โบรกเกอร์ต่างแนะนำ"ซื้อ"ธนาคารทหารไทย (TMB) คาดกำไรสุทธิปี 61 เติบโตสูงมาที่ 1.0- 1.17 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นมากจากปีนี้ เป็นผลจากการเติบโตสินเชื่อราว 8-10% หลังผ่านจุดต่ำสุดในปี 60 รับผลบวกจากเศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง ประกอบกับจะมุ่งเน้นสินเชื่อ SME และสินเชื่อรายย่อยเป็นสำคัญ
ขณะเดียวกันผู้บริหารใหม่ของ TMB ได้วางแผนธุรกิจ 5 ปี (ปี 61-65) ที่จะเน้นสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น ปีละ 15-20% ที่จะเพิ่มจากค่าธรรมเนียม Bancassurance ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับพันธมิตรหลักอย่าง FWD , ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ (Loan related fee) และค่าธรรมเนียมการขายกองทุน (Mutual fund fee) จากการ cross sales ผลิตภัณฑ์ผ่านฐานลูกค้าเงินฝาก
ขณะเดียวกันควบคุมอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้รวม (Cost to income ratio) ให้ลงสู่ 40% จาก 45- 47% ในปี 65 โดยบางส่วนจะมาจากการลดสาขา/พนักงานลง จากปัจจุบันธนาคารมีสาขา 430 แห่งและอาจลดลงใน 2-3 ปีข้างหน้า และจะใช้รูปแบบ ดิจิตัลแบงก์ ผ่านมือถือ/อินเตอร์เนต/ATM
ราคาหุ้น TMB ช่วงอยู่ที่ 2.94 บาท เพิ่มขึ้น 0.04 บาท หรือ 1.38% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.08%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น) หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อ 3.40 บัวหลวง ซื้อ 3.20 เคทีบี (ประเทศไทย) ซื้อ 3.20 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 3.20 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 3.20 กสิกรไทย ซื้อ 3.20 กรุงศรี Outperform 3.20 ทรีนีตี้ ซื้อ 3.15
นางสาวสุนันทา วสะภิญโญกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวแนะนำ"ซื้อ"หุ้น TMB มีราคาเป้าหมาย 3.20 บาท โดยมีมุมมองบวกต่อแผนระยะยาว 5 ปี (ปี 61-65) ที่มีเป้าหมายจะเพิ่มรายได้ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม ตลอดจนปรับปรุงต้นทุนการดำเนินงาน โดยกำหนด Cost to income ratio ให้ลงสู่ 40% จาก 45-47% ในปี 65 ส่วนในไตรมาส 4/60 คาดว่ากำไรทรงตัวจากไตรมาส 3/60 ที่ราว 2 พันล้านบาท และลดลงราว 4.5% จากไตรมาส 4/59
คาดการณ์กำไรสุทธิในปี 60 จะอยู่ที่ 8.57 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน แต่ในปี 61 คาดกำไรสุทธิจะเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาท เติบโต 17% จากปีนี้ เป็นผลจากรายได้จากค่าธรรมเนียมดีขึ้น สินเชื่อจะเพิ่มขึ้น 8% จากเดิมคาดโต 6% ทั้งนี้ คาดว่า TMB จะมีกำไรเติบโตเฉลี่ยปีละ 12-14% ตั้งแต่ปี 61-65 และคาดการณ์ ROE ขึ้นไปที่ 11.8-12% จาก 10% ในปี 60
บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ผู้บริหาร TMB ให้ความเห็นว่าจุดต่ำสุดของวัฏจักรนี้จะผ่านพ้นไปในปี 60 นั่นหมายความว่าระดับหนี้เสียจะถึงจุดสูงสุดในปีนี้ แต่ว่าจะปรับตัวลงเร็วแค่ไหนนั้นจะขึ้นอยู่กับโมเมนตัมของเศรษฐกิจในอนาคต สำหรับเป้าหมายทางการเงินปี 61 TMB ตั้งเป้าสินเชื่อจะเติบโต 8-10% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ 3.05-3.15% โดยตัวหนุนหลักของ NIM จะมาจากฝั่งสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ ขณะที่ TMB คาดการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิจะอยู่ที่ 15-20% หนุนโดยกลุ่มรายย่อย และ SME ในแง่คุณภาพสินทรัพย์ ธนาคารมองว่าสัดส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อเฉลี่ย (credit cost) จะอยู่ที่ 135-145 bps ลดลงจากเป้าปีนี้ที่ 140-150 bps
TMB เปิดเผยแผนกลยุทธ์ 5 ปี ในช่วงปี 61-65 ซึ่งจะมุ่งเน้นในขอบเขตทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ การขยายฐานลูกค้า การวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) การปรับองค์กรให้มีสภาวะแวดล้อมการทำงานที่ว่องไว และแผน digital transformation โดยที่ธนาคารตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าเงินฝากผ่านการขยายลูกค้าที่ทำธุรกรรม โดยเฉพาะกลุ่ม SME เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก
ทั้งนี้ TMB วางแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนเงินฝากกลุ่มลูกค้า SME เป็น 20% ในปี 65 จาก 7% ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ และจะเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อ SME เป็น 30% ในปี 65 จาก 15% ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ อีกทั้งธนาคารวางแผนขยายรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยผ่านทางกองทุนรวมและการขายประกันผ่านธนาคาร (bancassurance) นอกจากนั้นแล้ว แผน digital transformation คาดจะช่วยปรับปรุงค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะส่งผลให้ Cost to income ratio อยู่ที่ 40% ในปี 65 พร้อมปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 61 อีก 5.4% มาอยู่ที่ 1.06 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 22.6% จากปีนี้
บทวิเคราะห์บล.บัวหลวง ระบุว่า TMB เปลี่ยนแปลงนโยบายขยายฐานสินเชื่อเชิงอนุรักษ์เป็นการเร่งเพิ่มพอร์ตสินเชื่อรายย่อยและกลุ่ม SME ตั้งแต่ไตรมาส 4/60 และปี 61 ทำให้ปรับเพิ่มสมมติฐานการเติบโตของการปล่อยสินเชื่อจากเดิม 6% มาอยู่ที่ 8% ตามเป้าหมายที่ต่ำสุดของผู้บริหารของ TMB กำหนดในปี 61 จะมีสินเชื่อเติบโต 8-10% ทั้งนี้ คาดการณ์กำไรเพิ่มขึ้น 3% มาอยู่ที่ 1.17 หมื่นล้านบาท ซึ่งมองว่าแนวโน้มกำไรปี 61 จะเพิ่มขึ้นหากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) มากกว่าที่คาด ซึ่งก็จะทำให้อุปสงค์การขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ มองว่ากำไรของ TMB จะฟื้นตัวกอปรกับราคาที่ถูก จึงปรับราคาเป้าหมายจาก 2.8 บาท มาอยู่ที่ 3.2 บาท อ้างอิงจาก PBV ที่ 1.4 เท่า (เท่ากับค่าเฉลี่ยระยะยาว) และปรับคำแนะนำจาก "ถือ"เป็น "ซื้อ"
สำหรับแผน 5 ปี TMB ตั้งเป้าจะลดสัดส่วนต้นทุนต่อรายได้ลงจาก 45-47% ในปี 61-62 มาอยู่ที่ 40% ในปี 65 โดยบางส่วนจะมาจากการลดสาขา/พนักงานลง ปัจจุบันธนาคารมีสาขา 430 แห่งและอาจลดลงใน 2-3 ปีข้างหน้า และจะใช้รูปแบบ ดิจิตัลแบงก์ ผ่านมือถือ/อินเตอร์เนต/ATM เข้ามาทดแทนรูปแบบธนาคารดั้งเดิมแต่มีประสิทธิภาพ/ประสิทธิผลเท่าเทียมหรือสูงกว่า ปัจจุบัน TMB มีแผนจะเพิ่มและรักษาฐานลูกค้าจากผู้ให้บริการฟินเทค โดยการให้ความสะดวกสบายกับลูกค้าธนาคาร ผนวกกับดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าระบบ รวมถึงการทำโปรแกรมแลกรางวัลที่น่าสนใจ
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า สินเชื่อของ TMB เติบโตเร่งขึ้นจาก 7% ในปี 60 เป็น 8% ในปี 61 ด้วยแรงบวกจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ผลักดันให้เกิดความต้องการสินเชื่อภาค SME และรายย่อย ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนสูง (High yield) ทำให้เชื่อว่า TMB จะสามารถรักษา NIM ปี 61 ได้ที่ 3.1% ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า แม้จะเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นจากการเร่งระดมเงินฝาก ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) เติบโตเด่น 6.2% ในปี 61 จาก 0.7% ในปี 60
นอกจากนี้ยังเชื่อว่ารายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ (Net Fee income) ในปี 61 เติบโตได้ถึง 17% สูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่เพิ่มขึ้นเพียง 5% ด้วยปัจจัยบวกจาก ค่าธรรมเนียม Bancassurance ที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกับพันธมิตรหลักอย่าง FWD ,ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ และค่าธรรมเนียมการขายกองทุน จากการ cross sales ผลิตภัณฑ์ผ่านฐานลูกค้าเงินฝาก