นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเอเชีย คาดว่า กำไรสุทธิปี 60 จะทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,869 ล้านบาท เนื่องจากปีนี้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น 20% ทำให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนจำนวนมาก โดยสายการบินไทยแอร์เอเชียมีต้นทุนน้ำมันคิดเป็น 30% ของต้นทุนรวม ซึ่งได้ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันถึง 70% ที่เฉลี่ย 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ส่วนการที่รัฐบาลได้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินสำหรับเส้นทางในประเทศนั้น สายการบินไทยแอร์เอเชียก็ได้ปรับราคาตั๋วโดยสารขึ้นมาครอบคลุมต้นทุนสรรพสามิตแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจำนวนผู้โดยสารในปีนี้มั่นใจว่าจะทำได้เกินเป้าราว 2 แสนคน เป็น 19.7 ล้านคน จากเป้าหมาย 19.5 ล้านคน และอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ก็คาดทั้งปีทำได้ เฉลี่ย 86-87% สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 84%
"รายได้กำไรอาจจะพลาดเป้าไปบ้างแต่จำนวนผู้โดยสารไม่พลาด...ไตรมาส 1,2, 3 ไม่หวือหวา แต่พอเข้าไตรมาส 4 ปีนี้ดีมาก ดีกว่าปีที่แล้ว และคาดว่าดีต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1 ปี 61 คือช่วงตุลาคมปีนี้จนถึงมีนาคมปีหน้า การท่องเที่ยวในประเทศหนาแน่นมาก"นายธรรศพลฐ์ กล่าว
นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า สายการบินไทยแอร์เอเชียยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดเส้นทางบินในประเทศอยู่อันดับหนึ่ง โดยเดือน ม.ค.-ส.ค.60 สายการบินไทยแอร์เอเชียมีส่วนแบ่งตลาด 30.5% สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ 19.1% สายการบินนกแอร์ 18.8% สายการบินกรุงเทพ 10.8% สายการบินไทยสมายล์ 9.8% สายการบินไทย 8.6% ที่เหลือสายการบินอื่น ๆ
สำหรับเป้าหมายในปี 61 บริษัทจะรับมอบเครื่องบินใหม่แอร์บัสเอ 320 จำนวน 7 ลำ ซึ่งมากกว่าแผนเดิมที่จะรับมอบ 5 ลำ เพราะต้องการการเติบโตให้มากขึ้น โดยจะทำให้สิ้นปี 61 มีจำนวนเครื่องบิน 63 ลำ จากปีนี้ที่มี 56 ลำ โดยเครื่องบินใหม่ 7 ลำ จะเพิ่มจำนวนที่นั่ง (Capacity) อีก 17% โดยครึ่งหนึ่งรองรับในเส้นทางในประเทศ และอีกครึ่งหนึ่งรองรับเส้นทางในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา,ลาว, เมียนมา และเวียดนาม)
ทั้งนี้ AAV คาดว่ารายได้ปี 61 จะเติบโตราว 17% ตาม capacity ที่เพิ่มขึ้น และตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารเพิ่มเป็น 22 ล้านคน และมี Cabin Factor เฉลี่ย 84%
ในปีหน้าสายการบินไทยแอร์เอเชียจะเปิดจุดบินในอินเดีย 2-3 เมืองจากปัจจุบันมี 7 เมือง และในกลุ่ม CLMV อาทิ พุกาม สีหนุวิลล์ ส่วนในอาเซียน มองที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนในประเทศ เตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่ที่ชุมพร และ หัวหิน ซึ่งล่าสุดได้เปิดจุดบินใหม่ที่ระนอง เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ไทยแอร์เอเชียเคยไปเปิดแต่ก็ต้องปิดไป และได้กลับมาเปิดอีกครั้งหลังเห็นความต้องการเดินทางไปจ.ระนองมากขึ้น และมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ตลอดจนมีร้านดำน้ำมากขึ้นด้วย
สำหรับเส้นทาง"ดอนเมือง-ระนอง"จะเปิดบินตรงทุกวัน เริ่มต้นสำรองที่นั่งตั้งแต่ 12 ธ.ค.60 พร้อมเปิดบิน 16 ก.พ.61 เป็นต้นไป ถือเป็นเส้นทางบินภายในประเทศลำดับที่ 35 ของไทยแอร์เอเชีย และทำให้มีปลายทางบินสู่ภาคใต้มากที่สุดเป็นปลายทางที่ 8
นอกจากนี้จะเปิดเส้นทางบินข้ามภาค ได้แก่ จาก จ.อุดรธานีไป จ.ภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งมีคู่แข่งน้อยกว่าและตอบโจทย์ผู้โดยสารได้มากขึ้น โดยปัจจุบันมีเส้นทางบินข้ามภาค 15 เส้นทางในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันยังมองศูนย์กลางการบิน (Hub) ในภาคอีสาน ซึ่งขณะนี้มองไว้ที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งจะพิจารณาเรื่องความต้องการผู้โดยสาร ธุรกิจคาร์โก้ โดยปัจจุบันสายการบินไทยแอร์เอเชียมี Hub อยู่ 5 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ กระบี่ และ อู่ตะเภา
อย่างไรก็ตาม สายการบินไทยแอร์เอเชียจะไม่เปิดจุดบินใหม่เพิ่มในจีน แต่อาจจะเพิ่มความถี่มากขึ้น โดยปัจจุบันมีจุดบิน 14 เมือง 22 เส้นทางบิน เนื่องจากรายได้จากเส้นทางบินในจีนสูงถึง 30% จึงไม่ต้องการให้เกิดความเสี่ยงหากเศรษฐกิจจีนมีปัญหา ขณะที่รายได้จากเส้นทางกลุ่มประเทศ CLMV อยู่ที่ 10% และเส้นทางในอาเซียน 10% อินเดีย 2-3% คาดใน 4-5 ปีนี้จะเพิ่มเป็น 15%,15% และ 10% ตามลำดับ ส่วนที่เหลือ 50-60% เป็นรายได้จากเส้นทางในประเทศ
ขณะที่ในแผนอีก 3 ปีข้างหน้า จะเพิ่มจำนวนเครื่องบินปีละ 5 ลำ ให้ได้ครบ 80 ลำ โดยใน 2 ปีข้างหน้าคาดจะรับมอบเครื่องบินแอร์บัส เอ 321 ที่มีจำนวนที่นั่ง 240 ที่นั่ง มากกว่าแอร์บัส เอ 320 ที่มีจำนวน 180 ที่นั่ง ไว้รองรับเส้นทางที่ไม่สามารถเพิ่มความถี่ได้เพราะตารางบินเต็ม ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ฮ่องกง สิงคโปร์
นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า ตลาดโลว์คอสแอร์ไลน์ในปีหน้าจะยังมีการแข่งขันในระดับทรงตัว ราคาขายยังปรับขึ้นได้ราว 2-3% อาจจะเห็นสายการบินบางรายต้องผ่าตัดลดขนาดธุรกิจลง
ทั้งนี้ สายการบินไทยแอร์เอเชีย มีเส้นทางในประเทศ 35 เส้นทาง เส้นทางระหว่างประเทศ 45 เส้นทาง โดยมีเที่ยวบินในประเทศ 240 เที่ยวบิน/วัน จากทั้งหมดมี 404 เที่ยวบิน/วัน