ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม BAY ที่ “AAA/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 13, 2017 17:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่ระดับ “AAA" โดยอันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตเฉพาะของธนาคารในฐานะเป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่ม Mitsubishi UFJ Financial Group Inc. (MUFG)

ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตเฉพาะของธนาคารอยู่บนพื้นฐานของความแข็งแกร่งจากการมีธุรกิจที่มีความหลากหลาย รวมถึงธุรกิจลูกค้ารายย่อย และโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นของธนาคารจากการควบรวมกิจการกับ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Ltd. (BTMU) สาขากรุงเทพฯ ในปี 2558 โดยอันดับเครดิตในภาพรวมของธนาคารสะท้อนถึงการสนับสนุนที่คาดว่าจะได้รับจากกลุ่มธนาคารแม่ในกรณีที่ธนาคารประสบปัญหาทางการเงิน

BTMU เป็นธนาคารที่ถือหุ้น 100% โดย MUFG ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น BTMU ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BAY ในสัดส่วน 72.01% ภายหลังการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญโดยสมัครใจซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2556 สัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่ม MUFG ในธนาคารผ่านทาง BTMU เพิ่มขึ้นจาก 72.01% เป็น 76.88% ภายหลังการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารกับ BTMU สาขากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2558 ในขณะที่กลุ่มรัตนรักษ์ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นรายสำคัญของธนาคารยังคงรักษาสัดส่วนการถือหุ้นเดิมที่ 20% ไว้

ทั้งนี้ BTMU ได้รับการจัดอันดับเครดิตจาก S&P Global Ratings ที่ระดับ “A" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" และจาก Moody’s Investors Service (Moody’s) ที่ระดับ “A1" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

การประเมินสถานะทางธุรกิจของ BAY สะท้อนถึงธุรกิจและกลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลายรวมไปถึงความแข็งแกร่งในธุรกิจลูกค้ารายย่อยของธนาคาร ธนาคารมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยโดยมีขนาดสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 1.96 ล้านล้านบาท ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 ธนาคารยังประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจบริหารกองทุน และธุรกิจนายหน้าประกันผ่านบริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุนอื่น ๆ อีกด้วย โดย ณ ครึ่งแรกของปี 2560 ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่ออยู่ที่ 12.6% ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนค่อนข้างใหญ่สำหรับธนาคารพาณิชย์ไทย ในขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินฝากอยู่ที่ 9.7%

พอร์ตสินเชื่อของธนาคารมีการกระจายตัวค่อนข้างดีซึ่งครอบคลุมทั้งกลุ่มลูกค้ารายใหญ่และรายย่อย โดย ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 กลุ่มลูกค้าบริษัทขนาดใหญ่ทั้งของไทยและญี่ปุ่นมีสัดส่วน 28% และ 11% ตามลำดับ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีสัดส่วน 15% และลูกค้ารายย่อยมีสัดส่วน 44% ทั้งนี้ สินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อยประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (21% ของสินเชื่อรวม) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (14%) ตลอดจนสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (11%)

ธนาคารมีอัตราการเติบโตทางธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงเหนือกว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่น ๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา กล่าวคือ สินเชื่อและเงินฝากของธนาคารเติบโตแบบปีต่อปีที่ระดับ 6.6% และ 10.3% ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 ตามลำดับ โดยมีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สำหรับปี 2561 นั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิตของธนาคารจะลดลงซึ่งสืบเนื่องจากเพดานดอกเบี้ยล่าสุดที่ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์น่าจะมีการเติบโตจากยอดขายรถยนต์ภายในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัว

ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารมีผลงานที่ดีในการรักษาแหล่งรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่สำคัญเอาไว้ได้ ทั้งนี้ รายได้จากดอกเบี้ยของธนาคารมีสัดส่วนอยู่ที่ 65% ของรายได้รวม ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 เทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ระดับประมาณ 62% ส่วนรายได้สุทธิจากค่าธรรมเนียมและบริการมีสัดส่วน 18% ของรายได้รวมซึ่งเทียบเคียงได้กับค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่ 21% ในขณะที่ค่าธรรมเนียมจากบัตรเครดิต รวมทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ตลอดจนค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหลักทรัพย์ นายหน้าขายประกัน การบริหารความมั่งคั่ง และการบริหารกองทุนมีสัดส่วนมากกว่า 80% ของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการของธนาคาร

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนการดำรงเงินกองทุนตามหลัก Basel-III ของธนาคารจะอยู่ในระดับ 16%-17% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจในระยะปานกลาง สัดส่วนของกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Core Equity Tier-1) ต่อเงินกองทุนรวมอยู่ที่ระดับ 76.4% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 และคาดว่าบริษัทจะคงสัดส่วนเงินปันผลที่ระดับเดิม

ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยของอุตสาหกรรม อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.21% ในปี 2559 เทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 1.32% แม้ว่ากำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารจะอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจลูกค้ารายย่อยที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ผลกำไรดังกล่าวก็ลดทอนลงจากค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่สูงของธุรกิจลูกค้ารายย่อยด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาได้ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของธนาคารให้สูงขึ้น โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมลดลงมาอยู่ที่ 47.1% ในปี 2559 จาก 48.5% ในปี 2557 ต้นทุนทางเครดิตก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกันโดยอยู่ที่ระดับ 1.5% ในปี 2559 จากระดับ 2.1% ในปี 2556

ทริสเรทติ้งมองว่าคุณภาพของสินทรัพย์โดยรวมและแนวโน้มต้นทุนทางเครดิตในอนาคตของธนาคารอยู่ในระดับที่เทียบเคียงได้กับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ต้นทุนทางเครดิตของธนาคารลดลงจากระดับสูงสุดในปี 2556 ที่ระดับ 2.1% เหลือ 1.5% ในปี 2559 ในขณะที่ต้นทุนทางเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.1% มาอยู่ที่ระดับ 1.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งเกิดขึ้นหลังการจำหน่ายและตัดหนี้สูญนั้น ธนาคารยังคงอัตราส่วนให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่ากลุ่ม โดยอัตราส่วนของธนาคารอยู่ที่ระดับ 2.46% ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 3.8% สัดส่วนหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษต่อสินเชื่อรวมก็ลดลงสู่ระดับ 3.8% ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 จากระดับ 4% ณ สิ้นปี 2559 เช่นกัน ในขณะที่อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษของอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำรองส่วนเกินของธนาคารอยู่ที่ระดับ 153.3% ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 ซึ่งถือว่าเพียงพอที่จะรองรับความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แม้ว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ระดับ 172% อยู่บ้างก็ตาม

ความแข็งแกร่งด้านแหล่งเงินทุนของธนาคารอยู่ในระดับเกณฑ์เฉลี่ยในฐานะที่เป็นธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดกลางเมื่อพิจารณาการสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนที่ได้รับจาก BTMU ในมุมมองของทริสเรทติ้ง เงินกู้ยืมจาก BTMU ถือเป็นแหล่งเงินทุนที่เสถียรภาพและมีต้นทุนต่ำที่ไม่ได้ถูกสะท้อนอยู่ในอัตราส่วนทางการเงิน อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินของธนาคารอยู่ที่ระดับ 124.7% ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ระดับ 99% เงินฝากซึ่งมีสัดส่วน 64.5% ของแหล่งเงินทุนรวมส่วนของผู้ถือหุ้น ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 อยู่ในระดับต่ำกว่ากลุ่มที่ระดับ 75%

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังขาดฐานเงินฝากที่มีเสถียรภาพและมีต้นทุนต่ำ ซึ่งสะท้อนจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (Current Account-Savings Account – CASA) ที่ระดับ 48.4% ของเงินฝากรวมตั๋วแลกเงิน ณ ครึ่งแรกของปี 2560 โดยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ 61% ทั้งนี้ แหล่งเงินกู้ที่มีอยู่และการสนับสนุนที่ได้รับจาก BTMU ยังเป็นปัจจัยเสริมด้านสภาพคล่องที่แข็งแกร่งให้แก่ธนาคารได้อีกด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่า BAY จะยังคงสถานภาพการเป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่ม MUFG และจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจาก ธนาคารแม่ต่อไป

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารอาจเปลี่ยนแปลงในกรณีที่สถานะด้านเครดิตของกลุ่ม MUFG มีการเปลี่ยนแปลง หรือในกรณีที่ทริสเรทติ้งเห็นว่าระดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของธนาคารที่มีต่อกลุ่มเปลี่ยนไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ