บมจ.วินท์คอม เทคโนโลยี (VCOM) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 80 ล้านหุ้น ที่หุ้นละ 2.88 บาท โดยจะเปิดให้จองซื้อในช่วงวันที่ 13-15 ธ.ค.และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 21 ธ.ค.นี่
VCOM เป็นผู้ดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ ยี่ห้อ ออราเคิล (Oracle ), ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ ( Hitachi Data Systems ), พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ (Palo Alto Networks), อริสต้า เน็ตเวิร์กส์ (Arista Networks), อินโฟบล็อกซ์ (Infoblox), อินฟอร์เมติก้า (Informatica) และ สปลังค์ (Splunk) ซึ่งเป็นผู้นำในการผลิตระบบเทคโนโลยีสารสนเทศระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ในลักษณะการขายแบบโซลูชั่น อาทิ คอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ หน่วยเก็บข้อมูล ระบบคอมพิวเตอร์แบบรวมศูนย์ ระบบรักษาความปลอดภัยบนระบบเครือข่าย ระบบฐานข้อมูล ระบบปฏิบัติการ ระบบเสมือน มิดเดิ้ลแวร์ ซอฟต์แวร์พัฒนาระบบ และซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการข้อมูล
รวมถึงการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่าย ได้แก่ บริการติดตั้งระบบ บริการบำรุงรักษาระบบทั้งแบบป้องกัน และแบบแก้ไข และบริการงานเฉพาะทางที่ต้องใช้ความชำนาญจากผู้เชี่ยวชาญด้านไอที เช่น การปรับปรุงหรือโอนย้ายฐานข้อมูล การโอนย้ายระบบงาน การปรับค่าตัวแปรต่างๆ ของระบบ เป็นต้น
นายชัยภัทร ศรีวิสารวาจา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เคที ซีมิโก้ ในฐานะผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของ VCOM เปิดเผยว่า VCOM มีทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาท และทุนชำระแล้ว 110 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 220 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท/หุ้น โดยจะเสนอขาย IPO จำนวน 80 ล้านหุ้น เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยเฉพาะการขยายงานขายโครงการใหญ่ทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา (CLM)
สำหรับความโดดเด่นของ VCOM จะเป็นด้านการเป็นผู้ดำเนินการธุรกิจตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับการไช้งานในะระดับองค์กรถึง 7 แบรนด์ชั้นนำของโลก ได้แก่ Oracle, Hitachi Data Dystem, Palo Alto Network, Arista Network, Infobox, Informatica และ Splunk
นางทรงศรี ศรีรุ่งเรืองจิต กรรมการผู้จัดการ VCOM กล่าวว่า ราคาเสนอขาย IPO ที่ 2.88 บาท/หุ้น ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตจากการขยายธุรกิจของบริษัทในอนาคต โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยเฉพาะการขยายงานขายโครงการใหญ่ทั้งในประเทศและในกลุ่มประเทศ CLM เนื่องจากประเทศดังกล่าวอยุ่ระหว่างการการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ จึงมีความต้องการสินค้าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสูง
การขยายงานในต่างประเทศประเทศเพิ่มมากขึ้น ทำให้บริษัทตั้งเป้าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 20-25% ในปี 61 จากปัจจุบันอยู่ที่ 10% โดยมีแผนจะเปิดสาขาในกัมพูชาเพิ่มขึ้นอีก 1 สาขาในปีหน้า จากปีนี้ที่เปิดสาขาในเมียนมาไปแล้ว 1 สาขา ซึ่งจะส่งผลให้มีรายได้จากการขายและรายได้จากการให้บริการในกัมพูชาเข้ามาเสริม ส่วนสาขาในประเทศลาวบริษัทยังไม่มีแผนจะเปิด เพราะจะใช้สาขาในประเทศไทยส่งสินค้าและการให้บริการส่งเข้าไปในประเทศลาว
ส่วนรายได้ในปีนี้บริษัทมั่นใจว่ารายได้จะสูงกว่าปีก่อนที่มีรายได้ 949 ล้านบาท เนื่องจากในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมารายได้ของบริษัททำได้มากกว่าปีก่อนแล้วเล็กน้อย ซึ่งมาจากรายได้จากการให้บริการที่เข้ามาเสริม โดยบริษัทได้ตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากการให้บริการเพิ่มเป็น 50% ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 20-25%
นายณรงค์ อิงค์ธเนศ ประธานกรรมการ VCOM กล่าวว่า จากนโยบายของภาครัฐบาลที่มีการส่งเสริมนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมภายใต้แผนไทยแลนด์ 4.0 โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ได้มีการผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างนวัตกรรม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมวลรวมของประเทศให้ทันกับโลกในยุคปัจจุบัน ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลบวกต่อการเติบโตของ VCOM
“เราเข้ามาจดทะเบียนในตลาดฯ ครั้งนี้ไม่ได้คิดว่าเป็นเพียงแค่ short term แต่หลังจากนี้เราต้องทำงานกันหนักมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัท และรับผิดชอบเกี่ยวกับผลประโชยน์ของผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นอย่างดี การเติบโตของบริษัทในอนาคต โดยเฉพาะในประเทศได้อานิสงส์จากการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีของภาครัฐที่เป็นแรงผลักดันสำคัญ ขณะที่การขยายงานไปในต่างประเทศจะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมและกระจายรายได้ของบริษัทให้มีความหลากหลายมากขึ้น”นายณรงค์ กล่าว