นายถิรพงศ์ คำเรืองฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. มิลล์คอน สตีล (MILL) เปิดเผยว่า การที่บริษัทจะเข้าไปถือในบมจ. บางปะกง เทอร์มินอล (BTC) เป็นไปตามแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทในระยะยาว ภายใต้แนวคิด Think beyond steel หรือการทำธุรกิจที่เป็นมากกว่าเหล็ก เป็นการต่อยอดจากธุรกิจหลัก เสริมการเติบโตที่มั่นคงและแข็งแกร่งในระยะยาว สามารถรองรับความผันผวนทั้งในและต่างประเทศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และธุรกิจขนส่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักใน Supply chain ของการบริหาร
​ สำหรับกลยุทธ์การลงทุนของบมจ. มิลล์คอน สตีล (MILL) ในระยะยาวนั้น นายถิรพงศ์ กล่าวว่า จะเน้นกระจายความเสี่ยงการลงทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจหลัก ขณะที่ BTC ก็มีแผนที่จะขยายธุรกิจเพื่อให้บริการด้านขนส่งครบวงจร ทำให้การเข้าลงทุนในครั้งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งโดยสามารถรองรับปริมาณธุรกรรมด้านการขนส่งของบริษัททั้งหมด รวมทั้งได้เรียนรู้วิธีการบริหารจัดการในด้านการขนส่งแบบครบวงจรซึ่งบริษัทสามารถนำความรู้กลับมาใช้กับธุรกิจของกลุ่มได้ นอกจากนี้ยัง ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง ​ ทั้งนี้ BTC จะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงให้กับบริษัทจำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.68 บาท ในราคาหุ้นละ 0.90 บาท รวมเป็นมูลค่า 180 ล้านบาท อย่างไรก็ตามรายการดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบีทีซีก่อน
"เดิมทีกลุ่มมิลล์คอน สตีล มุ่งเน้นในส่วนของ ผลิตเหล็กก่อสร้างเป็นหลัก ต่อมาได้ขยายต่อยอดในส่วนของเหล็กเกรดพิเศษ เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ มีการลงทุนในพลังงานทดแทน โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีใน 3 กลุ่มหลัก คือกลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มก่อสร้าง และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม" นายถิรพงศ์ กล่าว
​ นายถิรพงศ์ ยังได้กล่าวถึงแผนกลยุทธ์ภายใน 5 ปีของบริษัทว่า จะมุ่งเน้นสร้างผลิตภัณฑ์และการให้บริการที่ที่มากกว่าเหล็กป้อนสู่ภูมิภาคอาเซียน และจะยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างและการผลิต โดยการสร้างและส่งต่อคุณค่าที่ดีที่สุดในทุกขั้นตอนและกระบวนการของการทำงาน (Value Chain) ให้กับผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ ​ “การพัฒนาคน และเทคโนโลยี ถือเป็นหัวใจสำคัญของกลุ่มมิลล์ คอนสตีล ซึ่งการลงทุนใน BTC ก็สอดคล้องกับVision เกี่ยวกับ Value chain เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพให้กับลูกค้าเช่นกัน” ​ สำหรับสัดส่วนรายได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า รายได้จากกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กก่อสร้างจะมีสัดส่วนใกล้เคียงกับเหล็กเกรดพิเศษ ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่บริษัทเข้าไปลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจหลักนั้นจะมีการเติบโตแบบมีนัยสำคัญ