PTT จับมือสวทช. พัฒนาและบริหาร EECi วังจันทร์วัลเลย์ สู่ศูนย์กลางพัฒนานวัตกรรมของอาเซียน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 15, 2017 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบมจ.ปตท. (PTT) ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOA) ความร่วมมือ “การพัฒนาวังจันทร์วัลเลย์เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)" เพื่อร่วมกันวางแผน พัฒนา และบริหาร EECi วังจันทร์วัลเลย์ อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการพัฒนาความสามารถการแข่งขันของประเทศ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน Thailand 4.0 รวมถึงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation :EECi) เป็นอย่างมาก และได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดำเนินการพัฒนา EECi ให้เป็น Innovation Ecosystem ชั้นนำของอาเซียน ที่ซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของประชาคมอย่างยั่งยืน คือ มุ่งตอบโจทย์ทั้งภาคอุตสาหกรรมและชุมชน ให้พัฒนาไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

EECi จะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งของ Thailand 4.0 (1) ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ได้แก่ ศูนย์พัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น (Startups and Innovation Center) แหล่งรวมศูนย์วิเคราะห์ทดสอบและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ (Translational Research Infrastructure) เช่น โรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) โรงงานสาธิต (Demonstration Plant) พื้นที่ทดลองผลิตและพื้นที่ทดสอบตลาด (Living Lab) ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบ (Testing Service Center) และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เอื้อต่อการดำเนินกิจกรรมวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม อีกทั้งเป็นจุดเชื่อมต่องานวิจัยจากสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย นอกจากนี้ EECi จะเป็นแหล่งสำคัญที่ช่วยพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

(2) EECi ช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาภาคการเกษตร ชุมชน และวิสาหกิจในพื้นที่ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะนำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน EECi (3) EECi ช่วยให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ทางเทคโนโลยี รวมถึงการรักษาสภาพแวดล้อม

(4) EECi เป็นพื้นที่ที่จะพัฒนา Sandbox โดยจะเป็นพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการทดลองทดสอบงานวิจัยหรือนวัตกรรม ที่ไม่สามารถทำได้ที่อื่นในประเทศ และเอื้อประโยชน์ให้ลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สู่ Thailand 4.0 และ (5) EECi ทำให้เกิดความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ปัจจุบันมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จำนวน 63 หน่วยงาน โดยเป็นพันธมิตรต่างประเทศถึง 6 หน่วยงาน แบ่งเป็นมหาวิทยาลัย 25 หน่วยงาน ภาครัฐ 11 หน่วยงาน ภาคเอกชน 21 หน่วยงาน ทั้งในและต่างประเทศ

“ปตท. นับเป็นพันธมิตรที่สำคัญมาก เพราะมีการติดต่อหารือ เจรจาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ การลงนาม MOA ครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. และ ปตท. จะเป็นหุ้นส่วนพัฒนา Area of Innovation ในประเทศไทย พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ของ ปตท. จำนวนกว่า 3,400 ไร่ จะได้รับการพัฒนาให้เป็นโรงเรียน และมหาวิทยาลัยวิจัย ที่มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกันพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นเขตวิจัยชั้นนำของภูมิภาค มีการวิจัยที่เป็น Frontier Research ที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและผู้ใช้ประโยชน์ มีสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์วิจัยที่ดึงดูดบุคลากรวิจัยชั้นนำระดับโลก เพื่อจะสร้างผลกระทบให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป"นายสุวิทย์ กล่าว

ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ PTT เปิดเผยว่า วังจันทร์วัลเลย์ ตั้งอยู่ ณ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งมีสถาบันการศึกษาด้านวิจัยและวิทยาศาสตร์ ได้แก่ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ที่เป็นแหล่งกำเนิดบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation System) โดย ปตท. จะลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก มีการบริหารจัดการที่ดี เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตามผังแม่บทที่ดิน เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง (New S-Curve)

การพัฒนาและใช้ประโยชน์ที่ดินวังจันทร์วัลเลย์ตามผังแม่บทที่ดิน แบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน คือ พื้นที่ Phase 1 จำนวน 760 ไร่ ซึ่ง สวทช. จะใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรือ กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง 350 ไร่ โดย ปตท. จะให้ สวทช. เช่าใช้ประโยชน์ตลอดระยะเวลาดำเนินงาน สำหรับพื้นที่ส่วนที่เหลือ ปตท. จะพัฒนาเป็นพื้นที่กลุ่มพาณิชยกรรม พื้นที่สาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียวส่วนกลาง เพื่อรองรับการใช้ชีวิตของบุคลากรและครอบครัว นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ Phase 2 สำหรับการพัฒนาในอนาคตอีกประมาณ 1,200 ไร่ และ ปตท. จะร่วมลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ บนพื้นที่แห่งนี้ เพื่อร่วมกับ สวทช. ขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายอีกด้วย

“การพัฒนาพื้นที่ฯ ดังกล่าว สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ที่ต้องการขับเคลื่อนความเจริญเติบโตให้กับประเทศไทย โดย ปตท. ได้บรรจุแผนงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ ปตท. ในการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ให้เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของ EECi เพื่อดำเนินกิจกรรมวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง (New S-Curve)สอดรับกับนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการสร้างมูลค่าเพิ่มและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก"นายเทวินทร์ กล่าว

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในนามผู้จัดการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ลงนามความร่วมมือกับ ปตท. ในการพัฒนา EECi ที่วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อร่วมมือกันพัฒนาให้เกิดการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ช่วยในการขับเคลื่อนประเทศอย่างเป็นรูปธรรมที่แท้จริง โดย EECi จะช่วยเข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่คุณค่าของการพัฒนานวัตกรรม (Innovation Value Chain) ทำให้งานวิจัยที่สำเร็จจากห้องปฏิบัติการและห้องทดลอง สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดและขยายขนาดไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ และ เพื่อใช้ประโยชน์เชิงสังคมได้

บทบาทสำคัญหนึ่งของ สวทช. คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในพื้นที่เขตนวัตกรรมแห่งนี้ เพื่อสร้างให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์ (Innovation Ecosystem) ไปสู่การเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีความเข้มข้นของงานวิจัย พัฒนา และ นวัตกรรม ประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการวิจัย ทั้งภาครัฐและเอกชน สนามทดลอง (Test Bed) แหล่งรวมโรงงานต้นแบบและโรงงานสาธิต เครื่องมือและกระบวนการเพื่อการทดสอบเทคโนโลยีในระดับอุตสาหกรรม การผลิตสินค้าเพื่อทดสอบตลาด รวมถึงการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบของศูนย์วิเคราะห์ทดสอบชั้นนำ

รวมถึง EECi จะมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมของอาเซียน (ASEAN Innovation Hub) โดยมุ่งพัฒนา 6 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ได้แก่ แบตเตอรีและยานยนต์สมัยใหม่ ระบบอัตโนมัติและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ เครื่องมือแพทย์ และการบินและอวกาศ ดำเนินการผ่าน 3 เมืองนวัตกรรมมุ่งเน้นของ EECi คือ (1) ARIPOLIS: ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (2) BIOPOLIS: ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ และ (3) SPACE KRENOVAPOLIS: ศูนย์กลางและฐานในการรังสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตั้งอยู่ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี"

“ภายใน EECi จะมีการจัดสรรพื้นที่ให้ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานวิจัยภาครัฐ เข้ามาเช่าในระยะยาว เพื่อดำเนินกิจกรรมวิจัย พัฒนา นวัตกรรม และการผลิตต้นแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งในรูปแบบการลงทุนเองและร่วมลงทุน โดย สวทช. จะใช้ประสบการณ์และความเข้มแข็งของการพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หรือ Thailand Science Park ที่มีบริษัทเข้ามาทำวิจัยพัฒนาในพื้นที่กว่า 90 ราย โดยร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีความเข้มแข็งและมีฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ตลอดจนมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อทำให้ EECi เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะสร้าง Innovation Hub ของประเทศต่อไป"นายณรงค์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ