ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อในจีนสำหรับปี 61 จำนวน 22,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 15,000ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าฐานเงินฝากในจีนอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่อยู่ระดับหลักพันล้านบาท หลังล่าสุดได้รับอนุมัติจากทางการจีนให้ตั้งธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นจดทะเบียน ขณะที่การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารสำหรับรายย่อยในจีนเพิ่มเติม คาดว่าจะได้รับภายในปี 62
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ของ KBANK เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการกำกับดูแลภาคธนาคารของจีน (CBRC) ให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นจดทะเบียน (LII) เต็มรูปแบบ ในชื่อ “ไคไท่หยินหาง (จงกั๋ว)" หรือบริษัท ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) จำกัด โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ ณ เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง พร้อมเครือข่ายบริการ ได้แก่ สาขาเซินเจิ้น (และสาขาย่อยหลงกั่ง) สาขาเฉิงตู สาขาเซี่ยงไฮ้ สาขาฮ่องกง สำนักงานผู้แทน ณ นครปักกิ่ง และสำนักงานผู้แทน ณ เมืองคุนหมิง ซึ่งการได้รับใบอนุญาตให้ตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นจดทะเบียนจะทำให้ธนาคารสามารถให้บริการลูกค้าบรรษัทได้อย่างครบวงจร รวมถึงขยายสาขาหรือยกระดับสำนักงานตัวแทนเป็นสาขาในประเทศจีนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
อีกทั้งในอนาคตยังสามารถให้บริการลูกค้าบุคคลได้ด้วย จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจของธนาคาร เนื่องจากตลาดจีนมีขนาดใหญ่และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศสูง อีกทั้งยังมีแผนการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้าบรรษัทและลูกค้าบุคคลของธนาคารมากมาย เช่น นโยบาย “One Belt, One Road" และ แผนการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับคนจีน
ทั้งนี้ ธนาคารวางแผนจะร่วมมือกับกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และ/หรือ บริษัทฟินเทค ในการพัฒนา Digital Banking Platform หากเชื่อมโยงบริการของกสิกรไทยในประเทศจีน และบริการของธนาคารกสิกรไทยในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน จะทำให้ธนาคารก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการชำระเงินในภูมิภาค AEC+3
นอกจากนี้ธนาคารยังได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งสาขาที่ 3 เพิ่มเติม ณ นครเซี่ยงไฮ้ เขตผู่ตง ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินของจีนและของโลกในอนาคต อีกทั้งสาขาดังกล่าวยังอยู่ในเขตเศรษฐกิจการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ (Shanghai FTZ) และเป็นบริเวณที่มีธุรกรรมการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียนสูง มียอดธุรกรรมในปี 59 ถึง 92,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 21% ของมูลค่าการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีปริมาณการลงทุนจากเซี่ยงไฮ้ไปยังประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น การเปิดสาขาเซี่ยงไฮ้จึงทำให้ธนาคารสามารถให้บริการและขยายฐานลูกค้าในนครเซี่ยงไฮ้และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเจียงซู และมณฑลชานตง โดยในช่วงเริ่มต้นสาขาเซี่ยงไฮ้จะเน้นการบริการลูกค้าบรรษัทของไทยและจีนที่ค้าขายระหว่างจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน และลูกค้าบรรษัทจีนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
นายบัณฑูร กล่าวว่า ในโอกาสที่ธนาคารกสิกรไทยได้รับอนุมัติจัดตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นจดทะเบียนในจีน ธนาคารจึงได้ร่วมมือกับกรมพาณิชย์แห่งมณฑลกวางตุ้ง โดยจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมพาณิชย์แห่งมณฑลกวางตุ้งและธนาคารกสิกรไทย ในความร่วมมือและอำนวยความสะดวกระหว่างภาคธุรกิจจากมณฑลกวางตุ้งที่สนใจเข้าใจลงทุนในไทยเนื่องจากปัจจุบันภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานในการทำการค้าในภูมิภาคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และภาคธุรกิจไทยที่สนใจเข้ามาลงทุนและทำการค้าในเขตภาคใต้ของประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งการค้าสำคัญของภาคธุรกิจไทย
นายวงศ์พัฒน์ พันธุ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (ประเทศจีน) เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้รับการอนุมัติจัดตั้งเป็นธนาคารท้องถิ่นจดทะเบียนในจีน ซึ่งธนาคารได้ตั้งเป้าสินเชื่อในจีนปี 61 อยู่ที่ 22,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าธุรกิจจีน 60% ไทย 30% และอื่น ๆ 10% รวมถึงตั้งเป้าธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศเติบโตราว 30-40%
โดยกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะเติบโตในจีนระยะต่อไป ประเมินว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้อานิสงส์จากโครงการ One Belt ,One Road เช่น กลุ่มวัสดุก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ คาดว่ามีโอกาสจะใช้บริการสินเชื่อมากขึ้น นอกจากนี้ในอนาคตคาดหวังจะขยายการให้บริการที่ปรึกษาการทำธุรกิจระหว่างประเทศด้วย
ด้านฐานเงินฝากในจีนปี 61 ตั้งเป้าอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ในหลักพันล้านบาท ซึ่งธนาคารคาดหวังจะได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจธนาคารสำหรับรายย่อยในจีนภายในปี 62 ซึ่งคาดว่าจะประสบความสำเร็จ หลังได้รับความไว้วางใจจัดตั้งเป็นธนาคารท้องถิ่นไปแล้ว
สำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่จะเน้นเบื้องต้น คือกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปไทยจำนวนมาก และนักท่องเที่ยวจากไทยมาจีนมากขึ้นเช่นกัน ทำให้มีความจำเป็นเรื่องการใช้ระบบจ่ายเงิน เพราะจีนมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ซึ่งยังมีช่องว่างด้านธุรกรรมพอสมควร ดังนั้น จึงเล็งเห็นโอกาสการพัฒนาเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวทั้ง 2 ประเทศ
ขณะที่นายบัณฑูร กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารกสิกรไทยเล็งเห็นความสำคัญในการเชื่อมโยงธุรกิจ การค้า การลงทุนในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันการจะเป็นแค่ธนาคารอาจจะไม่เพียงพอ การผลักดันตัวเองให้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจแห่ง AEC+3 เชื่อมโยงโอกาสให้กับลูกค้า ซึ่งไม่เพียงแต่บริการด้านการเงินเท่านั้น ทางธนาคารยังมีบริการในด้านการให้คำปรึกษาการลงทุน และการจับคู่ธุรกิจ เพื่อช่วยให้การดำเนินธุรกิจในต่างประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยมีเครือข่ายบริการในต่างประเทศครอบคลุมในกลุ่มประเทศ AEC+3 และประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 17 แห่ง แบ่งเป็น ธนาคารท้องถิ่น 2 แห่ง ตั้งอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนมีสำนักงานใหญ่ที่เมืองเซินเจิ้น และสปป.ลาวมีสำนักงานใหญ่ที่นครเวียงจันทน์ สาขาต่างประเทศ 7 แห่ง ได้แก่ สาขาเซี่ยงไฮ้ สาขาเฉิงตู สาขาฮ่องกง สาขาย่อยหลงกั่ง สาขาพนมเปญ สาขาบ้านโพนสีนวน และสาขาหมู่เกาะเคย์แมน สำนักงานผู้แทน 8 แห่ง ได้แก่ สำนักงานผู้แทนปักกิ่ง สำนักงานผู้แทนคุนหมิง สำนักงานผู้แทนย่างกุ้ง สำนักงานผู้แทนฮานอย สำนักงานผู้แทนโฮจิมินห์ สำนักงานผู้แทนจาการ์ตา สำนักผู้แทนโตเกียว และสำนักงานผู้แทนลอสแอนเจลิส
ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกและยังเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เป็นผลจากขนาดเศรษฐกิจของจีนที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 15% ของเศรษฐกิจโลกทั้งหมด ด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจกว่า 6.8% ในไตรมาส 3 ของปี 60 และคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนทั้งปีนี้น่าจะอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 6.7% ในปัจจุปันจีนอยู่ในช่วงการดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้จีนกลายเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและการเงินของโลก
ภายใต้แผนดังกล่าวได้มีการดำเนินนโยบาย “Made in China 2025" ซึ่งจะกระตุ้นให้จีนสามารถขยายขีดความสามารถด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของประเทศ ยกระดับผลผลิตต่าง ๆ ในห่วงโซ่การผลิต ผลักดันแบรนด์ “Made in China" ให้เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก นโยบายนี้จะเน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมการผลิต เช่น สินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมไอที ไฮเทคโนโลยีและกลุ่มฟินเทค ถึงแม้ว่าปัจจุบันจีนจะมีบริษัทฟินเทคยูนิคอร์น (กิจการที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพียง 8 แห่ง เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มียูนิคอร์น 12 แห่ง แต่มูลค่าบริษัทฟินเทคยูนิคอร์นของจีนขณะนี้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 96.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้บริษัทฟินเทคยูนิคอร์นของจีนมีมูลค่าสูงที่สุดในโลก