โบรกฯเชียร์"ซื้อ"SCB มองเป็นแบงก์ใหญ่ที่ Laggard สุดปีนี้,แผนพัฒนาไอทีสร้างศักยภาพแข่งขันระยะยาว-คุณภาพสินทรัพย์ดี

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 8, 2017 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์เชียร์"ซื้อ"หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มองเป็นธนาคารใหญ่ที่ราคาหุ้น Laggard ที่สุดในปีนี้ ทำให้ downside จำกัด และเป็นหุ้นที่นักลงทุนน่าจะมีการถือครองน้อย (underowned) ขณะที่ผ่านช่วงตึงเครียดสุดของหนี้ PACE ไปแล้ว

แผนงาน SCB Transformation ที่จะช่วยพัฒนาด้าน IT และ Big data เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว โดยการลงทุน Digital Banking ซึ่งธนาคารได้อัพเดทความก้าวหน้าการพัฒนาระบบ Data Analytic, Digital Banking, Mobile Application เพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้าให้เข้ามาสมัครใช้งานและเพิ่มจำนวน Transaction ผ่าน Easy App ได้มากขึ้น ช่วยทำให้ธนาคารเข้าใจและสนองตอบความต้องการตาม Lifestyle ลูกค้าได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังช่วยให้ Cost of Fund ลดลงจากการที่ลูกค้าเริ่มมีการโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่น ส่งผลให้ธนาคารมีฐานเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (CASA) ซึ่งมีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำเพิมขึ้น

ทั้งนี้ คุณภาพของสินทรัพย์โดยรวมยังคงอยู่ในภาวะที่ดี เห็นสัญญาณการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อใหิ้เกิดรายได้(NPL) ใหม่ที่ชะลอลง คาดว่าการตั้งสำรองฯในปีหน้าจะไม่มากเท่าปีนี้ที่ SCB ตั้งสำรองฯจากลูกค้ารายใหญ่มาก ขณะที่ปีหน้าสินเชื่อก็น่าจะเติบโตดีขึ้นตามเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

ช่วงบ่ายหุ้น SCB อยู่ที่ 152 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท หรือ 0.33% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.32%

          โบรกเกอร์                  คำแนะนำ               ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          เอเชีย เวลท์                  ซื้อ                       175
          เอเอสแอล                    ซื้อ                       172
          ยูโอบี เคย์เฮียน(ประเทศไทย)     ซื้อ                       172
          แอพเพิล เวลธ์                 ซื้อ                       166
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)          ทยอยซื้อ                     166
          หยวนต้าฯ                   เก็งกำไร                    160

นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล ผู้ช่วยอำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำให้"ทยอยซื้อ"หุ้น SCB เนื่องจากมองว่าการตั้งสำรองฯในปี 61 จะไม่มากเท่ากับปี 60 (ในแง่ของเปอร์เซนต์ในการตั้งสำรองฯ) โดยในปีนี้ SCB มีการตั้งสำรองฯจากลูกค้ารายใหญ่มาก แต่การตั้งสำรองฯในปีหน้าก็ยังถืออยู่ในระดับที่มากอยู่ อันเป็นผลจากเกณฑ์ใหม่

ขณะที่ในปีหน้าสินเชื่อก็น่าจะเติบโตดีขึ้นด้วย จากการคาดการณ์ว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะฟื้นตัวขึ้น เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น สินเชื่อรายย่อยก็ฟื้นตัวได้ เพราะที่ผ่านมา SCB ได้รับผลกระทบจากสินเชื่อรายย่อย และ SCB ก็มีสินเชื่อรายย่อยคิดเป็น 30-40% ของพอร์ตทั้งหมด สำหรับตัวเลข NPL สิ้นไตรมาส 3/60 มี 2.8% จึงคาดว่าปี 2560 ตัวเลข NPL จะมี 3% และปี 2561 คาดว่าจะมี NPL ไม่เกิน 3.2%

อย่างไรก็ดี ขณะนี้กำลังเฝ้าดูลูกค้าที่ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่งว่าจะเป็น NPL หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ราคาหุ้น SCB ไม่ค่อยเคลื่อนไหวเท่าไร ถ้าผ่านได้ไม่มีปัญหาอะไร ราคาหุ้น SCB ก็จะไปได้อีก

พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิปี 61 คาดว่าจะมี 46,000 ล้านบาท เติบโต 1.7% จากปี 60 ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 45,000 ล้าบาท

ด้าน บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า SCB เป็นธนาคารใหญ่ที่ Laggard ที่สุดในปีนี้ ทำให้ downside น่าจะจำกัดและเป็นหุ้นที่นักลงทุนน่าจะมีการถือครองน้อย (underowned) ขณะที่ผ่านช่วงตึงเครียดที่สุดของหนี้บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) ไปแล้ว

ส่วน บล.เอเอสแอล ระบุว่า 3 ปัจจัยที่ยังคงแนะ"ซื้อ"SCB มาจาก 1.แผนงาน SCB Transformation ที่จะช่วยพัฒนาด้าน IT และ Big data เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว 2.เห็นการเติบโตของรายได้ทั้งรายได้ดอกเบี้ยที่มีการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยซึ่งธุรกิจจัดการกองทุนมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่น

และ 3. คุณภาพของสินทรัพย์โดยรวมยังคงอยู่ในภาวะที่ดี เห็นสัญญาณที่ดีในการเพิ่มขึ้นที่ลดลงของ New NPL ประกอบกับการถูกปรับชั้นของสินเชื่อรายใหญ่จากสินเชื่อด้อยคุณภาพมาเป็น SML ซึ่งส่งผลต่อการตั้ง Coverage ratio ให้ปรับตัวสูงขึ้นเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของ SML และ IFRS9 ในปี 62

พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิปี 60 ไว้ที่ 48,214 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 59 ที่มีกำไร 47,612 ล้านบาท ส่วนปี 61 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 49,879 ล้านบาท

สำหรับ บล.แอพเพิล เวลธ์ ระบุว่า คาดกำไรของ SCB ปี 60-61 ยังเติบโตได้จำกัดจากการลงทุน Digital Banking โดยธนาคารได้อัพเดทความก้าวหน้าการพัฒนาระบบ Data Analytic, Digital Banking, Mobile Application ว่าสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าให้เข้ามาสมัครใช้งานและเพิ่มจำนวน Transaction ผ่าน Easy App ได้มากขึ้นซึ่งช่วยทำให้ธนาคารสามารถเข้าใจและสนองตอบความต้องการตาม Lifestyle ลูกค้าได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังช่วยให้ Cost of Fund ลดลงจากการที่ลูกค้าเริ่มมีการโอนเงินฝานแอพฯส่งผลให้ธนาคารมีฐานเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (CASA) ซึ่งมีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการลงทุนเพื่อพัฒนา IT สำหรับ Digital Banking ยังต้องใช้เงินลงทุนสูงไปจนถึงปี 2562 รวมถึงเริ่มมีค่าเสื่อมเข้ามาในปีหน้า ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเติบโตได้ยากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบของ PromptPay และกำไรจากธุรกิจประกันที่ลดลง ทำให้คาดว่ากำไรของ SCB จะยังถูกกดดันและส่งผลให้ Cost to Income จะปรับตัวขึ้นจากปีนี้ที่ระดับ 43% สู่ระดับ 44-45% ในปี 61-62

ทั้งนี้ จากค่าใช้จ่าย Provision ที่สูงเกินคาดและค่าใช้จ่ายลงทุนระบบ IT ที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงปรับคาดการณ์กำไรสุทธิปี 60 ลง 7% ที่ 45,000 ล้านบาท และคาดกำไรสุทธิปี 61 ที่ 48,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบปีต่อปี ทั้งนี้ถึงแม้กำไรจะโตได้น้อยแต่ด้วยราคาปัจจุบันยังต่ำกว่าราคาพื้นฐานอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ