(เพิ่มเติม) GPSC จับมือ NNCL ทำโซลาร์รูฟ-สมาร์ทกริดในนวนครเริ่มปี 61,ทุ่ม 50 ล้านเหรียญฯตั้งรง.แบตเตอรี่เริ่มผลิตปี 62

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 15, 2017 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ลงนามข้อตกลงร่วมกับ บมจ.นวนคร (NNCL) เพื่อพัฒนาโครงการโซลาร์รูฟท็อป ,เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) และพัฒนาระบบการเชื่อมต่อไฟฟ้าอัจฉริยะ (สมาร์ทกริด) ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ปทุมธานี เพื่อก้าวไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ในอนาคต จะเริ่มดำเนินการโครงการต้นแบบในต้นปี 61 จากศักยภาพในพื้นที่นิคมฯที่สามารถดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้รวม 50 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งจะใช้เงินลงทุน 2,000 ล้านบาท

นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ NNCL กล่าวว่า บริษัทและ GPSC จะร่วมดำเนินโครงการโซลาร์รูฟท็อป พร้อมกับระบบกักเก็บพลังงาน ในพื้นที่ต้นแบบ 3 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 2.5-2.7 เมกะวัตต์ ได้แก่ พื้นที่หลังคาโรงบำบัดน้ำเสีย คาดว่าจะทำโซลาร์รูฟท็อปขนาด 0.7 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค.61 ,พื้นที่หลังคาโรงงานผลิตน้ำอุตสาหกรรม และพื้นที่หลังคาโรงงานของลูกค้าญี่ปุ่นที่อยู่ในนิคมฯนวนคร โดยทั้ง 3 แห่ง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 61

ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อโครงการเห็นผลก็จะทำให้กลุ่มลูกค้าในนิคมฯนวนครที่มีอยู่กว่า 200 โรงงานให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงาน ซึ่งประเมินว่าพื้นที่ทั้งหมดจะมีศักยภาพรองรับการผลิตไฟฟ้าได้รวม 50 เมกะวัตต์ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 2,000 ล้านบาท เบื้องต้นกลุ่มโรงงานหลายรายให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการแล้ว เพราะจะช่วยลดต้นทุนค่าพลังงานได้ในอนาคต โดยจะขอรอดูความสำเร็จจากโครงการต้นแบบดังกล่าวก่อน

ปัจจุบัน พื้นที่นิคมฯนวนคร มีความต้องการใช้ไฟฟ้าราว 400-500 เมกะวัตต์ ขณะที่ในพื้นที่มีโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น ขนาด 125 เมกะวัตต์ ซึ่งดำเนินการร่วมกับ GPSC และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) โดยในส่วนนี้ 90 เมกะวัตต์ จำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนที่เหลืออีกราว 35 เมกะวัตต์ จำหน่ายให้กับลูกค้าในนิคมฯ ซึ่งไม่เพียงพอ

บริษัทและพันธมิตร ยังเตรียมพัฒนาโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น เฟส 2 ขนาด 60 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในนิคมฯเพิ่มเติมด้วย ประกอบกับจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโซลารรูฟท็อป ที่มีระบบกักเก็บพลังงาน เข้าเพิ่มเข้ามาในระบบอีก ก็จะทำให้การจ่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ หากโครงการพัฒนาโซลาร์รูฟท็อปครั้งนี้มีความสำเร็จ ในอนาคตก็จะมาพิจารณาร่วมกันตั้งบริษัทใหม่เพื่อรองรับการลงทุน

ด้านนายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ GPSC กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาโครงการระยะแรกจะเป็นการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อป และส่งทีมงานเข้าไปออกแบบระบบกักเก็บพลังงานให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ ก่อนที่จะมีการนำเข้ามาติดตั้งเพื่อให้ระบบการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปมีความเสถียร ก่อนที่จะประมวลข้อมูลผ่านระบบไฟเบอร์ออฟติกที่มีระบบซอฟท์แวร์เข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งในเบื้องต้นทาง NNCL ได้ติดตั้งระบบไฟเบอร์ออฟติกในพื้นที่นิคมฯนวนครแล้ว

เบื้องต้นการใช้ระบบกักเก็บพลังงานจะเป็นการนำเข้า แต่ในอนาคตบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ กำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าลงทุน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะมีผลผลิตออกมาในปี 62 โดยใช้เทคโนโลยีของ 24M Technologies Inc. (24M) มาดำเนินการ ซึ่งหากสามารถทำราคาได้ที่ 100 เหรียญสหรัฐ/กิโลวัตต์-ชั่วโมงก็มีโอกาสที่จะต่อยอดทำระบบกักเก็บพลังงานได้ในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนที่จะเข้าร่วมโครงการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งกระทรวงพลังงานมีแผนที่จะผลักดันให้มีการใช้ในโครงการนำร่องช่วงปี 61 เนื่องจากแนวโน้มการพัฒนาระบบธุรกิจไฟฟ้าของโลกกำลังมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เพื่อให้พลังานหมุนเวียนดังกล่าวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้ทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ขณะเดียวกันระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ กำลังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะเมืองที่มีการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะด้านพลังงานสะอาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ