ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ BTS วงเงินไม่เกิน 7 พันลบ.ที่ระดับ “A/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 8, 2017 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ที่ระดับ “A" ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 7,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A" โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปใช้ในการชำระคืนหนี้ และ/หรือ ใช้สำหรับการลงทุน และ/หรือ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

อันดับเครดิตสะท้อนถึงรายได้ค่าบริการที่สามารถคาดการณ์ได้จากการให้บริการเดินรถไฟฟ้า เงินปันผลที่สม่ำเสมอจากการถือหุ้น 33.33% ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) และสถานะที่มั่นคงในธุรกิจสื่อโฆษณา อย่างไรก็ตาม คาดว่าฐานะทางการเงินของบริษัทจะถูกกดดันจากภาระหนี้ของบริษัทที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 4 ปีข้างหน้าเนื่องจากบริษัทมีแผนในการลงทุนในโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่หลายโครงการ

BTS ก่อตั้งในปี 2511 ภายใต้ชื่อเดิมคือ บมจ.ธนายง เพื่อประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัทเปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทโฮลดิ้งหลังจากที่ได้ซื้อกิจการของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในปี 2553 โดยปัจจุบันบริษัทถือหุ้นสัดส่วน 97.46% ในบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสภายใต้สัญญาสัมปทานที่ให้โดยกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 30 ปี (2542-2572) ในปี 2556 บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพได้จำหน่ายรายได้ค่าโดยสารสุทธิในอนาคตของระยะเวลาสัมปทานคงเหลือ (2556-2572) ให้แก่ BTSGIF มูลค่าประมาณ 61,000 ล้านบาท โดยที่ BTS ลงทุนถือหุ้น BTSGIF ในสัดส่วน 33.33%

ปัจจุบัน บริษัทดำเนินธุรกิจ 4 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจขนส่งมวลชน ธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจให้บริการ โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 3.5 พันล้านบาทสำหรับปีงบประมาณ 2560 (เมษายน 2559-มีนาคม 2560) โดยที่ EBITDA ของบริษัทที่มาจากธุรกิจขนส่งมวลชนเท่ากับ 62% และสื่อโฆษณา 38% ในขณะที่ EBITDA จากธุรกิจอื่น ๆ ยังมีจำนวนน้อย

สำหรับธุรกิจสื่อโฆษณานับเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจขนส่งมวลชน โดยธุรกิจสื่อโฆษณาเติบโตตามจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น จากการเป็นผู้ให้บริการสื่อโฆษณาเพียงรายเดียวในขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอสและในพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสส่งผลให้บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันในธุรกิจสื่อโฆษณา ทั้งนี้ บริษัทดำเนินธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านบริษัทย่อยคือ บมจ.วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย (VGI)

ในอนาคตบริษัทจะลงทุนในโครงการขนส่งมวลชนทางรางใหม่ 2 โครงการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู และสายสีเหลือง ทั้งนี้ โครงการใหม่ทั้ง 2 โครงการจะดำเนินงานโดยบริษัทร่วมทุน (JV) ระหว่างบริษัทและผู้ร่วมทุน 2 ราย คือ บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) บริษัทจะถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนในสัดส่วน 75% ส่วน STEC ถือหุ้น 15% และ RATCH ถือหุ้น 10%

โดยบริษัทร่วมทุนได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชนกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRTA) บริษัทร่วมทุนจะลงทุนทั้ง 2 โครงการด้วยมูลค่ารวมประมาณ 90,000 ล้านบาท โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะอุดหนุนต้นทุนงานก่อสร้างด้านงานโยธาของทั้ง 2 โครงการมูลค่ารวม 47,550 ล้านบาท และจะทยอยชำระเงินอุดหนุนให้แก่บริษัทร่วมทุนโดยแบ่งชำระจำนวน 10 งวด งวดละเท่า ๆ กันภายในระยะเวลา 10 ปี ภายหลังจากที่ระบบรถไฟฟ้าเริ่มให้บริการ ทั้งนี้ บริษัทร่วมทุนจะได้รับสิทธิในการให้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทางเป็นเวลา 33.3 ปี

ผลการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามที่ได้มีการประมาณการไว้ ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561 รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 4,940 ล้านบาทเมื่อเทียบกับ 2,692 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจสื่อโฆษณา รวมถึงการรับรู้รายได้ของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จากการให้บริการรับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) และการจัดหารถไฟฟ้า ส่วนอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัท (ไม่รวมรายได้จากการให้บริการรับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และการจัดหารถไฟฟ้า) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 26.4% ในปีงบประมาณ 2560 เป็น 32.5% ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561

การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ คาดว่าจะเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันการเติบโตของบริษัท บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ อยู่ในช่วงสำคัญในการขยายการดำเนินงานรถไฟฟ้าทั้งด้านการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง การติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และการจัดหารถไฟฟ้าสำหรับโครงการส่วนต่อขยายต่าง ๆ ของรถไฟฟ้าบีทีเอส

สำหรับช่วงปีงบประมาณ 2561-2563 ทริสเรทติ้งประเมินว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุง โดยการขยายการดำเนินงานของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจะครอบคลุมถึงรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 2 เส้นทางได้แก่ส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือและส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรับรู้รายได้จำนวนประมาณ 27,000 ล้านบาทจากการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และการจัดหารถไฟฟ้าของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพในช่วง 4 ปีข้างหน้า โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับประมาณ 20% ทั้งนี้ รายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับรายได้ของบริษัท

แม้ว่าผลการดำเนินงานทางการเงินคาดว่าจะแข็งแกร่งขึ้น แต่เงินกู้รวมจะเพิ่มขึ้นและเป็นภาระอย่างมากกับสถานะทางการเงินของบริษัทในช่วง 4 ปีข้างหน้า เงินกู้รวมของบริษัท (รวมสัดส่วนเงินกู้จากการร่วมทุน) เพิ่มขึ้นจาก 11,985 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2559 เป็น 52,405 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจากระดับ 20.4% ในปีงบประมาณ 2559 เป็น 53.3% ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561

เงินกู้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการออกหุ้นกู้ของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพในปี 2559 เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับสัญญาการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าตามที่ได้ลงนามกับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกรุงเทพมหานคร โดยสัญญาการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลกำหนดให้บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพต้องจัดหาเงินลงทุนสำหรับต้นทุนในการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล อย่างไรก็ตาม บริษัท กรุงเทพธนาคม จะชำระค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรวมถึงภาระดอกเบี้ยสะสมภายในระยะเวลา 4 ปี และบริษัทกรุงเทพธนาคม ยังสามารถขยายระยะเวลาการชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพิ่มได้อีก 2 ปี

นอกจากนี้ คาดว่าบริษัทจะใช้เงินกู้เป็นส่วนใหญ่ในการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพูและสายสีเหลือง ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อ EBITDA ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ประมาณ 7 เท่าในปี 2563 และปรับลดลงเป็นระดับ 5 เท่าหลังจากที่โครงการทั้ง 2 ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 ถึงแม้สัญญาเงินกู้โครงการจะมีข้อกำหนดเงินกู้ลักษณะ Non-recourse Basis ทริสเรทติ้งได้รวมเงินกู้โครงการทั้งหมดของบริษัทตามงบการเงินรวมในการคำนวณภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัท อย่างไรก็ตาม เงินอุดหนุนจำนวน 47,550 ล้านบาทจาก MRTA จะถูกนำมาหักออกจากเงินกู้รวมทั้งหมดของบริษัทโดยพิจารณาจากความแน่นอนของการได้รับเงินอุดหนุนดังกล่าวจากภาครัฐ

บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ ณ เดือนกันยายน 2560 บริษัทมีเงินสดในมือจำนวน 9,025 ล้านบาทรวมถึงหลักทรัพย์เพื่อค้าและหลักทรัพย์เผื่อขายจำนวน 24,560 ล้านบาท บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อีกประมาณ 28,500 ล้านบาท โดยบริษัทมีภาระในการชำระหนี้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าประมาณ 242 ล้านบาทและมีภาระหนี้ระยะสั้นจำนวน 20,364 ล้านบาท รวมถึงเงินลงทุนจำนวน 24,000 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561 บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงาน 1,838 ล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 6.8% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 4.2 เท่า

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังสามารถรักษาการเติบโตทั้งด้านรายได้และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้ เงินกู้รวมคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการลงทุนโครงการขนส่งมวลชนใหม่ต่าง ๆ ผ่านบริษัทย่อย

อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดจากธุรกิจปัจจุบันคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อ EBITDA ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โอกาสในการปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้ายังคงจำกัด เนื่องจากภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงได้หากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อกระแสเงินสดปรับตัวลงอย่างมากเมื่อเทียบกับประมาณการของทริสเรทติ้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ