ทิสโก้ มองภาพรวมตลาดหุ้นปี 61 ผันวนหลัง Valution ค่อนข้างแพง - ธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายที่เข้มงวดขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Sunday December 3, 2017 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นในปี 2561 น่าจะมีโอกาสปรับขึ้น (Upside) จำกัด เนื่องจากมูลค่า (Valuation) ที่ค่อนข้างแพง และตลาดน่าจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้น หลังธนาคารกลางทั่วโลกทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องและเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น แม้สภาพคล่องจะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2561 แต่อัตราการเพิ่มขึ้นก็มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดขึ้นของ 3 ธนาคารกลางหลัก ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ญี่ปุ่น (BOJ) และสหรัฐฯ (FED) จะส่งผลให้อัตราการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องของโลกลดลง จากที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อไตรมาสมาตั้งแต่ปี 2556 ลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง (1.5 แสนล้านดอลลาร์ต่อไตรมาส) ในไตรมาส 1/2561 และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจนเหลือ 0 ในไตรมาส 4/2561 และหลังจากนั้นสภาพคล่องของโลกจะเริ่มลดลงในปี 2562 น่าจะส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนมากขึ้นในปีหน้า

"นอกจากปัจจัยข้างต้นความเสี่ยงที่จะเกิดการปรับฐานของตลาดน่าจะเกิดขึ้นอีกจากการฟื้นตัวของเงินเฟ้อเร็วกว่าที่คาด ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยในตลาดกลับมาเพิ่มขึ้นเร็ว และส่งผลต่อเนื่องไปกดดันระดับ Valuation ที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูงท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา" นายคมศร กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2561 แนะนำให้เน้นลงทุนใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และ 2) หุ้นในกลุ่มธุรกิจการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และ 3) หุ้นในกลุ่ม Health Care ของสหรัฐฯ ที่กำไรเติบโตสูงสม่ำเสมอ และ Valuation ยังถูกกว่าในอดีตค่อนข้างมาก

โดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังซื้อขายที่ระดับ Valuation ที่ยังดูสมเหตุสมผลกว่าตลาดอื่นๆ โดยค่า P/B ของดัชนี NIKKEI225 ยังอยู่ที่ระดับ 1.8 เท่า ต่ำกว่าตลาดหุ้นยุโรป (STOXX600) และสหรัฐฯ ซึ่งเทรดที่ P/B 1.9 เท่า และ 3.2 เท่า ตามลำดับ นอกจากนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเงินเฟ้อ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เงินเฟ้อต่ำ ดังนั้นธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นมากเท่ากับธนาคารกลางอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น การที่เงินเฟ้อฟื้นตัวขึ้นจะส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นอีกด้วย

ส่วนกลุ่มธุรกิจการเงินในสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะทำให้รายได้จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายกฎระเบียบของสถาบันการเงิน เช่น การผ่อนคลายกฎ Volcker Rule ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารมีกำไรเพิ่มขึ้นจากการซื้อขายหลักทรัพย์ และการผ่อนเกณฑ์การทำ Stress Test ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน และเพิ่มความยืนหยุ่นในการจ่ายเงินปันผลคืนให้ผู้ถือหุ้นอีกด้วย

ในขณะที่หุ้นในกลุ่ม Health Care มีกำไรสม่ำเสมอ และกำไรมีความผันผวนต่ำแม้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยเช่นในปี 2002 (dot com bubble) และปี 2008 (Global Financial Crisis) ซึ่งน่าจะทำให้หุ้นในกลุ่มนี้มีความน่าสนใจในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นเช่นในปีหน้า นอกจากนั้นหุ้นในกลุ่ม Health Care ยังมีการเติบโตของกำไรที่สูงมาก เนื่องจากได้ประโยชน์จาก Megatrend ของสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ขับเคลื่อนกำไรต่อไปในระยะยาว ส่วนในด้าน Valuation หุ้นในกลุ่ม Health Care เทรดที่ Forward P/E 16.5 เท่า ต่ำกว่าดัชนี S&P500 อยู่ราว 8% ซึ่งหากเทียบกับในอดีตที่หุ้นในกลุ่มนี้เคยซื้อขายที่ P/E สูงกว่าดัชนีโดยเฉลี่ยประมาณ 20% ประกอบกับแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่สูงกว่า ก็ยิ่งทำให้หุ้นในกลุ่ม Health Care มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นไปอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ