
สำหรับภาวะตลาดถังก๊าซที่ยังเติบโตต่อเนื่องนั้น ผลักดันให้ยอดขายปีนี้เติบโตได้ตามเป้าหมายกว่า 20% จากระดับ 3.5 พันล้านบาทในปีที่แล้ว หลังในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ทำยอดขายได้แล้ว 3.13 พันล้านบาท แต่ในส่วนของกำไรสุทธิอาจจะทำได้เพียงใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 541.14 ล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 381.12 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปีได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบเหล็กที่มีราคาสูง ประกอบกับรับคำสั่งซื้อระยะยาว ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นทำได้ต่ำกว่าปกติที่ราว 25% แต่คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากสถานการณ์ราคาเหล็กที่เริ่มทรงตัว
ส่วนในปีหน้าตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโตในระดับ 15-20% ซึ่งเป็นการเติบโตทั้งปริมาณและมูลค่า ตามความต้องใช้ถังก๊าซที่เติบโตในตลาดบังคลาเทศและแอฟริกา ประกอบกับแนวโน้มราคาเหล็กที่น่าจะอยู่ในระดับทรงตัวไม่ผันผวน ซึ่งจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นกลับมาอยู่ในระดับปกติที่ราว 25% ก็น่าจะทำให้กำไรในปีหน้าของบริษัทอยู่ในระดับที่"น่าจะดี"
"ปีหน้ากำไรน่าจะดี เพราะ demand มากกว่า supply อย่างไรราคาก็น่าจะดี อย่างตลาดบังคลาเทศที่ดีเราก็ทำไม่ไหว...ต้นปีเรามีออร์เดอร์รับยาว ราคาเหล็กขึ้นทำให้มาร์จิ้นแกว่ง แต่ตอนนี้เราก็หันมาล็อคออร์เดอร์สั้นแทน แต่ถ้ามีออร์เดอร์ยาวก็จะหาทางป้องกันความเสี่ยงแทน เรื่องเงินบาทที่แข็งค่าก็มีกระเทือนบ้าง เพราะเราส่งออกเป็นส่วนใหญ่ แต่พอดีเราซื้อวัตถุดิบเป็นดอลลาร์ ก็เป็นการ nature hedge อยู่แล้ว ช่วยได้ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งก็อาจทำเป็น forward ขายพวกยูโร ในส่วนดอลลาร์ไม่ค่อยได้ทำ ค่าเงินแข็งแต่ตลาดดีก็ไม่ค่อยกระเทือนมาก"นายสุรศักดิ์ กล่าว