โบรกเกอร์ แนะ"ซื้อ"หุ้น บมจ.โคแมนชี่ อินเตอร์เนชั่นแนล (COMAN) โดยมองว่าผลประกอบการปี 61 จะกลับมาเติบโตหลังจากที่ได้ผ่านจุดต่ำสุดในปีนี้ที่ได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ขณะที่ผลประกอบการในปีหน้าจะเติบโตได้ตามภาคการท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวและร้านอาหารที่เปิดใหม่ และรับรู้รายได้จากการเข้าซื้อกิจการบริษัท ซินเนเจอร์ เทคโนโลยี จำกัดในปีนี้เข้ามาเต็มปีในปีหน้า ขณะที่การเพิ่มทีมขายของ COMAN จะทำให้กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเปลี่ยนจากเชิงรับเป็นเชิงรุกมากขึ้น
นอกจากนี้ ผลจากการเดินหน้าซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อต่อยอดไปเป็นผู้นำด้านซอฟท์แวร์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างครบวงจรอีก 1-2 แห่ง/ปีตลอด 2 ปีข้างหน้า จะทำให้เกิด Synergy และหนุนให้กำไรสุทธิเร่งตัวขึ้นเหมือนที่เกิดกับดีลเข้าซื้อกิจการซินเนเจอร์ฯ
ราคาหุ้น COMAN ช่วงบ่ายอยู่ที่ 7.30 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือ 3.95% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลดลง 0.23%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 9.00 โกลเบล็ก ซื้อ 8.25 จีเอ็มโอ-แซด คอมฯ ซื้อ 9.30
นักวิเคราะห์ จากบล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ผลประกอบการของ COMAN ในช่วงไตรมาส 4/60 จะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 3/60 และชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการบันทึกค่าใช้จ่ายสูงขึ้น โดยเฉพาะโบนัสพนักงาน ซึ่งมาจากทั้งจำนวนพนักงานของ COMAN ที่เพิ่มขึ้น และการรวมค่าใช้จ่ายของซินเนเจอร์ฯ ทำให้คาดว่าค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจะเร่งตัวขึ้นเป็น 50% ของรายได้รวม จาก 44% ในช่วงไตรมาส 3/60 และ 41% ในไตรมาส 4/59 กดดันให้อัตรากำไรสุทธิลดลงเหลือ 16% จาก 19.5% ในไตรมาส 3/60 และ 34% ในไตรมาส 4/59 อีกทั้งส่งผลต่อเนื่องให้กำไรสุทธิในไตรมาส 4/60 เหลือเพียง 8 ล้านบาท ลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ข้อดีที่เห็น คือ ผลการดำเนินงานของ บริษัท เอ็มเอสแอล ซอฟต์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด (MSL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าจะไม่มีตั้งด้อยค่าจำนวนมาก ซึ่งถ้าเป็นไปตามคาด กำไรทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 25 ล้านบาท ลดลง 25% จากปีก่อน ซึ่งดีกว่าคาดการณ์เดิมของที่ระดับ 22 ล้านบาท
ทั้งนี้ มองว่าผลประกอบการของ COMAN ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปี 60 โดยหากอิงสถิติ 5 ปีย้อนหลัง จะพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวและร้านอาหารเปิดใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยใกล้เคียงกันที่ราว 10% ต่อปี คาดว่าปี 61-62 จะเติบโตไม่ต่างกับค่าเฉลี่ยในอดีตมากนัก ขณะที่การเพิ่มทีมขายของ COMAN จะทำให้กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเปลี่ยนจากเชิงรับเป็นเชิงรุกมากขึ้น ส่วนตลาดต่างประเทศที่มีการเพิ่มตัวแทนใหม่จะช่วยเสริมการเติบโตในอนาคต จากสัดส่วนรายได้ปัจจุบันที่ต่ำเพียง 13% ของรายได้รวม
นอกจากนี้ ผลจากการ M&A ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อต่อยอดไปเป็นผู้นำด้านซอฟท์แวร์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างครบวงจร อีก 1-2 แห่ง/ปี ตลอด 2 ปีข้างหน้า จะทำให้เกิด Synergy และหนุนให้กำไรสุทธิเร่งตัวขึ้นเหมือนที่เกิดกับดีลของซินเนเจอร์ฯ โดยคาดกำไรสุทธิปี 61 เพิ่มขึ้น 93% อยู่ที่ 42 ล้านบาท และโตต่อเนื่องอีก 20% อยู่ที่ 51 ล้านบาทในปี 62
บล.โกลเบล็ก ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คงคำแนะนำ"ซื้อ"โดยปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 8.25 บาท จากเดิมที่ 8.16 บาท โดยเปรียบเทียบกับ PE Ratio กลุ่มท่องเที่ยวเนื่องจาก COMAN ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยใช้ Prospective PE ที่ 25 เท่า ซึ่งต่ำกว่า PE Ratio กลุ่มท่องเที่ยวที่ 35 เท่า โดยปี 61 ผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการรับรู้รายได้จากซินเนเจอร์ฯเต็มปี อีกทั้งมีแผนขยายดีลเลอร์ในต่างประเทศเพิ่มเป็น 20 แห่งจากเป้าหมายปลายปี 60 ที่ 10 แห่ง
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยคาดว่ารายได้ไตรมาส 4/60 อยู่ที่ราว 48 ล้านบาท โดยปกติไตรมาส 4 จะเข้าสู่ High season ของท่องเที่ยวส่งผลให้มีโรงแรมใหม่ทยอยเปิดบริการในไตรมาส 3 ช่วยหนุนให้ยอดขายโปรแกรมบริหารโรงแรมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยปลายเดือน ก.ย.60 COMAN มีรายได้รับล่วงหน้า 29.7 ล้านบาท(จากการรับเงินมัดจำจากลูกค้า 40-50% ของมูลค่างาน)
อย่างไรก็ตาม คาดว่าต้นทุนขายมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นจาก 64% เนื่องจากคาดว่า MSL จะประมูลงานใหม่ได้ในไตรมาส 4/60 (งานภาครัฐออกมามากเพราะเริ่มปีงบประมาณใหม่เดือน ต.ค.) ทำให้ต้องซื้อโปรแกรมเพื่อมาพัฒนาต่อยอดส่งผลให้ต้นทุนขายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่คาดว่าค่าใช้จ่ายในการบริหารจะทรงตัวที่ระดับ 15 ล้านบาท แม้ว่าจะไม่มีค่าที่ปรึกษา (FA) แต่มีรายจ่ายเงินเดือนเพิ่มขึ้นตามจำนวนพนักงาน ส่งผลให้คาดว่า COMAN จะรายงานกำไรไตรมาส 4/60 ราว 13 ล้านบาท เติบโต 44% จากช่วงไตรมาส 3/60 และเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6%
ด้าน บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดผลประกอบการของ COMAN ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา MSL มีต้นทุนงานบริการอยู่ในระดับสูง ตามธรรมชาติของธุรกิจที่มีการรับรู้งานในลักษณะ S-Curve โดยในช่วงแรกจำเป็นต้องซื้อ License ที่มีราคาสูงสำหรับหลายโครงการพร้อม ๆ กัน ส่งผลให้มาร์จิ้นในช่วงแรกต่ำ ประกอบกับ COMAN มีค่าใช้จ่ายในการควบรวมกิจการเข้ามา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียว
ทั้งนี้ COMAN มี Downside ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากราคาหุ้นในช่วงก่อนหน้าได้ตอบรับผลประกอบการที่อ่อนแอแล้ว ขณะที่การเป็น Net Cash Company จะทำให้สามารถขยายการลงทุนได้โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน โดยมองทิศทางการเติบโตในปี 61 จะกลับมาเติบโตโดดเด่นอีกครั้ง จากการเกิด Synergy กับซินเนเจอร์ฯ ที่คาดว่าจะสร้างกำไรได้ราว 10 ล้านบาท/ปี
ต่อมาคือการเปิดให้บริการซอฟท์แวร์ใหม่บน Web Base แบบ Version on cloud โดยจะใช้ Data Center แทนการติดตั้ง Server และการเปิดให้บริการเช่าโปรแกรมในการจัดการจองที่พักโรงแรมระดับล่าง ในขณะเดียวกันมีแผนเพิ่มจำนวนดีลเลอร์ในต่างประเทศขึ้นจาก 10 รายในปัจจุบัน เป็น 18 ราย ซึ่งคาดว่าจะช่วยขยายฐานลูกค้าให้ COMAN ได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประมาณการกำไรสุทธิ ปี 60 ที่ระดับ 24 ล้านบาท ลดลง 28.1% จากปีที่แล้ว แต่กำไรสุทธิจะเติบโตขึ้น 79.6% มาที่ระดับ 43.1 ล้านบาทในปี 61