TPIPP คาดกำไรปี 61 โตราว 50% หลัง COD ครบ 440 MW,เตรียมประมูลโรงไฟฟ้าขยะนนทบุรี-กทม.ต้นปี 61

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 14, 2017 12:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่ฝ่ายโรงงาน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) คาดว่ากำไรปี 61 จะเติบโตราว 50% จากกว่า 2 พันล้านบาทในปีนี้ เนื่องจากจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ครบ 440 เมกะวัตต์ จากระดับ 220 เมกะวัตต์ ในสิ้นปีนี้ หลังโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหิน 150 เมกะวัตต์ (TG8) เลื่อนการผลิตเป็นไตรมาส 1/61 จากเดิมจะเริ่มผลิตในเดือน ธ.ค.60 เพราะงานก่อสร้างล่าช้า

ขณะที่โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ 70 เมกะวัตต์ (TG6) ที่จะจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้นยังมีความล่าช้าในการได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำให้คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในต้นปีหน้า โดยโรงไฟฟ้า TG6 จะนำมารวมกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง 30 เมกะวัตต์ (TG4) ที่มีอยู่เดิม เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์

สำหรับในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทเตรียมจะ COD โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน และพลังงานเชื้อเพลิงขยะ 70 เมกะวัตต์ (TG7) ในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะทำให้สิ้นปีนี้จะมีกำลังการผลิตที่ COD แล้วรวมเป็น 220 เมกะวัตต์

"กำไรปีหน้าจะโตมาก ปีนี้เราประมาณกำไรกว่า 2 พันล้านบาท ปีหน้ากำไรน่าจะแตะระดับขึ้นไปอีกราว 50% เพราะเราจะรับรู้ฯเต็มปีของโรงไฟฟ้าที่ COD และอาจจะเป็นการเข้าไปร่วมทุนกับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าอื่น ซึ่งอาจจะเป็นการซื้อโครงการของเขามา ก็มีหลายโรงที่เขาเข้ามาเจรจา เป็นไบโอแมสบ้าง อะไรบ้าง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ผลิตอยู่แล้ว"นายวรวิทย์ กล่าว

นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า บริษัทให้ความสนใจที่จะลงทุนโรงไฟฟ้าขยะใหม่เพิ่มเติม แม้การเปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน ของ กกพ.ครั้งล่าสุดระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.60-30 มี.ค.61 ที่เป็นการรับซื้อรวมจำนวน 78 เมกะวัตต์ตามความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก (Quick Win Projects) นั้น เป็นโครงการที่บริษัทลูกของ กฟภ.เป็นเจ้าของอยู่แล้ว และบริษัทไม่ได้เข้าร่วมด้วย แต่บริษัทก็อยู่ระหว่างเจรจากับ กฟภ.เพื่อเข้าไปร่วมลงทุน เช่น โครงการ Quick Win ในจ.พระนครศรีอยุธยา 5 เมกะวัตต์ ก็ได้เข้าไปเจรจาเบื้องต้นหลังเห็นว่าโครงการมีความน่าสนใจ แต่คงต้องดูความเสี่ยงให้ดีก่อน เพราะพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ใน อ.บางบาล ที่ยังมีปัญหาน้ำท่วม ซึ่งหากสามารถย้ายสถานที่ได้ก็จะมีความน่าสนใจมากขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมยื่นประมูลเพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นนทบุรี ขนาด 20 เมกะวัตต์ ที่เปิดขายซองประมูลและมีผู้มาซื้อซองประมูลราว 10 รายนั้น จะเปิดให้มายื่นประมูลในช่วงต้นปี 61 และกำหนดเปิดซองราคาในช่วงเดือน มี.ค.61

รวมถึงยังจะเข้าประมูลเพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่จะเปิดรับซื้อในต้นปี 61 รวม 2 แห่ง กำลังผลิตแห่งละ 20 เมกะวัตต์ ในพื้นที่หนองแขม และอ่อนนุช ก็คาดหวังจะชนะประมูลได้อย่างน้อย 1 แห่ง

ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้มองโอกาสเพื่อเข้าไปร่วมดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ,อุดรธานี และสงขลา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการและยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเปิดประมูลเมื่อใด แต่คาดว่าโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งจะมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์

โดยโครงการที่เตรียมเปิดประมูลใหม่ทั้งของอบจ.นนทบุรี และกทม.นั้น คาดว่ากกพ.จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานขยะในระยะต่อไปหลังจากเสร็จสิ้นโครงการ Quick Win แล้ว สำหรับเงินลงทุนของโรงไฟฟ้าขยะคาดว่าจะอยู่ที่ราว 3-4 ล้านเหรียญสหรัฐ/เมกะวัตต์

นายวรวิทย์ กล่าวด้วยว่า บริษัทยังมองโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าประเภทอื่นนอกเหนือจากพลังงานขยะ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทดี แอนด์ เจ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ ซิสเท็ม จำกัด (D&J) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการโซลาร์ฟาร์มรวม 700 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 128 โครงการ กำลังการผลิตราว 6 เมกะวัตต์/โครงการ หลังจากที่โครงการดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องคดีกับ กฟภ. ซึ่งเป็นคู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยหาก D&J ชนะ ก็จะสามารถกลับมาดำเนินโครงการโซลาร์ฟาร์มดังกล่าวได้ แต่หากไม่ชนะคดีก็จะไม่มีกำลังผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มดังกล่าวเกิดขึ้น

ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลจะรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะทั้งสิ้น 500 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) อยู่แล้ว แต่บางส่วนยังไม่สามารถผลิตได้ตาม PPA ที่มีอยู่ ขณะที่ล่าสุดกกพ.อยู่ระหว่างเปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชนตามโครงการ Quick Win Projects ที่ได้รับแจ้งจากกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร รวม 78 เมกะวัตต์ ซึ่งจะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณาตามความพร้อม ภายในวันที่ 30 เม.ย.61 หลังการรับซื้อรอบนี้ ก็ทำให้จะสามารถเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนได้อีกราว 50 เมกะวัตต์ ส่วนจะเปิดรับซื้อเมื่อใดนั้น ยังต้องขึ้นอยู่กันโยบายของรัฐบาลด้วย

สำหรับกรณีการเปิดดำเนินการของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ 70 เมกะวัตต์ ของ TPIPP ที่จะนำมารวมกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง 30 เมกะวัตต์ที่มีอยู่เดิม เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับกฟผ. ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์นั้น ปัจจุบันยังไม่สามารถ COD ล่าสุดกกพ.ได้สอบถามไปยังสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่าการมี PPA จำนวน 1 สัญญา แต่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คนละฉบับ จาก 2 โรงไฟฟ้า ซึ่งรวมเป็น 1 โรงนั้นจะทำให้ปริมาณมลพิษเกินกว่ากำหนดหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้ TPIPP ต้องจัดทำ EIA ใหม่อีกรอบเพื่อรวมเป็นฉบับเดียวหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังต้องรอคำตอบจากทางสผ.ก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ