ก.ล.ต.เล็งเพิ่มสัดส่วนขั้นต่ำและเพดานเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็น 3-30% จากเดิม 2-15% ส่งเสริมการออมวัยเกษียณ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 4, 2017 14:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.เตรียมพิจารณาปรับเพิ่มสัดส่วนขั้นต่ำและเพดานของสัดส่วนเงินสมทบที่ใส่เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund:PVD) เพิ่มขึ้นเป็น 3-30% จากปัจจุบันที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนดสัดส่วนของเงินสมทบขั้นต่ำและเพดานอยู่ที่ 2-15% เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมที่มากขึ้น รองรับต่อการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ ขณะที่การปรับเพดานของสัดส่วนเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ที่จะปรับอัตราขั้นต่ำและเพดานของสัดส่วนของเงินสมทบเพิ่มขึ้นเป็น 3-30% เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมมากขึ้น และทำให้เกิดการนำเงินไปลงทุนต่าง ๆ

ก.ล.ต.ได้ตระหนักถึงการวางแผนการเงินและเลือกลงทุนให้เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมคนวัยทำงานให้เตรียมพร้อมในเรื่องเงินออมให้เพียงพอ และออมให้เป็นเพื่อรองรับการใช้จ่ายในวัยเกษียณ เนื่องจากปัจจุบันจำนวนประชากรผู้สูงอายุ หรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มมากขึ้น และกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 68 ซึ่งจะมีผู้สูงอายุเป็นจำนวน 20%

“ก.ล.ต.ให้ความสำคัญกับเรื่องการออมอย่างมาก เพื่อให้คนวัยทำงานสามารถมีเงินออมเพื่อรองรับวันเกษียณ ซึ่งอยากให้มีการออมที่เพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันคนขาดความใส่ใจในเรื่องการออม และการเข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบางคนก็กลัวในเรื่องผลตอบแทนระยะสั้นที่มีความไม่แน่นอน ซึ่งทางก.ล.ต.ไม่อยากให้มองในเรื่องผลตอบแทนแค่ในระยะสั้น แต่การออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นประโยชน์ในระยะยาว เพื่องรองรับวัยเกษียณ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศและเศรษฐกิจเองประเทศโดยรวม ถ้าทุกคนสามารถทำได้จะมีผลต่อการเกิด Market Forces ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนใส่ใจในการออมและมีการลงทุนมากขึ้น"นางทิพยสุดา กล่าว

นางทิพยสุดา กล่าวว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบันจำนวนทั้งสิ้น 397 กอง มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิจำนวน 1.01 ล้านล้านบาท มีสมาชิกเข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งหมด 2.93 ล้านราย เพิ่มขึ้น 1.1% และนายจ้างที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 17,093 ราย เพิ่มขึ้น 4.2% จากสิ้นปี 59

ด้านนายพิสิฐ ลี้อาธรรม นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กล่าวว่า การส่งเสริมเรื่องการออมจะช่วยให้ประชาชนที่ทำงานสามารถมีเงินไว้รองรับต่อการใช้ชีวิตในวัยเกษียณ ซึ่งประเทศไทยเริ่มมีประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น และเรื่องปัญหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณเป็นปัญหาหลักของประเทศไทย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในวัยเกษียณจะไม่มีเงินออมไว้สำหรับการไช้ชีวิต ทำให้ทางสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและก.ล.ต.ต้องร่วมกันนำเรื่องนี้ออกมาอธิบายและส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมตั้งแต่วัยทำงาน และรู้จักออมให้มากขึ้น โดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นทางเลือกในการออมอย่างหนึ่งที่ทำให้คนวัยทำงานออมและมีการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนไปพร้อม ๆ กัน และเป็นการกระจายการลงทุนที่มีความหลากหลายซึ่งเป็นไปตามความเสี่ยงที่สมาชิกแต่ละคนสามารถยอมรับได้

โดยทางสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้มีความคิดเห็นที่ตรงกับก.ล.ต.เกี่ยวกับการปรับเพิ่มอัตราขั้นต่ำและเพดานของสัดส่วนเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มเป็น 3-30% จากปัจจุบัน 2-15% เพื่อสอดคล้องกับอัตราเงินสมทบของกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติที่เป็นภาคบังคับ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ต้องการออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถออมได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมองว่าควรจะมีการแก้ไขการจ่ายเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อครบกำหนดให้เป็นการทยอยจ่าย จากปัจจุบันที่จ่ายครั้งเดียวเมื่อครบกำหนด เพราะการจ่ายครั้งเดียวจะทำให้ประชาชนนำเงินออมไปใช้ฟุ่มเฟือยได้และทำให้เกิดปัญหาต่อการใช้ชีวิตในภายหลัง แต่การทยอยจ่ายจะช่วยให้ประชาชนมีวินัยทางการเงินมากขึ้น

อีกทั้งยังมองไปถึงความร่วมมือกับภาคสถาบันการเงินในการส่งเสริมสินเชื่อประเภทการจำนองแบบย้อนกลับ (Reverse Mortgage) ซึ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เป็ทางเลือกวัยเกษียณ โดยเมื่อนำบ้านไปจำนองไว้กับธนาคารแล้ว ธนาคารจะเป็นผู้จ่ายเงินให้ทุกเดือนเหมือนกับว่าธนาคารเป็นผู้มาซื้อบ้านของผู้ขอสินเชื่อ และผู้ขอสินเชื่อจะได้กระแสเงินสดเพื่อนำมาใช้จ่ายแต่ละงวดตามที่ทำสัญญากับธนาคาร จนเมื่อครบกำหนดชำระสุดท้ายบ้านหลังนั้นก็จะตกเป็นของธนาคารซึ่งต่างกับการจำนองทั่วไปที่สุดท้ายแล้วบ้านจะมาเป็นของผู้ขอสินเชื่อที่จะเป็นผู้จ่ายเงินให้ธนาคารทุกเดือน

ทั้งนี้สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้มีการกำหนดจัดประกวดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีเด่น ครั้งที่ 6 เพื่อเฟ้นหากองทุนที่มีการบริหารจัดการที่ดี เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกกองทุน สามารถเป็นรูปแบบที่ดีและเป็นตัวอย่างแก่กองทุนอื่น ๆ ได้ โดยกองที่ชนะเลิศการประกวดจะได้รับรางวัลสมเด็จพระราชทาน รองชนะเลิศจะได้รับโล่รางวัลจากก.ล.ต. และรางวัลชมเชยจะได้รับโล่รางวัลจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเปิดรับสมัครประกวดจนถึงวันที่ 12 ธ.ค. 60 และกำหนดปะกาศผลและมอบรางวัลกองทุนดีเด่นในวันที่ 23 ก.พ. 61 ณ โรงแรมโซฟิเทล สุขุมวิท โดยการจัดประกวดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีเด่นในครั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้มีกองทุนที่มีคุณภาพและมีการบริการจัดการอย่างมีธรรมาภิบาลเพิ่มมากขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ