หุ้น GULF เปิดเทรดวันแรกที่ 57.50 บาท เพิ่มขึ้น 12.5 บาท (+27.78%) จากราคาขาย IPO ที่ 45 บาท/หุ้น
บล. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ประเมินมูลค่าส่วนทุนที่เหมาะสมปี 61 ของ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ได้ที่ 47.50-53.00 บาท โดยประเมินมูลค่ากิจการ GULF ด้วยวิธี DCF โดยใช้ WACC=5.7% สำหรับโรงไฟฟ้าหลัก (IPP&SPP) กำลังผลิตรวม 5,434.5 MW จะได้มูลค่าส่วนทุนที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้าราว 47.4-53.0 บาท และอีก 0.10 บาท จากธุรกิจ Solar rooftop & Biomass (25.45 MW) รวมเป็น 47.50-53.10 บาท คิดจากกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 5,459.9-6,796.7 MW ตามลำดับ
กำไรมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตามกำลังผลิตตามสัดส่วนลงทุน(Equity MW) ที่มีอัตราเพิ่มถึง +15.7%CAGR ซึ่งจะส่งผลทำให้ GULF เป็นผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในไทย ตาม Equity Contracted Capacity ด้วยส่วนแบ่งกำลังผลิต 17% ในปี 67F (อิงข้อมูล ณ 31 มี.ค.60)
โรงไฟฟ้าหลักของ GULF อยู่ในไทย เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะอาด มีประสิทธิภาพสูง เป็นโรงไฟฟ้ามีอายุเฉลี่ยเพียง 3 ปี ในขณะที่มี PPA คงเหลือถึง 27 ปี (ถ่วงน้ำหนักตาม Equity MW)
ผู้บริหารของ GULF มีประสบการณ์ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี อีกทั้งมีพันธมิตรทางธุรกิจญี่ปุ่นที่แข็งแกร่ง ทำให้บริษัทอาจมีข้อได้เปรียบในการเข้าประมูลโครงการ
ผลประกอบการจากกำไร 60F ที่ 1,529 ล้านบาท คาด 61F และ 62F เพิ่มเป็น 2,582 ล้านบาท (+69%YoY) และ 3,822 ล้านบาท (+48%YoY) ตามลำดับ โดยได้แรงหนุนจาก 1) การผลิตเต็มปีของโรงไฟฟ้าใหม่ SPP ในบริษัทย่อย GMP ที่ทยอยเปิดผลิตในปี 60-61 กำลังผลิตรวม 570.6 MW และกำลังผลิตใหม่ที่เพิ่มอีก 340.8 MW ในปี 62 2) กำไรจากธุรกิจ Solar rooftop (0.45 MW) และชีวมวล (25 MW) 3) รับรู้ส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นของ GJP นอกจากนี้ ปี 64-67F กำลังผลิตของบริษัทจะเติบโตได้อีกตามกำลังผลิตใหม่ของโรงไฟฟ้า IPP 2 แห่ง ในบริษัทย่อย IPD ที่เพิ่มขึ้น 1,351.5 MW ในปี 64-65 และปี 66-67: 1,489.2 MW รวมเป็น 2,840.7 MW (ตามสัดส่วนที่ถืออยู่ 51%)