นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 61 เติบโต 25% จากปีนี้ที่คาดว่าจะทำได้ราว 2.5 พันล้านบาท หลังจะเน้นการขายสินค้าประเภทที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจมากขึ้น ซึ่งเจาะกลุ่มลูกค้าประเภทธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เช่น ตู้แช่ เครื่องทำน้ำแข็ง ตู้เติมน้ำมันหยอดหรียญ และตู้เติมเงินรูปแบบใหม่ที่เตรียมเปิดตัวในต้นปี 61
การที่บริษัทหันมาเน้นสินค้าเพื่อการประกอบธุรกิจมากขึ้น เพราะปัจจุบันแนวโน้มของยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายภายในบ้านหดตัวลง โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ เพราะในปีนี้ฤดูฝนมาเร็วกกว่าปกติ ขณะที่ทีวีและเครื่องซักผ้าไม่มีการเติบโต และตู้เย็นที่ใช้ภายในบ้านโตเพียง 1%
สำหรับกลยุทธ์การขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านในปี 61 บริษัทจะยังคงเน้นการขายสินค้าประเภทตู้เย็นเป็นหลัก พร้อมกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ประเภททีวีใหม่ ที่มีความละเอียดระดับ 4K ซึ่งคาดว่ายอดขายทีวีจะเติบโตโดดเด่นในปีหน้า เนื่องจากเป็นปีที่มีงานกีฬาระดับโลก คือ บอลโลก 2019 ซึ่งจะช่วยหนุนยอดขายทีวีเพิ่มมากขึ้น ส่วนการขายโทรศัพท์มือถือยังคงมีแนวโน้มเติบโตที่ดี จากการใช้ที่เพิ่มขึ้น
นอกจากการเพิ่มสินค้าใหม่แล้วบริษัทยังจะเพิ่มหน่วยขายในปีหน้าเป็น 800 หน่วย จากสิ้นปีนี้ที่จะมีทีมขายอยู่ที่ 650 หน่วย เพื่อกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น ประกอบกับจะมีการขายสินค้าที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กที่พกพาสะดวกและมีราคาไม่สูงมากเข้าไปเสริม เพื่อให้มีการขายที่สะดวกมากขึ้น
ประกอบกับบริษัทจะขยายสาขาเพิ่มเป็น 200 สาขาในปี 61 จากสิ้นปีนี้มีสาขาอยู่ที่ 180 สาขา เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น โดยปัจจุบันสัดส่วนการซื้อสินค้าของลูกค้าที่ซื้อสินค้าที่บริษัทจำหน่าย แบ่งเป็น 90% เป็นลูกค้าที่ซื้อสินค้าด้วยเงินสินเชื่อและผ่อนชำระแบบมีดอกเบี้ยกับบริษัท และ 10% เป็นลูกค้าที่ซื้อเงินสด
ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด ที่ปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ“รถทำเงิน"ในปี 61 คาดว่าจะเห็นการเติบโตที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากปีนี้คาดว่าจะทำได้ 450 สัญญา จากเป้าหมาย 700 สัญญา ซึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม ส่งผลให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินงานในปีหน้า ซึ่งยังคาดหวังที่จะมีจำนวนสัญญาเพิ่มขึ้นมากกว่าเป้าหมายปีนี้ที่ตั้งไว้ 700 สัญญา
ทั้งนี้ บริษัทมีลูกหนี้คงค้างในปัจจุบันอยู่ที่ 2.18 พันล้านบาท และมีจำนวนฐานลูกค้าทั้งหมดราว 2 แสนบัญชี
นายกิตติพงศ์ กล่าวอีกว่า ในปี 61 คาดว่าเห็นการฟื้นกลับมามีกำไรที่ชัดเจน จากแนวโน้มของการควบคุมคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้น ซึ่งบริษัทตั้งเป้าควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 61 ลดลงมาอยู่ที่ไม่เกิน 7% จากสิ้นปี 60 คาดว่าอยู่ที่ไม่เกิน 10% ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 14% ซึ่งส่งผลต่อแนวโน้มการตั้งสำรองฯของบริษัทลดลง ทำให้แรงกดดันกำไรจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
อีกทั้งการแก้ปัญหาเกี่ยวกับระบบการจัดการลูกหนี้ในปีหน้าจะมีคุณภาพที่ดีมากขึ้น พร้อมกับจะไม่มีบัญชีลูกหนี้เก่าที่เป็นปัญหาและส่งผลกดดันกำไรของบริษัท ซึ่งปัจจุบันยังมีสัดส่วนอยู่ที่ 30% และจะหายไปในช่วงไม่เกินกลางปีหน้า ทำให้ตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 61 เป็นต้นไปจะมีบัญชีลูกหนี้ใหม่ที่มีระบบการบริหารจัดการหนี้อย่างมีประสิทธิภาพสัดส่วน 100% ขณะเดียวกันบริษัทยังมีทีมติดตามหนี้ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผบวกกับการพิจารณาสินเชื่อที่ใช้ศูนย์กลางในการพิจารณาแทนการพิจารณาด้วยตัวแทนจำหน่ายแบบเมื่อก่อน ทำให้แนวโน้มของ NPL ได้ปรับตัวลดลง
ส่วนการจำหน่ายสินค้าของบริษัทยังมีการบริหารต้นทุนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และเน้นขายสินค้าที่ให้อัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 36% ซึ่งส่งผลต่ออัตรากำไรขั้นต้นในปี 61 ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 36% ส่วนอัตรากำไรสุทธิคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 5-6%
ขณะที่ผลประกอบการในปี 60 ยังต้องลุ้นว่าจะสามารถกลับมามีกำไรได้หรือไม่ แม้ว่าแรงกดดันจากการตั้งสำรองฯจะเริ่มลดลงแล้ว ซึ่งในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาบริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 10 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามบริษัทเตรียมที่จะเปิดประมูลขายหนี้ออกไปมูลค่ามูลค่าหลักสิบล้านบาทในช่วงไตรมาส 4/60 ซึ่งจะช่วยให้ NPL และการตั้งสำรองฯลดลง และบริษัทจะมีรายได้พิเศษเข้ามาสนับสนุน แต่ยังไม่สามารถให้ความมั่นใจได้อย่างแน่นอนว่าจะมีกำไรในปีนี้หรือไม่